posttoday

เอกชนดึงไฮบริด-อีวี หวั่นนโยบายเปลี่ยน

24 กรกฎาคม 2561

ความชัดเจนทางการเมืองในไทย ใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้งใหม่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าล่าช้า

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าในส่วนของเทคโนโลยีไฮบริดในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน รวมถึงยังไม่มีการลงทุนเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใดในประเทศไทย ยกเว้นแต่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ได้มีการอนุมัติและใช้เงินลงทุนมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เพียงรายเดียว

จนกระทั่งเกิดกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสังคมถึงโครงการ ดังกล่าว เช่น ปัญหาความล่าช้าการอนุมัติของสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงข้อ กำหนด รายละเอียด เงื่อนไข มาตรฐาน ที่อาจต้องรัดกุมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

นอกจากนั้น ความแตกต่างด้านเทคโนโลยีในความหมาย "ไฮบริด" ของผู้ประกอบการแต่ละราย อาจส่งผลให้มีการพิจารณาในแง่มุมของการเข้าข่ายการขอรับส่งเสริมการลงทุนหรือไม่อย่างไร

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า จริงอยู่แม้เทรนด์เทคโนโลยี ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเทรนด์ของโลกก็ตาม แต่ในมุมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน รายใหญ่ระดับภูมิภาคอาเซียน อาจมีการทรานส์ฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีเชื้อเพลิง ไปสู่เทคโนโลยีไฟฟ้าซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการ เตรียมตัว ทั้งด้านการตอบรับของตลาด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และยังมีอีกหลายองค์ประกอบอีกมากมาย

ขณะที่ความชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้งใหม่ที่เชื่อว่าจะมีปีหน้านั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ตรงกันข้ามกับที่สังคมมองประเด็นเรื่องการพิจารณาล่าช้าของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งมองว่าขณะนี้ฝั่ง ผู้ประกอบการต่างหากที่รอดูสถานการณ์ความชัดเจนการลงทุนดังกล่าว

"คำถาม คือ ทำไมผู้ผลิตรถยนต์เวลานี้ต้องรีบเพราะอะไร เพราะถึงแม้จะได้รับการพิจารณาการลงทุนอย่างรวดเร็ว แต่การผลิตจริงและการวางแผนการผลิตจริงก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนหลังจากนั้น แต่ประเด็นสำคัญเวลานี้ คือ หากมีการเลือกตั้งใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นต่อนโยบายบางอันนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลกว่า จึงเชื่อว่าหลายบริษัทเลยดึงเรื่องรอเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน"

ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว แต่มีความสำคัญอย่างมากต่อทิศทางของบริษัทต่างๆ เนื่องจากเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มาจากรัฐบาลใหม่ อาจจะเกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น ด้านความสำคัญของฐานการผลิต ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ประกอบการเข้าหารือในประเด็นแพ็กเกจใหม่ของอีโคคาร์ที่จะพ่วงเทคโนโลยีไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี เข้าไปใน แพ็กเกจเดียวกันนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่นับตั้งแต่อีโคคาร์ 1 มาจนถึงอีโคคาร์ 2 ซึ่งบางรายของอีโคคาร์ 1 ยังไม่เริ่ม ผลิตอีโคคาร์ 2 เลย และก็ส่งเสริม ไฮบริด-อีวีอีกอย่างต่อเนื่องซึ่งต้อง ขึ้นกับความเหมาะสมในการพิจารณา ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง