posttoday

ยามาฮ่าเดินหน้าลุย ธุรกิจรถกอล์ฟ

16 มิถุนายน 2561

"ยามาฮ่า" ประกาศรุกธุรกิจใหม่ในไทย กลุ่มรถกอล์ฟ สานเป้าจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในทุกตลาดทั่วโลกปี 2565

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ทันทีที่ "ยามาฮ่า" ประกาศรุกธุรกิจใหม่อย่าง ธุรกิจรถกอล์ฟ อย่างจริงจังในประเทศไทยโดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในตลาดอันดับ 1 ในทุกตลาดทั่วโลก ภายในปี 2565 ถือเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเลยก็ว่าได้

ชิเงโอะ ฮายาคาวะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ กล่าวว่า ธุรกิจรถกอล์ฟของยามาฮ่า เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2518 โดยเริ่มสายพานการผลิตและจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก จากนั้นในปี 2531 ได้ขยายฐานการผลิตสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งล่าสุดในปี 2558 ได้ขยายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดรถกอล์ฟในประเทศญี่ปุ่นของบริษัท อยู่ที่ 88% ของตลาด ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 30% ของตลาด สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีส่วนแบ่งการตลาดน้อยอยู่ในระดับ 20-30% โดยบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสและให้ความสำคัญกับตลาดในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงได้เลือกประเทศไทยในการผลิตรถกอล์ฟเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและการส่งออกรองรับตลาดในภูมิภาค

สำหรับปัจจุบันโรงงานยามาฮ่าในประเทศไทย ได้มีการผลิตเครื่องยนต์ติดท้ายเรือ รถจักรยานยนต์ และรถกอล์ฟ ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งของระบบซัพพลายเชนในประเทศไทยและฝีมือการผลิตของแรงงานที่มีคุณภาพ

ขณะที่ทิศทางความต้องการรถกอล์ฟในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะความต้องการรถกอล์ฟเพื่อการใช้งานอื่นที่ไม่ได้ใช้งานในสนามกอล์ฟเท่านั้น จึงเชื่อว่าธุรกิจรถกอล์ฟจะเติบโตได้ดี

"ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์รถกอล์ฟขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นทิศทางการพัฒนาที่บริษัทให้ความสำคัญในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือจะเรียกได้ว่า การก้าวเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าโดยรถกอล์ฟนั้นนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในอนาคต" ฮายาคาวะ กล่าว

ประวัติ ประเสริฐพร ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ฝ่ายวางแผนการขาย และการตลาด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดรถกอล์ฟอยู่ที่ 8-10% ของตลาดรถกอล์ฟในประเทศไทยที่ อยู่ที่ราว 4,000 คัน/ปี หรือมีมูลค่า อยู่ที่ราว 760 ล้านบาท

ที่ผ่านมาอัตราเติบโตของรถกอล์ฟจะยังไม่แพร่หลายมากนัก ด้วยลักษณะการใช้งานหลักของผู้บริโภคยังอยู่ในสนามกอล์ฟเป็นหลัก แต่บริษัทมองว่าตลาดยังมีช่องว่างในการขยายตัวของลักษณะความต้องการของผู้บริโภคในภาคธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสนามบิน เป็นต้น

นอกจากนี้ มองว่าตลาดรถกอล์ฟในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตขึ้นอีก 15-20% ภายใน 3 ปีจากนี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากปัจจัยการเปลี่ยนรอบผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสนามกอล์ฟและธุรกิจภาคส่วนต่างๆ เริ่มให้ความสนใจ รวมถึงการสนับสนุนในด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมและที่พักที่จะขยายตัว

ด้านรูปแบบการขายของบริษัทได้มีการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่าย 1 ราย ในการจำหน่ายรถกอล์ฟ ยามาฮ่า โดยในอนาคตอันใกล้มีแผนที่จะวางจำหน่ายรถกอล์ฟใน "ยามาฮ่า ไรเดอร์ คลับ" ศูนย์จำหน่ายและบริการรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) ซึ่งพร้อมการให้บริการหลังการขายรถกอล์ฟในศูนย์ดังกล่าวอีกด้วย และจะมีการจัดฝึกอบรมพนักงานขายและช่างผู้เชี่ยวชาญ สำหรับดูแลผลิตภัณฑ์รถกอล์ฟของ ยามาฮ่าในอนาคต

ปัจจุบัน ยามาฮ่า ไรเดอร์ คลับ มีจำนวนอยู่ที่ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีแผนขยายเพิ่มขึ้น 3 แห่ง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีการวางจำหน่าย รถกอล์ฟ ในศูนย์ดังกล่าวครบทุกแห่ง อีกทั้งในอนาคตบริษัทมีแผนการทำธุรกิจรถกอล์ฟในรูปแบบเช่าซื้อเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ ให้กับธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการนำรถกอล์ฟไปใช้ในโครงการบ้านจัดสรรใหม่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษาและการรับประกัน

ในส่วนจุดเด่นของผลิตภัณฑ์นั้น อยู่ที่ความสามารถในการดัดแปลงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจต่างๆ ที่มีความต้องการที่หลากหลาย อาทิ การบรรทุกผู้โดยสาร การบรรทุกสัมภาระ เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีแผนการก่อสร้างคลังจัดเก็บรถกอล์ฟขนาดใหญ่แห่งใหม่ รวมถึงศูนย์ดัดแปลงสภาพรถกอล์ฟ ภายในบริเวณเดียวกับโรงงานเพื่อรองรับความต้องการที่เติบโตในอนาคต

ประวัติ กล่าวว่า กำลังการผลิตรถกอล์ฟปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 คัน/ปี หรือมีจำนวน 1 ไลน์ผลิต ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน โดยต้องพิจารณาการเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคตหากมีความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น การมองหาโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมมาจากปัจจัยการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะคงที่ โดยประเมินว่าตลาดรถจักรยานยนต์อาจจะไม่เกิน 2 ล้านคัน จึงต้องพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อผลักดันการเติบโตในอนาคต และหากลงลึกในรายละเอียดนั้น ธุรกิจรถกอล์ฟของยามาฮ่าในประเทศไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 5-10% ของรายได้รวมบริษัท โดยมองว่าภายในปี 2565 สัดส่วนของรถกอล์ฟจะเพิ่มขึ้นเป็น 30%

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านยอดขายรถกอล์ฟทุกตลาดของโลก ซึ่งจะต้องมีส่วนแบ่งการตลาดไม่น้อยกว่า 50% ในทุกตลาดภายในปี 2565 สอดคล้องกับแผนธุรกิจของ ยามาฮ่า ในระดับโลก ได้อย่างแท้จริง