posttoday

รถพรีเมียมลุยขับเคลื่อนไฟฟ้า ปี 2562 พร้อมรบเต็มรูปแบบ

17 มีนาคม 2561

รถพรีเมียมถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้า คาดปี 2562 พร้อมรบทุกรูปแบบ

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

หากกล่าวถึงตลาดหลักในปัจจุบันที่ เป็นตัวผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในรูปแบบเทคโนโลยี ปลั๊ก-อิน ไฮบริด คงต้องยอมรับว่า "พรีเมียม เซ็กเมนต์" เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ลงสู่ตลาดกระตุ้นให้เกิดตลาดและกำลังซื้อผู้บริโภคในเทคโนโลยีดังกล่าว

จริงอยู่... แม้ว่าเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในระดับโลก ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่อก่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า 100% (อีวี) แต่ต้นทุนการผลิตและราคา จำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูปของเทคโนโลยี ปลั๊ก-อิน ไฮบริด นั้นยังมีราคาที่สูงอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ตลาดดังกล่าวนี้ในประเทศไทยยังเป็นตลาด "เฉพาะกลุ่ม" ที่เริ่มมีแนวโน้มทิศทางการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง

ด้านเทคโนโลยี ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ในตลาดรถยนต์ทั่วไป (แมส) โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (บี-เซ็กเมนต์) รวมไปถึงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก (คอมแพกต์เอสยูวี) ที่ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำเทคโนโลยีดังกล่าวใส่เข้าไปในรถยนต์กลุ่มนี้ ด้วยกำลังซื้อและการแข่งขันด้านราคาจำหน่ายที่มีความรุนแรงอยู่เป็นปกติ และการตัด สินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีประเด็นด้านการตัดสินใจด้วยปัจจัยของราคาเป็นหลักอยู่

ดังนั้น ความชัดเจนของเทคโนโลยี ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จึงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มในพรีเมียม เซ็กเมนต์ เสียเป็น ส่วนใหญ่หรือเรียกได้ว่าแทบจะทั้งหมด ก็ว่าได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในพรีเมียม เซ็กเมนต์ ต่างเห็นโอกาสสำคัญในการแนะนำผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงหลักปักฐานในประเทศไทย เดินหน้ารองรับปริมาณความต้องการในอนาคตด้วยการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

อันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทใช้เงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,900 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานประกอบรถยนต์และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โอเปอเรชั่นส์ และบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ ตั้งแต่นี้จนถึงปี 2563

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการรถยนต์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ในประเทศไทยเป็นหลัก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ บริเวณเดียวกันกับโรงงานประกอบรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ปัจจุบัน โดยโรงงานแบตเตอรี่มีแผนที่จะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2562

"โรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าไว้พร้อมสำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวที่ผลิต ขึ้นที่นี่" เลทเนอร์ กล่าว

ขณะที่ภายในปี 2565 บริษัทมี แผนที่จะผสานระบบขับเคลื่อนด้วย ไฟฟ้าเข้ากับรถยนต์ของบริษัทอย่างน้อย 1 รุ่น ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ตั้งแต่รถยนต์ขนาดเล็กไปจนกระทั่งรถยนต์อเนกประสงค์

นอกจากนั้น ปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จำนวน 40% ของยอดขายรวมที่อยู่ที่ 1.4 หมื่นคัน และคาดว่าสัดส่วนกลุ่ม ดังกล่าวจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปีที่ผ่านมาบริษัทมีการผลิตรถยนต์ในโรงงานดังกล่าวอยู่ที่ 1.2 หมื่นคัน

สเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธานบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2561 บริษัทเตรียมเงินลงทุน 400 ล้านบาท ก่อสร้างและเตรียมประกอบยานยนต์ภายใต้นโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของบริษัท พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร บริเวณโรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยบริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าส่วนของปลั๊ก-อิน ไฮบริด และโรงงานประกอบแบตเตอรี่ โดยอยู่ระหว่างการคุยกับรัฐบาลถึงรายละเอียดใกล้ชิด โรงงานประกอบแบตเตอรี่ของบริษัทอยู่ในแผน ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2562

สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ประเภท ปลั๊ก-อิน ไฮบริด อยู่ที่ 30% ของยอดขายรวมบริษัท โดยปี 2560 สัดส่วนยอดขายรถยนต์ ปลั๊ก- อิน ไฮบริด อยู่ที่ 15% ของยอดขายรวม โดยการเติบโตดังกล่าวจะมาจากการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มปลั๊ก- อิน ไฮบริด เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก ปัจจุบันมีการทำตลาดอยู่ที่ 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ ซีรี่ส์ 3, ซีรี่ส์ 5, ซีรี่ส์ 7 และเอ็กซ์-5 รวมถึงการทำกิจกรรมในการสร้างการรับรู้แบรนด์และความเข้าใจ ในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รถยนต์กลุ่มปลั๊กอิน ไฮบริด ของบีเอ็มฯ ในประเทศไทย มียอดขายสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อเทียบกับรถยนต์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ของ บีเอ็มฯ ในประเทศอื่นๆ

กฤษฎา ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาว์ดี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทแม่ อาว์ดี้ เอจี มีความพร้อมในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยบริษัทมีแผนจะนำเข้ารถอีวี หรือ อี-ตรอน รวมถึงรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด มาทำตลาดเมืองไทยในปี 2562 เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

"ยอมรับว่าอาว์ดี้มีแผนในอนาคตที่มองถึงการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ภายในประเทศไทย เพราะใครทำธุรกิจนี้ก็ต้องคิด แต่ขณะนี้ยังมีภารกิจ หลักที่ต้องดำเนินการ คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ และยึดความต้องการของลูกค้าเป็นโจทย์สำคัญ" กฤษฎา กล่าว

หันมองค่ายรถจากประเทศสวีเดน คริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตามวิสัยทัศน์ของวอลโว่ทั่วโลก ที่ประกาศให้หลังจากปี 2562 จะผลิตรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักสำหรับประเทศไทยคาดว่าจะเป็นไปตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวหากมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ รวมถึงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลที่มองว่ามีความสอดคล้องกับรัฐบาล ต่างประเทศที่มีแผนระยะยาว

"การพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ปล่อยมลพิษต่ำนั้น มีต้นทุนการพัฒนาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่ถึงแม้ ปัจจุบันต้นทุนการพัฒนาจะสูง แต่มี แนวโน้มต่ำลงจากการที่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้การตอบรับในอนาคต จึงมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในมุมมองของบริษัท" เวลส์ กล่าว

จากนโยบายและทิศทางดังกล่าวของเหล่าบรรดาผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในกลุ่มพรีเมียม เซ็กเมนต์ ส่วนใหญ่เป็นค่ายจากยุโรป ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน เป็นการตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรม ยานยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวดี โดยสามารถดึงดูดนักลงทุนให้มี การตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญและการประกอบรถยนต์ในกลุ่มดังกล่าว ในประเทศไทยเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในฐานะประเทศฐานการผลิตสำคัญรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน