posttoday

ฮอนด้าผุดสนามทดสอบ ยกระดับศูนย์วิจัยฯรับอนาคต

31 กรกฎาคม 2560

สนามแห่งนี้จึงนับได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของฮอนด้า ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับประเทศไทยและในภูมิภาครองรับการเติบโตในอนาคต

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค (HRAP) ที่ได้จัดพิธีเปิดสนามทดสอบฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี อย่างเป็นทางการ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

สำหรับสนามทดสอบแห่งนี้เป็นสนามทดสอบแบบครบวงจรที่มีเอกลักษณ์และได้รับการออกแบบมาสำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียโดยเฉพาะ ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่มีสนามทดสอบของฮอนด้า ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา

จุดประสงค์หลักใช้สำหรับการทดสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยจะมีการทดสอบในหลายรูปแบบ เช่น การควบคุมรถ การทรงตัว และสมรรถนะโดยรวม เพื่อนำผลทดสอบไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในภูมิภาคนี้ สนามทดสอบแห่งใหม่นี้จึงมีส่วนสำคัญในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฮอนด้าในประเทศไทย และในตลาดเอเชียและโอเชียเนีย ในอนาคตทางฮอนด้ายังมีแผนที่จะนำยานยนต์จากภูมิภาคอื่นมาทดสอบที่นี่ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนารถยนต์ฮอนด้า อาทิ ฮอนด้า บริโอ้, ฮอนด้า บริโอ้ อเมซ, ฮอนด้า บริโอ้ แซทยา, ฮอนด้า โมบิลิโอ และฮอนด้า บีอาร์-วี รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนรถยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย

เป้าหมายของศูนย์วิจัยดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่พัฒนารถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการในภูมิภาคนี้เท่านั้น ยังเพิ่มระดับการให้บริการพัฒนารถยนต์ในระดับโกลบอล แม้แต่รถยนต์ไฮบริดที่ใช้ระบบขับเคลื่อนทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพัฒนามาจากศูนย์อาร์แอนด์ดีในประเทศญี่ปุ่น อนาคตศูนย์วิจัยดังกล่าวจะมีศักยภาพในการพัฒนาได้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสนับสนุนของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ขณะที่สนามทดสอบมีส่วนสำคัญในการพัฒนารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในการจำลองสภาพการใช้งานจริง และสภาพภูมิอากาศซึ่งแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค รวมถึงการลดต้นทุนในการทดสอบรถยนต์ก่อนการวางจำหน่ายจริง ซึ่งเป็นความลับของแต่ละบริษัทในการพัฒนา ที่ก่อนหน้านี้จะต้องส่งไปวิ่งทดสอบในต่างประเทศ

สนามทดสอบฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี แห่งนี้ ประกอบด้วยสนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนและลักษณะภูมิประเทศในรูปแบบต่างๆ 8 สนาม โดยความยาวรวมประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็นสนามทดสอบรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1.สนามทดสอบรูปวงรี (Oval Course) ความยาว 2.18 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในขณะขับด้วยความเร็วสูง รวมถึงการทดสอบอื่นๆ เช่น ระดับเสียงของลมที่เข้ามาในห้องผู้โดยสาร และการควบคุมพวงมาลัย

2.สนามทดสอบทางโค้ง (Winding Course) ความยาว 1.38 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะโดยทั่วไป รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรก และการควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบทางโค้งนี้มีการจำลองถนนที่มีการขึ้น-ลง และถนนที่มีมุมอับสายตา รวมมีทางโค้งทั้งหมด 17 โค้ง

3.สนามทดสอบไดนามิกส์ (Vehicle Dynamics Area) ใช้ทดสอบการควบคุมการทรงตัวของรถขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง และทดสอบประสิทธิภาพของการเบรกขณะเข้าทางโค้งแบบหักศอก

4.สนามทดสอบที่มีน้ำท่วมขัง (Wet Course) สนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนที่เปียกและลื่น ใช้ทดสอบผลกระทบของน้ำท่วมขังที่มีต่อสมรรถนะของรถยนต์ ประกอบด้วย Pool Road, Splash Road, Wet Brake Road โดยสนามนี้สามารถปรับระดับความลึกของน้ำได้ตั้งแต่ 0-1,000 มิลลิเมตร เพื่อจำลองสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในทวีปเอเชีย โดยเป็นการทดสอบการกันน้ำและผลกระทบต่อห้องเครื่องยนต์

5.สนามทดสอบสภาพพื้นผิวถนนในรูปแบบต่างๆ (Ride Road Course) สนามทดสอบนี้จำลองสภาพพื้นผิวถนนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ใช้ทดสอบสมรรถนะทั่วไปบนพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน โดยมีถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน อาทิ ถนนคอนกรีต (Concrete Highway) ถนนยางมะตอยที่มีพื้นผิวชำรุด (Noise Road) และถนนลาดเอียง (Camber Road)

6.สนามทดสอบที่มีพื้นผิวพิเศษ (Special Surface Courses) สนามทดสอบนี้ได้รับการออกแบบและสร้างด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ เพื่อจำลองพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ใช้ทดสอบความทนทานของช่วงล่างรถยนต์ โดยมีพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน อาทิ ถนนที่จำลองลูกระนาด (Speed Breaker) และถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวขรุขระ (Concrete Rough Road)

7.สนามทดสอบทางลาดชัน (Slope Course) สนามทดสอบทางลาดชัน ใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพของระบบเบรก

8.สนามทดสอบทางตรง (Straight Course) สนามทดสอบทางตรงความยาว 1.2 กิโลเมตร ใช้ทดสอบอัตราการประหยัดน้ำมัน และอัตราการเร่งความเร็วหลังจากออกตัว

อรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อุตสาห กรรมยานยนต์เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลไทยให้การส่งเสริมเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การลงทุนสร้างสนามทดสอบฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี แห่งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนองตอบต่อทิศทางและนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ด้วยการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ชินจิ อาโอยามะ ประธานเจ้าหน้าที่ส่วนปฏิบัติการภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ (ประเทศญี่ปุ่น) และประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชียนฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์ กลางการผลิตและส่งออกของฮอนด้าในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียมาโดยตลอด และยังเป็นฐานสำคัญในการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาด้วย ซึ่งสนามทดสอบปราจีนบุรีแห่งนี้ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ฮอนด้า ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการพัฒนายานยนต์ที่มีดีไซน์ที่โดดเด่น เกินความคาดหวังของลูกค้าทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้

สนามแห่งนี้จึงนับได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของฮอนด้า ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับประเทศไทยและในภูมิภาครองรับการเติบโตในอนาคต