posttoday

ค้าปลีกมะกันสู้ไม่ไหว ทยอยปิดตัวทุบสถิติ

14 เมษายน 2560

ค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ กำลังได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยภาคค้าปลีกแบบมีหน้าร้านต่างพยายามปรับตัวเพื่อแข่งขันกับการค้าออนไลน์

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

ค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ กำลังได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยภาคค้าปลีกแบบมีหน้าร้านต่างพยายามปรับตัวเพื่อแข่งขันกับการค้าออนไลน์ แต่ก็ใช่จะเป็นผู้รอดชีวิตในยุคเทคโนโลยีเสมอไป

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ค้าปลีกในสหรัฐทำสถิติการปิดตัวใหม่ไปแล้วในปีนี้ โดยธนาคารเครดิตสวิส เปิดเผยว่า จำนวนสาขาที่ประกาศปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี และ 1 สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. อยู่ที่ 2,880 แห่ง เมื่อเทียบกับของทั้งปี 2016 ที่อยู่ที่ 1,153 แห่ง
นอกจากนี้ คริสเตียน บัส นักวิเคราะห์ของเครดิตสวิส เปิดเผยว่า หากค้าปลีกยังปิดตัวในสัดส่วนเช่นเดียวกับทุกปี จะส่งผลให้จำนวนร้านค้าที่ปิดตัวในปีนี้สูงถึง 8,640 แห่ง มากกว่าสถิติเดิมในปี 2008 ที่ 6,200 แห่ง
รายล่าสุดที่ประกาศปิดตัวคือ รูว์21 (Rue21) ร้านเสื้อผ้าลำลองวัยรุ่น ประกาศเตรียมยื่นขอการคุ้มครองจากการล้มละลายตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการจากศาลสหรัฐไปเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา และอาจต้องปิดสาขา 1,000 แห่ง ตามหลังเพย์เลส ชูซอร์ส ค้าปลีกรองเท้า ซึ่งปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรในสหรัฐและเปอร์โตริโกจำนวน 400 สาขา จากทั้งหมดราว 4,400 สาขา ใน 30 ประเทศ เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากอี-คอมเมิร์ซ
การปิดตัวของค้าปลีกกระทบกับการจ้างงานภายในสหรัฐ​ โดยจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐ พบว่าในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ภาคค้าปลีกปรับลดพนักงานมากถึง 3 หมื่นอัตรา ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก
“ทุกวันนี้ความสะดวกสบายคือ การนั่งใส่ชั้นในอยู่ในบ้านและเล่นโทรศัพท์มือถือหรือไอแพดเหตุผลสำหรับเดินทางไปห้างร้านและจำนวนการเดินทางไปยังห้างร้านจะแตกต่างจากแต่ก่อน” บัส กล่าว

ไม่อาจสู้ยักษ์

ค้าปลีกแบบมีหน้าร้านพยายามที่จะปรับตัวรับกับยุคอี-คอมเมิร์ซ และเข้าสู่ตลาดค้าออนไลน์มากขึ้น เช่น เมซีส์ ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ​ เตรียมลดพนักงาน 6,200 อัตราในปีนี้ เพื่อประหยัดต้นทุน 550 ล้านเหรียญสหรัฐ​ (ราว 1.9 หมื่นล้านบาท) และจะลงทุนเพิ่มอีก 250 ล้านเหรียญสหรัฐ​ (ราว 8,750 ล้านบาท) ในธุรกิจดิจิทัล รวมถึงธุรกิจที่ยังทำกำไรในปัจจุบัน เช่น ห้างร้านในจีนและธุรกิจออฟ-ไพรส์

อย่างไรก็ตาม ในด้านการค้าออนไลน์นั้นกลับไม่สามารถสู้อเมซอนดอทคอม ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐได้ โดยจากข้อมูลของอี-มาร์เก็ตเตอร์ พบว่าในมูลค่ายอดค้าออนไลน์ทั้งหมดในสหรัฐ อเมซอนคว้าสัดส่วนไปมากถึง 53% มากกว่าค้าออนไลน์ทุกเจ้ารวมกัน ซึ่งอยู่ที่ 47%

“เป็นคำถามที่อุตสาหกรรมกำลังหาคำตอบ ผมไม่รู้ว่าจะมีห้างร้านกี่แห่งที่สามารถปรับตัวเองได้” โนเอล เฮอเบิร์ต นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว ห้างร้านที่ย่ำแย่จะส่งผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น โดย ริชาร์ด เฮย์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเออร์บาน เอาต์ฟิตติ้ง ระบุว่า เป็นเพราะห้างร้านในสหรัฐมีสัดส่วนมากกว่าประเทศอื่นๆ

“พื้นที่ห้างร้านต่อหัวประชากรในสหรัฐสูงกว่าญี่ปุ่นหรือยุโรปถึง 6 เท่า และยังไม่ได้นับรวมค้าออนไลน์” เฮย์น กล่าว


สินค้าอุปโภค-บริโภคปรับตัวสู้

ผู้ผลิตสินค้าส่งให้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ยูนิลีเวอร์” เองก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยล่าสุดยูนิลีเวอร์ได้จับมือกับ “ลาซาด้า” อี-คอมเมิร์ซชื่อดังของสิงคโปร์ ซึ่งอาลีบาบายักษ์ค้าออนไลน์จากแดนมังกรเป็นผู้สนับสนุน เพื่อผลักดันการจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไปที่ซื้อง่ายขายคล่อง (Fast-Moving Consumer Goods : FMCG) เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผ่านช่องทางออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียน

ก่อนหน้านี้ อาลีบาบาและยูนิลีเวอร์เคยทำข้อตกลงร่วมมือในรูปแบบที่คล้ายคลึงมาแล้วในปี 2015 ซึ่งเปิดโอกาสให้ยูนิลีเวอร์สามารถจำหน่ายสินค้าในจีนมากยิ่งขึ้น หลังยอดขายบริษัทร่วงลง 20% เมื่อปี 2014

หลังยูนิลีเวอร์ปฏิเสธข้อตกลงเข้าซื้อกิจการของคราฟต์ ไฮนซ์ บริษัทอาหารรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกจากสหรัฐ มูลค่า 1.43 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5 ล้านล้านบาท) ยูนิลีเวอร์ถึงคราวปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศขายแบรนด์สเปรดทาขนมปังที่รู้จักกันดีอย่าง ฟลอร่า มาการีนชื่อดัง และมาร์ไมท์ สเปรดทางขนมปัง

การขายกิจการดังกล่าวคาดจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ​ (ราว 2.1 แสนล้านบาท) โดยการขายครั้งนี้เป็นการขายธุรกิจที่ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังความกังวลด้านไขมันอิ่มตัวและอาหารแปรรูปกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งยอดขายมาการีนทั่วสหราชอาณาจักรปรับลดลง 12% เมื่อปีที่แล้ว