posttoday

'ลุกลา' สนามบินอันตรายประตูต้อนรับสู่เอเวอเรสต์

15 กันยายน 2556

หากคิดว่าการปีนไต่ไปบนยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและสร้างความท้าทายในชีวิตแล้ว บางทีช่วงระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมายอาจเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นเต้น

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

หากคิดว่าการปีนไต่ไปบนยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและสร้างความท้าทายในชีวิตแล้ว บางทีช่วงระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมายอาจเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นได้มากกว่าก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปลงยังสนามบินเทนซีฮิลลารี หรือรู้จักกันในชื่อว่า “สนามบินลุกลา” (Lukla) ซึ่งอยู่ใกล้กับยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ที่เมืองลุกลา ในประเทศเนปาล

สนามบินแห่งนี้เป็นหนึ่งในสนามบินที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของความอันตรายและน่าหวาดเสียวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากขนาดของรันเวย์นั้นมีเพียงทางวิ่งเพียงเลนเดียวเท่านั้น โดยที่มีความยาวน้อยกว่า 500 เมตร กว้างเพียง 20 เมตร อีกทั้งพื้นรันเวย์ก็ยังมีความลาดชันอีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้หากนักบินกะระยะวิ่งผิดพลาดเพียงนิดเดียวเครื่องบินก็อาจจะวิ่งหลุดรันเวย์จนตกหน้าผาได้เลย

ขณะเดียวกันด้วยเลนวิ่งบนรันเวย์ที่มีเพียงเลนเดียว ก็ทำให้การขึ้นลงของเครื่องบินในแต่ละครั้งทำได้เพียงลำเดียว โดยเครื่องบินทุกลำจะต้องร่อนลงจอดจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และนำเครื่องขึ้นในทิศตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น เนื่องจากสุดทางรันเวย์ของสนามบินดังกล่าวมีภูเขาลูกหนึ่งขวางอยู่ ดังนั้นหากว่ามีลมพัดไปในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อการทำการบินมากเกินไป ทางหอบังคับการบินก็จะสั่งให้หยุดขึ้นบินหรือนำเครื่องลงจอด

พรามอท โพลเดล นักบินของสายการบินทารา ผู้ที่มีประสบการณ์การบินและนำเครื่องลงจอดที่สนามบินลุกลามาหลายร้อยครั้ง กล่าวว่า นักบินทุกคนที่นำเครื่องมาลงที่สนามบินลุกลา จำเป็นต้องใช้สมาธิอย่างมากในการนำเครื่องร่อนลงจอดในสนาม บินที่มีรันเวย์เพียงเลนเดียวที่มีขนาดยาวน้อยกว่า 500 เมตร ขณะเดียวกันนักบินก็จะต้องคำนวณและใส่ใจในรายละเอียดในเรื่องความเร็วลม ปีกท้ายของเครื่อง และดูเมฆหมอกดีๆ อีกด้วย เพราะไม่มีพื้นที่รอบๆ มากพอในการปรับจูนเครื่องเพื่อให้พร้อมทำการบินได้มากนัก

'ลุกลา' สนามบินอันตรายประตูต้อนรับสู่เอเวอเรสต์

 

“หลังจากที่คุณนำเครื่องออกจากสนามบินแห่งนี้ไปแล้ว คุณจะไม่มีทางได้หันหลังกลับไป มิเช่นนั้นคุณก็ต้องร่วงลงไปสู่พื้นดินด้านล่าง” โพลเดล กล่าว

ขณะที่ รินจิ เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินในสนาม บินลุกลา กล่าวว่า การจัดการในสนามบินดังกล่าวยังถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างมากในแต่ละวัน เพราะนอกเหนือจากเรื่องที่ตั้งของสนามบินจะอยู่ในท่าม กลางภูเขาสูงและมีพื้นที่เล็กมากแล้ว ปริมาณเที่ยวบินที่เข้ามาใช้ในแต่ละวันก็สูงมากอีกด้วย จนกลายเป็นสนามบินที่มีผู้คนเข้ามาใช้งานมากที่สุดแห่งหนึ่งของเนปาลไปแล้ว ทั้งๆ ที่ปัจจุบันสนามบินสามารถรองรับได้เพียงแค่ 79 เที่ยวบินต่อวันเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้สนามบินลุกลาเต็มไปด้วยผู้คนที่แห่แหนกันเข้ามาใช้บริการ ทั้งๆ ที่ดูอันตราย เพราะว่าเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวกต่อการเดินทางมายังยอดเขาเอเวอเรสต์มากที่สุดแล้ว เนื่องจากจะช่วยย่นระยะทางการเดินทางที่แสนลำบากและทรหดที่ต้องนั่งรถบัสจากเมืองกาฐมาณฑุมายังภูเขาเอเวอเรสต์เป็นเวลาหลายวัน และช่วยอำนวยความสะดวกในการที่จะไม่ต้องไปเดินทางข้ามภูเขาสูงเพื่อมาถึงยอดเขาในฝันดังกล่าวอีกด้วย

สำหรับเครื่องบินที่จะนำมาลงจอดในสนามบินแห่งนี้นั้น ทางเจ้าหน้าที่หอการบินได้เผยว่า จะต้องเป็นเครื่องบินแบบพิเศษที่สามารถนำเครื่องขึ้นและลงจอดได้โดยใช้ระยะทางวิ่งสั้นๆ เท่านั้น (Short takeoff and landingSTOL) เหมือนเช่นเครื่องใบพัดคู่ออตเตอร์ หรือดรอนนิเออร์ ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 18 คน

ทั้งนี้ สนามบินดังกล่าวสร้างขึ้นในปี 1965 โดยเป็นฝีมือการริเริ่มของเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคนแรกของโลก ในส่วนของจุดประสงค์ของการสร้างสนามบินแห่งนี้นั้น ก็เพื่อช่วยพัฒนาความเจริญแก่พื้นที่และผู้คนในชุมชนดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเมืองลุกลาจากที่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ได้กลายเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3,000 คนแล้ว

สำหรับรายได้หลักของคนในเมืองดังกล่าวก็คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเป็นผู้นำทางพานักท่องเที่ยวเดินทางไปยังยอดเขาเอเวอเรสต์