posttoday

ศึกสนามสอบ ติวเข้า ป.1 สมองเด็กถูกลดทอน-จินตนาการหด

21 ธันวาคม 2560

"เด็กจำนวนมากไม่มีความสุขเมื่อมาเรียน ป.1 ทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก และลดทอนความสามารถของตัวเด็กเอง ทำให้ขาดความมั่นใจ”

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

เป็นข่าวดังไม่กี่วันก่อน สถาบันกวดวิชาระดับอนุบาล 3 เข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต ค่าเรียนระดับแสน แต่มาตรฐานต่ำ เพราะใช้กำลังควบคุมพฤติกรรมและทำร้ายเด็ก จนมีการร้องให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบว่าตั้งมาถูกต้อง มีใบรับรองหรือไม่ รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชาฟันน้ำนมอีกหลายสิบแห่งที่ผุดขึ้นในเมือง กลายเป็นธุรกิจทองคำในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

คำถามมากมายถึงระบบการศึกษาปฐมวัยบ้านเรา มันหนักเกินไปสำหรับเด็กอนุบาล 3 ในวัย 5-6 ขวบ หรือไม่ที่ต้องเข้าโรงเรียนกวดวิชา แน่นอนแม้ระบบไม่ได้บังคับต้องสอบเข้า ป.1 ทุกคน แต่สังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้ปกครองต่างอยากให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนดีๆ เป็นพื้นฐานยาวถึง ม.6 ก็เป็นตัวเร่งให้เด็กเล็กต้องเคร่งเครียดต่อการเรียนอย่างจริงจังมากกว่า การเรียนให้สนุก เรียนรู้กับธรรมชาติตามพัฒนาการของเด็ก

มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หลายเดือนก่อน ให้ยกเลิกการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เพราะไม่อยากให้มีการแข่งขันจนเด็กเกิดความเครียด เนื่องจากไม่ได้เกิดคุณภาพกับตัวเด็กมากเท่าที่ควร ยังส่งผลต่อกล้ามเนื้อสมองของเด็กในวัยนี้ด้วย

ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็กผู้เสนอเรื่องนี้ กล่าวกับโพสต์ทูเดย์ว่า เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนแนวคิดและวางรากฐานการสอนเด็กปฐมวัยกันใหม่ เนื่องจากปัจจุบันรอยต่อช่วงการเรียนอนุบาลถึงชั้น ป.1 ซึ่งมีความสำคัญ ยังมีช่องโหว่มากเพราะเมื่อเด็กจากชั้นอนุบาลต้องไปเรียน ป.1 ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ พละ ศิลปะ ดนตรี และสังคม จะเห็นได้ว่าเป็นสัดส่วนทางวิชาการที่มากเกินไปสำหรับเด็ก เพราะเด็กส่วนใหญ่อาจยังไม่มีความพร้อม แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ได้เก่ง

“เด็กบางคนอาจจะยังอ่านไม่ออก หรือเขียนไม่ได้ หรือไม่เก่งด้านตัวเลขพื้นฐาน แต่เด็กเหล่านี้มีความสามารถด้านอื่นตามพัฒนาการของสมอง ทั้งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องและกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มอายุเหล่านี้ แต่เรากำลังกดดันเด็กด้วยความรู้ทางวิชาการที่มากเกินไป” ดารณี อธิบาย

ดารณี อธิบายว่า พ่อแม่มักตั้งความหวังว่าเมื่อเรียนอนุบาลเด็กจะต้องอ่านออกเขียนได้ ต้องพร้อมสำหรับการเรียนในชั้น ป.1 จึงเกิดผลกระทบตามมากับเด็ก และเป็นการสร้างแรงกดดันที่มากเกินไป และทุกวันนี้มีเด็ก ป.1 ที่ไม่พร้อมจะเรียนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เด็กเหล่านี้มีสติปัญญาที่ดี แต่เราวางให้เขาไม่ถูกกับจังหวะของการพัฒนาทางสมอง

ดารณี ยกตัวอย่างว่า พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอนุบาลที่มีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักพัฒนาการทางสมอง ให้โอกาสเด็กได้เรียน ได้เล่น ได้ทดลอง สร้างความเชื่อมั่น ไม่ได้เน้นจับเด็กมานั่งอ่านเขียนเป็นห้องเรียน ซึ่งเด็กก็มีความพร้อมเช่นกัน แต่เมื่อย้ายมาเรียน ป.1 เด็กก็ไม่พร้อมจะมาอ่านออกเขียนได้ ทั้งๆ ที่มีความพร้อมด้านอื่นมา เช่น ควบคุมอารมณ์ได้ มีวินัย กล้าแสดงออก มีความสุข แต่เมื่อถูกจับเข้าห้องเรียนก็เหมือนถูกจับยัดเข้ากรง เด็กก็ไม่พร้อมจะทำให้สำเร็จ สอบก็ไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่เด็กมีความรู้ มีความพร้อม มีศักยภาพ แต่ถูกระบบครอบไว้เป็นเช่นนี้

“เราจึงเห็นเด็กจำนวนมากไม่มีความสุขเมื่อมาเรียน ป.1 ทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก และลดทอนความสามารถของตัวเด็กเอง ทำให้ขาดความมั่นใจ” ดารณี ฉายภาพสถานการณ์ในปัจจุบัน

ศึกสนามสอบ ติวเข้า ป.1 สมองเด็กถูกลดทอน-จินตนาการหด ดารณี อุทัยรัตนกิจ

 

แต่ความคิดดังกล่าวของผู้ปกครองและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งหนึ่งที่ดารณีเห็นมาตลอดวิชาชีพครูจนถึงวัยเกษียณมาแล้วกว่า 5 ปี คือ เด็กที่เข้าสู่ระบบการเรียนรู้ที่ดีดังที่ผู้ใหญ่เห็นควร กลับได้ผลลัพธ์ที่ล้มเหลวไม่น้อย เพราะขาดการเชื่อมต่อในช่วงอายุสำคัญคือช่วงปฐมวัย เมื่อเด็กอยู่ในวัยที่สมองกำลังพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก การเรียนรู้และการจดจำ กลับถูกยัดเยียดด้วยความรู้ทางวิชาการที่มากเกินไป

ดารณี เสริมว่า ข้อเท็จจริงเด็กพร้อมจะทำตามพ่อแม่ ครู เพราะในวัยนี้พวกเขาต้องการเป็นที่รัก เด็กจะว่านอนสอนง่ายมาก แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกตั้งความหวังกับเด็ก ที่พาไปติวเพื่อสอบเข้า ป.1 เพื่อหวังจะได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่มีคุณภาพ เด็กก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร เพราะเขารู้แต่เพียงว่าอยากทำให้พ่อแม่ เมื่อสอบไม่ผ่านก็จะเกิดความรู้สึกผิดหวัง ทั้งๆ ที่เขาอาจจะมีศักยภาพที่เก่งกว่าเด็กที่เรียนดีก็ได้ เขามีความสุขที่จะเรียนรู้ หรือได้เข้าเรียน ป.1 แต่สอบไม่ผ่านเพียงเพราะเขาอ่านข้อสอบนั้นไม่ออก หรือตีความไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่ง นั่นคือสิ่งที่เรากำลังเดินผิดทาง

“รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องนี้ เพราะการพัฒนาเด็กจะต้องมามองที่ปฐมวัย ให้มีรากฐานที่มั่นคงในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพราะเด็กช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สมองเติบโตเร็วที่สุด และพร้อมที่จะรับการเรียนรู้ที่เหมาะสม สอนง่าย แต่ผู้ที่เข้าใจและสำคัญที่สุดคือคนเป็นพ่อแม่ต้องตระหนักกับเรื่องนี้ สิ่งที่เราเสนอคือต้องสร้างความตระหนักให้ทั้งสังคมเห็นว่าการปฐมวัย ช่วงตั้งแต่ 0-8 ขวบ เป็นพื้นฐานทั้งชีวิตของเขา”

เธอย้ำว่า หลักสูตรประถมศึกษาตอนต้นต้องเปลี่ยน ไม่ต้องเน้นเรียน 8 กลุ่มวิชาแล้ว แต่ต้องยึดให้มีการเรียนการสอนแบบต่อเนื่องจากอนุบาล ขณะเดียวกันก็เตรียมความพร้อมให้มีทักษะอ่านออกเขียนได้พร้อมกัน ก่อนจะไปถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลายที่เราจะเรียกใหม่ว่าเป็นระบบทางการ ซึ่งไม่ใช่เริ่มตั้งแต่ชั้น ป.1

ประเด็นสำคัญคือ เด็กต้องคิดได้ แก้ปัญหาได้ มีวินัย มีความสุข ใฝ่เรียนรู้ มีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ มีจินตนาการ ซึ่งต้องสร้างความสมดุลของสมองทั้งสองซีก ทั้งฝั่งจินตนาการความคิด และด้านการเรียนรู้

ดารณี ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อวางรากฐานให้กับอนาคตของชาติอย่างมั่นคง และเราได้เลิกพูดถึงปัญหาแล้ว เพราะได้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร เรารู้ว่าต้องทำอะไรแล้ว และมั่นใจว่าเราจะเห็นภาพที่ดีร่วมกันในอนาคต

“เลิกมองเสียทีว่าเด็กเก่งแล้วจะมีความสุข แต่ให้มองว่าเมื่อเด็กมีความสุข เด็กจะเก่งเอง เด็กต้องรู้วิธีการแก้ปัญหาให้กับตัวเอง รู้จักคิดกับเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เราตีกรอบให้เขาไปในทุกเรื่อง” ดารณี ย้ำ