หนี้นอกระบบคือทุกข์คนไทย ระดมหาทางออกแก้ไขปัญหา
ประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบ ทำให้การดำเนินชีวิตถูกบั่นทอนจากดอกเบี้ยโหดที่กู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย
โดย...เอกชัย จั่นทอง
ประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบ ทำให้การดำเนินชีวิตถูกบั่นทอนจากดอกเบี้ยโหดที่กู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย วงเสวนาในเวทีการพัฒนาระบบหนี้ที่เป็นธรรมในสังคมนิติธรรมของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือทีไอเจ ได้ชำแหละปัญหาหนี้นอกระบบอย่างน่าสนใจ
ธิปไตย แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ภาพเรื่องหนี้นอกระบบว่า จากข้อมูลศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปี 2560 พบว่า คนไทยใน 10 ล้านครัวเรือนมีหนี้สิน โดย 91% เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียวเฉลี่ยประมาณ 1.5 แสนบาท/ครัวเรือน ขณะที่อีก 4.9% เป็นหนี้นอกระบบประมาณ 3,346 บาท/ครัวเรือน บางรายเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 3.8 หมื่นบาท/คน และอีก 3.7% เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ และอาชีพกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ แรงงาน จะเป็นกลุ่มคนที่มีหนี้มากที่สุด แต่ที่น่าตกใจคือ 79% เคยผิดช้ำระหนี้
“ข้อมูลยังพบว่า คนกู้เงินนอกระบบราว 27% มีปัญหาเรื่องการชำระ สาเหตุเพราะจากสัญญาไม่เป็นธรรม ดอกเบี้ยแพง ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนไปถึงการถูกข่มขู่คุกคามใช้ความรุนแรงทวงหนี้ และผลพวงสุดท้ายสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจนเสียหน้าที่การงานในที่สุด” นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ มองภาพปัญหาหนี้นอกระบบ
อีกด้านจาก พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม แบ่งกลุ่มอาชีพที่มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.พ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ 2.รัฐวิสาหกิจไม่น่าเชื่อกลุ่มนี้จะตกเป็นหนี้นอกระบบเช่นกัน 3.ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการในต่างจังหวัด อย่างข้าราชการครู มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ และ 4.เกษตรกร มีปัญหาเรื่องเงินกู้นอกระบบอย่างรุนแรง เพราะนายทุนในพื้นที่ได้ทุกอย่างทั้งเครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร มีสินค้าให้กู้ยืม และการทำสัญญาขายฝากเพียงแค่เซ็นแล้วนำโฉนดที่ดินมาวางไว้เท่านั้น
พ.ต.ท.วิชัย ระบุว่า เกษตรกรถูกให้ทำสัญญาเงินกู้อย่างเสียเปรียบ เช่น การทำสัญญาขายฝากพวกโฉนดที่ดินต่างๆ เป็นเพราะนายทุนต้องการที่ดินมาก เมื่อสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม เกษตรกรก็สุ่มเสี่ยงต่อการเสียที่ดินเพราะเงินกู้ เนื่องจากครบกำหนดชำระหากไม่มีเงินไปไถ่ ทรัพย์ก็จะตกเป็นของเจ้าหนี้ทันที ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ เผยว่าทั่วโลกมีการพูดถึงเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค (FinTech) ซึ่งอาจเป็นทางออกของประชาชนที่อยู่ห่างไกลให้ถึงสถาบันการเงิน แต่ตัวเทคโนโลยีจะช่วยบีบช่องว่างได้มากน้อยขนาดไหน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ธนาคารจะเน้นกลุ่มลูกค้า และชนชั้นกลางในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงศักยภาพของฟินเทคมีมากกว่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้เรื่องการปล่อยสินเชื่อ ข้อมูลต่างๆ ของตัวบุคคลเจ้าหนี้มีการดูแลรักษาดีแค่ไหน เพราะคนกลัวว่าหลังทำสัญญาเสร็จแล้วมีคนโทรมาขายของทันที ซึ่งมองถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวและเรื่องระบบด้วยจะสามารถรู้หรือไม่ว่ามีคนเข้ามาแฮ็กข้อมูลของเจ้าหนี้ แล้วลูกค้าจะได้รับการปกป้องอย่างไรบ้าง
“การปล่อยเงินกู้ของเจ้าหนี้ต้องดูความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าว่าสามารถส่งได้หรือไม่ ไม่ใช่มองเรื่องการไม่สามารถชำระเงินได้ก็นำข้อผูกมัดเรื่องทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ ทำให้ถูกยึดทรัพย์ ดังนั้นควรมีเกณฑ์ในการปล่อยกู้ให้ชัดเจน และผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน” สฤณี กล่าว
อีกสิ่งที่สฤณีมองเห็นคือ ปัญหาของหนี้นอกระบบคือกลุ่มเหล่านี้ไม่มีรายได้พอกับรายจ่าย และไม่มีหนทางในผ่อนชำระหนี้ นั่นอาจเป็นโจทย์ของสถาบันการเงิน ภาครัฐ ที่ต้องคิดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยได้อย่างไร หากใช้กฎหมายยังคงไม่ได้ผล แม้กฎหมายจะมีความสำคัญ แต่เราจะทำให้อย่างไรแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เกิดความยั่งยืน เพื่อคนไทยจะไม่ตกเข้าวงจรนั้นอีก ไม่ใช่เพียงแก้ไขชั่วคราว
สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษา ศาลฎีกา ให้ภาพปัญหาหนี้นอกระบบว่า ผลศึกษาจะเห็นว่าส่วนใหญ่คนจนถูกฟ้องมากที่สุด ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความเหลื่อมล้ำ ทั้งตัวสัญญาการกู้เงินไม่เป็นธรรม ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ล้วนเป็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้องทางคดี
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษา ทิ้งท้ายว่า มีความเป็นได้หรือไม่ที่จะมีหน่วยงานโดยตรงเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเข้ามาจัดการรับเรื่องราวต่างๆ ทำงานเป็นวันสต็อปเซอร์วิสเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อลดการฟ้องร้อง การทำงานในรูปแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จอาจจะเป็นคำตอบ และการดำเนินการควรครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวที่เมืองหลวงเพียงอย่างเดียว