posttoday

รถญี่ปุ่นผลิตไฮบริดในไทย

28 พฤศจิกายน 2560

นโยบายรัฐหนุนรถอีวี-ไฮบริดดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น สนใช้ไทยฐานผลิตไฮบริด

นโยบายรัฐหนุนรถอีวี-ไฮบริดดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น สนใช้ไทยฐานผลิตไฮบริด

นิตยสารนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) และรถไฮบริดของรัฐบาลไทยสามารถดึงดูดบรรดา ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น อาทิ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ให้หันมาลงทุนผลิตรถไฮบริดในไทย

แหล่งข่าวจากนิกเกอิรายงานว่า โตโยต้าเตรียมจะประกาศแผนการผลิตรถเอสยูวีไฮบริดรุ่น ซี-เอชอาร์ ที่โรงงานไทย ในงานมอเตอร์โชว์ประจำปีระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยรถเอสยูวีได้รับความนิยมในตลาดไทยมากขึ้น ทำ ให้โตโยต้าต้องการนำระบบไฮบริดมาใช้กับรถเอสยูวี หลังก่อนหน้านี้รถ ไฮบริดรุ่นพรีอุสและคัมรี่ของบริษัทจะไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีนัก และขายได้เพียง 1,550 คันเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ โตโยต้ายังวางแผนจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านฮอนด้ากำลังเจรจากับรัฐบาลไทยในการเปิดโรงงานผลิตรถ ไฮบริดของบริษัทภายในประเทศ โดยโรงงานดังกล่าวอาจมีสายผลิตภัณฑ์ อาทิ แจ๊ซ เอชอาร์-วี และซิตี้ ซึ่งฮอนด้าจะเปิดเผยแผนการขั้นสุดท้ายภายในสิ้นเดือน ธ.ค.

ขณะเดียวกัน นิสสันกำลังพิจารณาจะเปิดตัวรถรุ่นโน้ตในไทย โดยรถรุ่นดังกล่าวติดตั้งเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ ซึ่งใช้น้ำมันในการสร้างพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์ โดยนิสสันได้ย้ายฐานการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์มายังไทย เพื่อมุ่งเป้าต่อยอดไปใช้ในรถอีวีในอนาคตได้

"การย้ายฐานการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์มายังไทย ซึ่งมีทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอี-เพาเวอร์อย่างครบถ้วน จะเป็นรากฐานที่ต่อยอดไปสู่การผลิตรถอีวีภายในอนาคตได้" นายยูทากะ รองประธานนิสสันประจำภูมิภาคและหัวหน้าคณะกรรมการดำเนินงานในเขตเอเชีย เปิดเผยกับทางนิตยสารนิกเกอิ

นอกจากนี้ มาสด้า มอเตอร์ ก็เตรียมเปิดตัวรถไฮบริดของบริษัทที่ผลิตในไทยภายในปี 2562 นี้

ทั้งนี้ ไทยเริ่มบังคับใช้มาตรการสนับสนุนผู้ผลิตรถพลังงานสะอาดตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทที่ผลิตรถอีวี อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากนี้ยังให้ลดหย่อนภาษีสรรพสามิตให้แก่รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดลงเหลือ 4-13% และลดภาษีจัดเก็บสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่เหลือ 2% ขณะที่จัดเก็บภาษีกับรถยนต์เครื่องสันดาปในอัตรา 12-40%

อย่างไรก็ตาม นิกเกอิ รายงานว่า รถอีวียังไม่ได้รับความนิยมในไทย เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและการจราจรที่คับคั่งของประเทศ ส่งผลให้กินพลังงานไฟฟ้ามากเกินไป นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จำนวนแท่นชาร์จและปริมาณไฟฟ้าที่รองรับอีวี ส่งผลให้การใช้รถอีวีไม่สะดวกสบายเท่ากับการใช้รถเครื่องสันดาป

จำนวนรถอีวีและไฮบริดในไทยปี 2559 คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.5% ของรถทั้งหมดของประเทศ ที่มีอยู่ราว 15 ล้านคัน โดยรถอีวีได้รับความนิยมในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งชื่นชอบรถจากยุโรปมากกว่า เช่น บีเอ็มดับเบิลยูและเมอร์เซเดส-เบนซ์