posttoday

‘เคเอฟซี’ปรับแผนใหญ่ เลิกซื้อไก่ใช้ยาปฏิชีวนะ

10 เมษายน 2560

“เคเอฟซี” ร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังในเครือบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ได้กลายเป็นเชนร้านฟาสต์ฟู้ดไก่ใหญ่สุดรายที่ 2 ในสหรัฐ ที่ประกาศแผนเตรียมยกเลิกการซื้อไก่ที่ใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

“เคเอฟซี” ซึ่งเป็นร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังในเครือของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ได้กลายเป็นเชนร้านฟาสต์ฟู้ดไก่ใหญ่สุดรายที่ 2 ในสหรัฐ ที่ประกาศแผนเตรียมยกเลิกการซื้อไก่ที่ใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด โดยให้เวลาซัพพลายเออร์จนถึงสิ้นปี 2018 เพื่อปรับตัวยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในไก่ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (ซูเปอร์บั๊ก) ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ต่อมนุษย์ในปัจจุบัน

ทิศทางของเคเอฟซีมีขึ้นหลังจากที่ร้าน “ชิคฟิลเล” ซึ่งเป็นเครือร้านฟาสต์ฟู้ดไก่ชื่อดังในสหรัฐได้ประกาศตั้งแต่ปี 2014 ว่าจะเลิกรับซื้อเนื้อไก่ที่ใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมดภายในสิ้นปี 2019 เช่นเดียวกับร้าน “แมคโดนัลด์” ที่ประกาศไม่ใช้ไก่มียาปฏิชีวนะในร้าน 1.4 หมื่นแห่งทั่วสหรัฐไปเมื่อปีที่แล้ว และส่งผลให้อุตสาหกรรมผู้ประกอบกิจการเนื้อไก่ต้องเร่งปรับตัว

รอยเตอร์ส ระบุว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ในมนุษย์ทุกวันนี้ถูกขายไปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อและปศุสัตว์ถึงราว 70% ขณะที่บรรดานักวิจัยทางการแพทย์กังวลว่าการใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้ยาต้านเชื้อในมนุษย์

“เราตระหนักว่าเรื่องนี้กำลังเป็นความกังวลต่อสุขภาพของสาธารณชนมากขึ้น และเป็นเรื่องที่สำคัญต่อลูกค้าจำนวนมากของเรา ซึ่งเราจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ของเรามีการใส่ใจและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์” เควิน ฮอคแมน ประธานเคเอฟซี สหรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะปรับใช้เฉพาะในร้านเคเอฟซีราว 4,200 สาขาในสหรัฐเท่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึงฟาร์มไก่ราว 2,000 แห่งในประเทศ และยังไม่มีนโยบายขยายไปในต่างประเทศ

สหรัฐหันตื่นตัวไก่ปลอดยา

หลังจากที่เผชิญการรณรงค์และแรงกดดันจากบรรดานักเคลื่อนไหวและผู้บริโภคมากขึ้น บรรดาบริษัทอาหารรายใหญ่และร้านอาหารในสหรัฐได้ยอมรับการจำกัดวงการใช้ยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์กันมากขึ้น

เมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัท ไทสัน ฟู้ดส์ ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์เนื้อไก่อีก หลังจากที่เคยประกาศจะจำกัดการใช้ยาในไก่ต้มสุกไปแล้วก่อนหน้านี้ และยังมีแผนที่จะลดการใช้ยาในเนื้อสัตว์อื่นๆ อาทิ เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่งวงด้วย เพียงแต่ยังไม่กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ที่สุดในประเทศครั้งนี้ คือหลักฐานที่บ่งชี้ถึงเทรนด์การปรับตัวของบริษัทขนาดใหญ่

“เราลดการใช้ยาปฏิชีวนะของคนในสัตว์ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อการรักษาสมดุลระหว่างความกังวลเรื่องสุขภาพของคนทั่วโลกกับสวัสดิภาพของสัตว์” โฆษกของไทสัน ฟู้ดส์ กล่าวกับเอเอฟพี

ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายต่างเชื่อว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการดื้อยาในคนปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นยาที่รักษาโรคปอดบวม การติดเชื้อ และโรคอื่นๆ ซึ่งมีรายงานพบการดื้อยาถึงขั้นเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาปฏิชีวนะที่แรงที่สุดกลับใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย

การปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐ ยังมีขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ออกมติในการประชุมเมื่อเดือน ก.ย. 2016 โดยให้คำมั่นว่า ประชาคมโลกจะร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาการดื้อยาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในอุตสาหกรรมเนื้อไก่กว่า 42% แล้วที่ให้คำมั่นว่าจะลดการใช้ยาลง

อย่างไรก็ดี เอเอฟพี ระบุว่า ปริมาณเนื้อไก่ที่ปลอดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสหรัฐยังมีสัดส่วนเพียงประมาณ 40-50% เท่านั้น โดยบางบริษัทยังปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ อาทิ บริษัท แซนเดอร์สัน ฟาร์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ในสหรัฐ ขณะที่จำนวนเนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะยังมีจำนวนน้อยลงไปอีกในกลุ่มเนื้อหมูและเนื้อวัว

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเรียกร้องเรื่องเนื้อสัตว์ปลอดยากันมากขึ้น ทว่าก็ยังดูเป็นเพียงกระแสหรือเป็นเทรนด์ในระยะยาวที่ยังต้องจับตาดูกันต่อไปมากกว่า” เซน อักบารี นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารจากมอร์นิ่งสตาร์ กล่าว