posttoday

จิตอาสาเฉพาะกิจ "รปภ.-จราจร" งานใหญ่สังเกตสิ่งผิดปกติ

09 ตุลาคม 2560

จิตอาสาเฉพาะกิจเกือบ 1,000 ชีวิตมุ่งมั่นเตรียมพร้อมลงแรงลงใจครั้งสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงร.9

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

จิตอาสาเฉพาะกิจเกือบ 1,000 ชีวิต แสดงออกผ่านสีหน้าที่มุ่งมั่นตั้งใจรับฟังการอธิบายเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ด้านงานรักษาความปลอดภัย และงานจราจร ที่จะเตรียมพวกเขาให้พร้อมกับการลงแรงลงใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ต.ค.2560

หน่วยรับผิดชอบหลักที่อธิบายแนวทางการปฏิบัติให้กับจิตอาสาเหล่านี้อย่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ก็แข็งขันไม่ต่างกัน เห็นได้จากการระดมนายตำรวจที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมอธิบายและอบรมให้จิตอาสาที่สโมรสตำรวจ

เสียงเปล่งตะโกนก้องจากจิตอาสาด้วยคำว่า “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ดังสนั่นก่อนเริ่มการอบรม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นเต็มที่

ความมุ่งหวังของตำรวจสะท้อนได้จาก พล.ต.ต.ดุสิต สมศักดิ์ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ที่มาเป็นประธานในการอบรมครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่การทำงานที่สำเร็จลุล่วง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกทั้งยังน้อมนำพระราโชบาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดตั้งจิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีในส่วนงานของตำรวจ

“เป้าหมายคือในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ให้จิตอาสาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนงานที่ 7 คืองานรักษาความปลอดภัย และส่วนงานที่ 8 คืองานด้านจราจร จากจำนวนจิตอาสาที่ได้ลงทะเบียนร่วมปฏิบัติหน้าที่ในส่วนดังกล่าวมีอยู่ทั้งหมด 1.8 หมื่นคน เราเชื่อว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี” พล.ต.ต.ดุสิต ย้ำ

ขณะเดียวกัน จิตอาสาเฉพาะกิจที่ส่วนใหญ่เป็นประชาชนนั้น ตำรวจก็มุ่งหวังที่จะแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในด้านบริการ อำนวยความสะดวกให้กับผู้มาร่วมงานตามจุดต่างๆ ที่จัดเตรียมให้ทั่วทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร รักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงสอดส่องดูแลคอยแจ้งข้อมูลข่าวสาร ให้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ สำเร็จไปด้วยดี

ข้อรายละเอียดในหน้าที่ปฏิบัติของจิตอาสาเฉพาะกิจส่วนงานนี้ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ของจิตอาสา พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผู้กำกับการศูนย์ฝึกอบรม บช.น. อธิบายให้จิตอาสารับทราบว่า เริ่มจากงานรักษาความปลอดภัย จิตอาสาที่ผ่านการอบรมจะได้รับบัตรประจำตัวสีแดงที่ทางการออกให้เพื่อแสดงตัวตน หน้าที่คือจะต้องสอดส่องดูแลความปลอดภัย ทั้งด้านของสถานที่ บุคคล และแจ้งข้อมูลสำคัญที่จะประสานกับตำรวจในพื้นที่นั้นๆ ที่จิตอาสาได้ปฏิบัติหน้าที่ และต้องเป็นคนที่สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ซึ่งหน้า ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถือว่าจิตอาสาได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว

“งานรักษาความปลอดภัยไม่ใช่ว่าจิตอาสาจะต้องเข้าไปอยู่ภายในงานพระราชพิธี แต่การทำงานจะเป็นลักษณะการสังเกตพฤติกรรมของบุคคลต้องสงสัย หรือวัตถุต้องสงสัยต่างๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันสำคัญ และจิตอาสาด้านนีจะต้องมีคุณสมบัติที่เป็นคนช่างสังเกต ส่วนเทคนิคด้านอื่นๆ เช่น การจดจำรูปพรรณสันฐาน ลักษณะต้องสงสัย ตำรวจจะเสริมความรู้ให้ในการอบรม” พ.ต.อ.อุเทน อธิบาย

ขณะที่งานด้านจราจร พ.ต.อ.อุเทน อธิบายว่า งานด้านจราจรจะมีบัตรประจำตัวเป็นบัตรสีชมพู หน้าที่คือ ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในทุกด้าน ทั้งการห้ามรถ การจอดรถ ช่วยดูแลบริเวณทางข้ามถนนสำหรับประชาชนที่มาร่วมงาน รวมถึงการแนะนำเส้นทางซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก โดยจิตอาสาจะต้องรู้พิกัดของพื้นที่ ทางลัด และยังรวมไปถึงการช่วยแจ้งอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งหากเกิดเหตุจะต้องเร่งเคลื่อนย้ายรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้การจราจรเกิดติดขัด

พ.ต.อ.อุเทน เสริมว่า อีกนัยของงานด้านจราจรก็เกี่ยวเนื่องไปยังงานรักษาความปลอดภัยด้วยเช่นกัน เพราะขณะที่จิตอาสาอำนวยความสะดวกอยู่นั้น จะต้องมีเทคนิคการสังเกตบุคคล รถยนต์ที่อาจต้องสงสัยหรือไม่ประสงค์ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมองเข้าไปในรถยนต์ การมองไปยังท้ายกระบะ หรือรถยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน หากมีเหตุให้ต้องสงสัยจะช่วยเร่งแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที

จิตอาสาเฉพาะกิจ "รปภ.-จราจร" งานใหญ่สังเกตสิ่งผิดปกติ

เห็นได้ชัดว่าสัดส่วนงานจิตอาสาเฉพาะกิจที่ขึ้นตรงกับตำรวจนับเป็นงานที่สำคัญไม่น้อย โดยหลังจากที่อธิบายถึงแนวทางปฏิบัติและความคาดหวังที่ขอความร่วมมือกับจิตอาสาแล้ว ตำรวจได้แบ่งจิตอาสาตามหน้าที่ทั้งสองด้าน เพื่อไปอบรมเชิงปฏิบัติที่มีเจ้าหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลและองค์ความรู้เอาไว้ให้ โดยมุ่งเน้นไปที่การสังเกตสิ่งผิดปกติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคํญของงานด้านการรักษาความปลอดภัย และการอบรมกฎหมายจราจรเบื้องต้นรวมถึงสัญญาณการจราจรต่างๆ ในการใช้บังคับรถบนท้องถนน

 

เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จิตอาสาจะต้องเข้าร่วมอบรมในทุกกระบวนการ หากไม่เช่นนั้นแล้วในวันงานพระราชพิธีจะไม่ได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ จิตอาสาจะต้องเตรียมพร้อมร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้จำเป็นประจำตัว และที่สำคัญจะต้องไปรายงานตัวที่กองอำนวยการร่วมในแต่ละพื้นที่ก่อนงานพระราชพิธีจะเริ่ม 4  ชั่วโมง เพื่อรับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ และรับข้อมูลสำคัญไว้แนะนำกับประชาชนที่จะเข้ามาซักถามและขอความช่วยเหลือ

ความรู้สึกของจิตอาสาเฉพาะกิจที่มาร่วมอบรมอย่างกรวิทย์ (ไม่ขอเผยนามสกุล) หนุ่มกลางคนอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างย่านบางเขน บอกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่ารู้สึกดีใจที่ได้เป็ส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่จิตอาสาเฉพาะกิจ และตั้งใจทำทุกหน้าที่ที่ตำรวจจะจัดแบ่งและมอบหมายให้ และทั้งหมดที่ตั้งใจก็เพื่อถวายในหลวงร.9 เป็นครั้งสุดท้าย

ท้ายสุด การอบรมจะจัดไปถึงวันที่ 19 ต.ค.นี้ตามจุดต่างๆ ที่กำหนดเช่น สโมรสรตำรวจ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มหาวิทยาลับราชมงคลกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยจัดเตรียมการอบรมจิตอาสาทั้ง 1.8 หมื่นคนไว้ทั้งหมด 7 รุ่น โดยวันนี้เป็นการอบรมรุ่นที่ 1 ก่อนที่จะส่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ต่อไป