posttoday

เจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ เป้าหมายหยุดอุบัติเหตุ

22 มกราคม 2561

แม้หลายเสียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นด้วย แต่คำถามที่ตามมาคือจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ 

ประเด็นเรื่องของการเจาะเลือดเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์กรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนของผู้ขับขี่ยานพาหนะในเวลาปกติ เพื่อระบุเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบสำนวนคดีว่า “เมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุ” หรือไม่ ยังคงเป็นข้อหารือเพื่อหาถึงแนวทางความเป็นไปได้

แม้ที่ผ่านมาในช่วงรณรงค์ 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ 2561 มีผู้ขับขี่ราว 2,000 คน ถูกเจาะเลือดและถือเป็นมาตรการหลักที่รัฐบาลใช้กรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพื่อเพิ่มโทษกับการทำผิดกฎหมายของผู้ขับขี่ และส่งผลต่อด้วยความคาดหวังว่าจะให้เกิดการบังคับใช้ในช่วงเวลาปกติตลอดทั้งปีด้วย

การหารือเพื่อหาข้อสรุปที่มีสัญญาณมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาปกติ ไม่ใช่เฉพาะแต่ช่วงเทศกาลเท่านั้น เพราะหากบังคับใช้จะมีทั้งส่วนได้ส่วนเสียกับมาตรการนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเจาะเลือดที่มีราคาคนละ 500-1,000 บาท ซึ่งหากดำเนินการทั้งปีจะมีค่าใช้จ่าย 30-40 ล้านบาท ซึ่งจะต้องหาผู้รับผิดชอบ ขณะเดียวกันแง่บวกของมาตรการดังกล่าวก็น่าจะสร้างความหลาบจำให้กับผู้ขับขี่ที่ดื่มสุรา

แม้หลายเสียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นด้วย แต่คำถามที่ตามมาคือจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่

ปนัดดา ชำนาญสุข นักวิชาการจากศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ให้ภาพว่าที่ผ่านมามีข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่แล้วซึ่งทำให้เห็นว่าอุบัติเหตุทางท้องถนนส่วนใหญ่จะเกิดจากผู้ขับขี่ที่ดื่มสุรา แต่ขณะเดียวกันการตรวจหาแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดผ่านการเจาะเลือดของตำรวจก็พบว่ามีปัญหา และเกิดเป็นช่องว่างของผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องไปยังโรงพยาบาลและผู้ขับขี่เองด้วย

“การเจาะเลือดที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้ยากหลังเกิดอุบัติเหตุ แม้ตำรวจอยากจะตรวจเลือดก็ตามเพื่อประกอบสำนวนคดีให้สมบูรณ์ และยินดีจะจ่ายค่าเจาะเลือดเองด้วย แต่บ่อยครั้งที่แพทย์ก็ไม่อนุญาต เพราะผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุไม่ยินยอม ซึ่งหากให้ตรวจแพทย์ก็เสี่ยงจะถูกฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคล”

กระนั้น ปนัดดา ยืนยันว่า หากมาตรการดังกล่าวถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะเป็นการบังคับให้ต้องเจาะเลือดในทุกกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ที่เข้ารักษาตัวหลังเกิดเหตุหรือเป็นคู่กรณีก็ไม่สามารถจะเลี่ยงได้ และต้องคิดยับยั้งใจก่อนจะดื่มสุราและต้องขับรถ ขณะที่แพทย์พยาบาลก็จะสบายใจกับการปฏิบัติงาน

“แต่มันก็เป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติ เพราะแน่นอนว่าหากตำรวจที่ซื่อตรงทำหน้าที่อย่างถูกต้องก็ยินดีจะพาไปตรวจเลือดหาแอลกอฮอล์ แต่ก็เป็นช่องให้เกิดทุจริตได้เช่นกันระหว่างผู้รักษากฎหมายและผู้ขับขี่ที่เมาสุรา” ปนัดดา ตั้งข้อสังเกต

อีกเสียงที่ยกมือสนับสนุนมาตรการดังกล่าวหากสามารถเกิดขึ้นได้จริง คือ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับบอกว่า หากรัฐบาลจะจริงจังที่จะผลักดันให้เป็นกฎหมายก็สามารถทำได้แน่นอน แต่ที่ผ่านมาคือไม่มีความจริงจัง และไม่ได้ใส่ใจความปลอดภัยทางท้องถนนของคนไทยเท่าที่ควร จึงทำให้ยอดตายจากเมาสุราแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุยังสูงมากในปัจจุบัน

อีกทั้งยังเป็นเรื่องปกติที่เกิดอุบัติเหตุแล้วจะต้องเจาะเลือดหาแอลกอฮอล์ในทุกกรณีด้วยซ้ำ แต่สำหรับประเทศไทยกลับกลายเป็นว่ามีจุดอ่อนเรื่องงบประมาณ เพราะตำรวจก็ไม่อยากจะจ่าย สธ.เองก็ไม่ต้องการจ่ายงบประมาณส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

“ข้ออ้างว่าไม่มีเงินสำหรับค่าเจาะเลือดถือว่าฟังไม่ขึ้น เพราะชีวิตมีค่าและมาตรการนี้จะช่วยให้คนดื่มสุราต้องระวังมากขึ้น และหากเกิดอุบัติเหตุต้องถูกเจาะเลือดความผิดก็จะมากขึ้นด้วย” นพ.แท้จริง ให้ความเห็น

เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ย้ำอีกว่า รัฐบาลจะต้องจริงจังกับเรื่องนี้และต้องกล้าที่จะลงทุน เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของประชาชน ลองนึกภาพว่าคนเมาขับรถไปชนเด็กที่เป็นอนาคตของชาติตาย แต่ไม่ได้ถูกตรวจหาแอลกอฮอล์ เด็กก็อาจจะตายเปล่าแบบที่สังคมไม่ได้เรียนรู้ อย่างนี้มันคุ้มค่าหรือไม่

นพ.แท้จริง ทิ้งท้ายด้วยตัวอย่างของตัวเลขที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมาตรการรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของรัฐที่มุ่งเน้นไปที่ช่วงเทศกาลเท่านั้น หากเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์สูงสุดไม่เกิน 1,000 คน แต่ในช่วงเวลาปกติกลับตายนับหมื่นคนในทุกปี

ดังนั้นแล้ว รัฐบาลควรจะเห็นภาพความสำคัญว่าควรเป็นช่วงเวลาใด เพื่อจะผลักดันมาตรการป้องกันบนท้องถนนเพื่อลดการตายของคนไทยให้เป็นรูปธรรม