posttoday

ระบบพยากรณ์มีปัญหา เตือนภัยระดับพื้นที่ไม่ได้-ใต้เสี่ยงแล้ง

09 สิงหาคม 2560

"ที่น่ากังวลคือระบบเตือนภัย รับมือพายุเล็กๆ ระดับดีเปรสชันยังมีช่องโหว่ขนาดนี้ หากเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นจะยิ่งประสบปัญหาหนักเพราะการเตือนพิบัติภัยของเรากำลังล้าหลังไม่เท่าทันปัญหาสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้ยากขึ้นทุกที"

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน , กันติพิชญ์ ใจบุญ

แม้พายุจะนำพาเม็ดฝนโหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่คำถามที่ตามมาคือ จะการันตีได้หรือไม่ว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรรม

จากข้อมูลของ “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” หรือ Thai Water ระบุสถานการณ์ล่าสุดของน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เก็บน้ำไว้ล่าสุดที่จำนวน 13,311 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 50%

ในจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอต่อการใช้น้ำหรือไม่ และในอนาคตทิศทางของสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรที่มีผลต่อการบริหารจัดการน้ำ

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ภาพถึงสถานการณ์น้ำไว้อย่างน่าสนใจ โดยฉายภาพว่า ระดับกักเก็บน้ำใน 4 เขื่อนหลักของภาคกลางที่อยู่ในระดับ 50% นับว่าเพียงพอต่อการทำการเกษตรกรรมในปีหน้าแน่นอน และปริมาณน้ำก็มากกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น ภาคกลางค่อนข้างหายห่วงได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นอีก 2 ลูกที่อาจจะเข้ามาเยือนประเทศไทยอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากพายุดังกล่าวพัดพาฝนตกเหนือเขื่อนก็จะทำให้ภาคกลางมีน้ำมากถึง 80% และเพียงพอจะทำนาปรังได้เต็มพื้นที่มากกว่าปีที่ผ่านมาอีก 2 ล้านไร่

“แต่แนวโน้มล่าสุดที่ได้ติดตามพายุไต้ฝุ่นหากเข้ามาจะอยู่ใต้เขื่อน หากเป็นเช่นนั้นน้ำฝนก็ไม่ตกลงมาในเขื่อน ก็จะมีผลกระทบต่อการทำนาในปีถัดไปบ้าง แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าภาคกลางจะไม่กระทบภัยแล้งเหมือนกับปีที่ผ่านมา เพราะขณะนี้น้ำที่กักเก็บไว้ก็มากกว่าเดิมแล้ว” รศ.สุจริต ย้ำ

เมื่อภาคกลางค่อนข้างไร้กังวลดังที่นักวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ รายนี้ได้วิเคราะห์ แต่กับสถานการณ์ภาคอื่น เช่น อีสานที่ปริมาณน้ำมากเกินไปจนกลายเป็นน้ำท่วมดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ และในภาคใต้นั้น อาจจะต้องเจอภัยแล้งแทนที่ฤดูฝนที่กำลังจะมาในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกับที่ผ่านมา และฝนจะน้อยลง

“นั่นเพราะสภาพอากาศจะทำให้อบอุ่นขึ้นในเขตภาคใต้ แต่ที่ดีคืออาจจะไม่เจอน้ำท่วมเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่ก็จะเจอภัยแล้งเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ด้านสถานการณ์น้ำที่ต้องการใช้บริโภคอุปโภคยังไม่ถือว่าเป็นกังวล” รศ.สุจริต คาดการณ์

สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้บางพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมก็เกิดขึ้น เฉกเช่นที่ จ.สกลนคร เป็นต้น

บทเรียนสำคัญในการป้องกันรับมือกับพายุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้น จากมุมมองของ ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทยและ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา ที่ถอดบทเรียนจากพายุทีเกิดขึ้นล่าสุดว่า เรื่องที่ต้องระวังน้ำท่วมจากบทเรียนได้กรณีน้ำท่วมที่ จ.สกลนครคือ พบว่า สาเหตุหนึ่งมาจากสภาพอากาศผิดปกติ ซึ่งคาดการว่าอิทธิพลของพายุเซินกาจะสลายตัว แต่ด้วยอิทธิพลของพายุเนสาด และอุณหภูมิของน้ำในทะเลจีนใต้ที่ทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้อิทธิพลของพายุเซินกากลับมาเพิ่มปริมาณฝน ในวันที่ 27-29 ก.ค.ที่ผ่านมา

“ปรากฏการณ์ที่กล่าวมาถือเป็นลักษณะอากาศผิดปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมที่ พัทยา เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2558 ที่ระบบพยากรณ์อากาศของเราที่มีไม่สามารถบอกได้ จึงไม่สามารถเตือนภัยระดับพื้นที่ได้ ระบบพยากรณ์ที่มีสามารถบอกได้เพียงสภาพอากาศในภาพใหญ่ๆ เพราะมีเครื่องมือจำกัด เป็นเครื่องมือพยากรณ์อากาศที่พัฒนามาจากที่ใช้กับภาคเกษตรกรรม แต่ไม่ใช่สำหรับสภาพอากาศที่เป็นพิบัติภัย ซึ่งจะเกิดมากขึ้นและถี่ขึ้น”

ศ.ธนวัฒน์ แสดงข้อกังวลอีกว่า ที่น่ากังวลคือระบบเตือนภัย รับมือพายุเล็กๆ ระดับดีเปรสชันยังมีช่องโหว่ขนาดนี้ หากเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นจะยิ่งประสบปัญหาหนักเพราะการเตือนพิบัติภัยของเรากำลังล้าหลังไม่เท่าทันปัญหาสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้ยากขึ้นทุกที

ระบบพยากรณ์มีปัญหา เตือนภัยระดับพื้นที่ไม่ได้-ใต้เสี่ยงแล้ง