posttoday

ตลาดรถนั่งเดือด ขับเคี่ยวชิงแชมป์

28 เมษายน 2561

ขับเคี่ยวกันอย่างเมามันส์สำหรับคู่แข่งตลอดกาลระหว่าง “โตโยต้า” กับ “ฮอนด้า” ในตลาดรถยนต์นั่งที่คู่คี่สูสีมียอดขายเบียดแซงกันมาโดยตลอด

ขับเคี่ยวกันอย่างเมามันส์สำหรับคู่แข่งตลอดกาลระหว่าง “โตโยต้า” กับ “ฮอนด้า” ในตลาดรถยนต์นั่งที่คู่คี่สูสีมียอดขายเบียดแซงกันมาโดยตลอด

**************************

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ขับเคี่ยวกันอย่างเมามันส์สำหรับคู่แข่งตลอดกาลระหว่าง “โตโยต้า” กับ “ฮอนด้า” ในตลาดรถยนต์นั่งที่คู่คี่สูสีมียอดขายเบียดแซงกันมาโดยตลอด

ย้อนกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับจากผลการรายงานยอดขายที่ประกาศออกมาว่า “โตโยต้า” เพลี่ยงพล้ำเสียท่าให้ “ฮอนด้า” คว้าอันดับ 1 ไปครองได้ แต่กระนั้นในปี 2561 ดูเหมือนว่า “โตโยต้า” เปิดกลยุทธ์ทวงคืนแชมป์ในตลาดรถยนต์นั่งด้วยผลิตภัณฑ์และแผนการตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย

นับตั้งแต่ปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ “โตโยต้า” ส่งผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ลงสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นด้วย โตโยต้า ยาริส รถยนต์นั่งในตระกูลอีโคคาร์แบบ 5 ประตู (แฮตช์แบ็ก) ที่เข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดด้วยการปรับโฉมใหม่ รวมถึงโตโยต้า ยาริส เอทีฟ รถยนต์นั่งในตระกูลอีโคคาร์แบบ 4 ประตู (ซีดาน) ตามมาด้วย โตโยต้า ซี-เอชอาร์ รถยนต์ในตระกูลอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (คอมแพคเอสยูวี)

นอกจากนั้น ยังมีแผนขยายระยะเวลารับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ 5 ปี 1.5 แสน กม. ในรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่นจากเดิมประกัน 3 ปี 1 แสน กม. โดยเริ่มจากโตโยต้า ซี-เอชอาร์ ที่ส่งมอบเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเป็นรุ่นแรก อีกทั้งการปรับนโยบายในการตั้งราคาจำหน่ายรถยนต์ทุกรุ่นใหม่ โดยนำค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าประกันไปไว้ในยอดผ่อนต่อเดือน และเพิ่มความปลอดภัยให้คุ้มค่า เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

โดยจากการสำรวจความเห็นของผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) พบว่า ผู้บริโภคสะท้อนความต้องการในด้านสมรรถนะการขับขี่และความพรีเมียม บริษัทจึงเล็งเห็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ พร้อมทั้งสร้างจุดเด่นให้มีความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท

สำหรับผลวิจัยของบริษัทล่าสุดที่สำรวจการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่นำเอาโปรแกรม คอนวินิ-เอ็กซ์ (Convini-EXT) ซึ่งนำค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปไว้ในยอดผ่อนต่อเดือน หรืออยู่ในยอดจัดซื้อของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) พบว่า 40-50% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณานำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้กับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ของบริษัท

ด้าน “ฮอนด้า” โดย พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลยุทธ์การรับมือในตลาดรถยนต์นั่งของบริษัทนั้น เรามองว่าวิธีการขายของบริษัทไม่ได้จำหน่ายด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่เพียงอย่างเดียว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการหลังการขายเพิ่มศักยภาพการดูแลและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค

“ถ้าปีไหนเปิดตัวรถยนต์ไปเยอะๆ ก็คงคาดเดาได้ว่าอีกปีนั้นอาจจะแผ่วก็เป็นไปได้ ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัวไปแล้วจำนวน 11 รุ่น ในตลาดรถยนต์นั่งซึ่งรวมถึงรถยนต์เอสยูวีด้วยเช่นกัน”

สำหรับยอดขาย ฮอนด้า ในประเทศไทย ปี 2560 มียอดจำหน่ายรวม 127,768 คัน เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยยอดขายหลักมาจาก ฮอนด้า ซิตี้, ฮอนด้า ซีวิค และฮอนด้า แจ๊ซ รวมถึง ฮอนด้า ซีอาร์-วี ทำให้ฮอนด้ายังคงรักษาอันดับหนึ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในประเทศไทยได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และมียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย

ขณะที่บริษัทได้จัดแคมเปญพิเศษ “ฮอนด้า ด้วยรักและขอบคุณ” ในโอกาสที่ฮอนด้ามียอดจำหน่ายอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์นั่ง 3 ปีซ้อน โดยลูกค้าที่จองรถยนต์ฮอนด้าทุกรุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-10 เม.ย. 2561 และรับรถภายในวันที่ 30 เม.ย. 2561 รับสิทธิลุ้นรางวัลรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด รุ่นไฮบริดเทค รถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์-วี รุ่น DT-EL 4WD และรถยนต์ฮอนด้าซีวิค รุ่น TURBO RS พร้อมรางวัลอื่นๆ รวม 353 รางวัล มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาด 2 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.) วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์สะสม 2 เดือน มีปริมาณการขาย 141,945 คัน เพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 18.2% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 9.8% แสดงให้เห็นว่า การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออก ประกอบกับความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่แนะนำเข้าสู่ตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปี ส่งผลในเชิงบวกต่อตลาดรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์เฉพาะเดือน ก.พ. 2561 มียอดการขายรวมทั้งสิ้น 7.54 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 10.2% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 2.97 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 11.2% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 4.57 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 9.5%

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมตลาดโดยเฉพาะรถยนต์นั่งยังคงมีอัตราเติบโตเหนือกว่าตลาดที่เติบโต สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับที่ดีของผู้บริโภคต่อตลาดรถยนต์นั่ง ซึ่งการแข่งขันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ที่ช่วงชิงแชมป์ตลาดรถยนต์นั่งปีนี้ เป็นการสะท้อนตลาดที่ชัดเจนได้อย่างหนึ่ง

ซึ่งตัวเลข 2 เดือนแรกของปีนี้ “โตโยต้า” มียอดขายในตลาดรถยนต์นั่งอยู่ที่ 1.53 หมื่นคัน เติบโตขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ “ฮอนด้า” มียอดขายในตลาดรถยนต์นั่งอยู่ที่ 1.39 หมื่นคัน เติบโตขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

กระนั้นเอง คงด่วนตัดสินไม่ได้ว่าปีนี้ใครจะพลาดท่าเสียทีให้ใคร เพราะงานนี้ท่าทางแชมป์ 3 สมัย ก็คงไม่ปล่อยให้ผู้ท้าชิงคว้าแชมป์ไปครองได้อย่างง่ายดาย