posttoday

"คิดไม่รอบด้าน-ส่อเอื้อผลประโยชน์" เสียงสะท้อนถึงโครงการสะพานคนเดินท่าพระจันทร์-ศิริราช

17 กรกฎาคม 2560

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้ง Friends of the River แสดงความกังวลและตั้งคำถามในหลากหลายแง่มุมของโครงการ สะพานคนเดิน ท่าพระจันทร์-ศิริราช

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

โครงการสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช ของกรุงเทพมหานคร กำลังเป็นประเด็นร้อนและอยู่ในความสนใจของชาวกรุง

โครงการนี้ถูกเปิดเผยในที่ประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยกรุงเทพฯ ว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,710 ล้านบาท รูปแบบสะพานมี 2 ชั้น ความยาวประมาณ 300 เมตร กว้าง 9 เมตร ความสูงระหว่างชั้น 4 เมตร มีลิฟต์ บันไดเลื่อน

วัตถุประสงค์ของสะพานแห่งนี้มีไว้ สำหรับคนเดิน ทางจักรยาน ทางสำหรับผู้พิการ สวนสาธารณะ เเละมีบริการรถกอล์ฟให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางไปโรงพยาบาลศิริราช ตั้งใจออกแบบโดยคำนึงถึงชีวิตตามวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมภาพลักษณ์ของประเทศ และเชื่อว่าจะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวรวมถึงเพิ่มทางเลือกการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

ท่ามกลางความปรารถนาดีของผู้พัฒนาโครงการ อีกด้านหนึ่ง ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Friends of the River แสดงความกังวลและตั้งคำถามในหลากหลายแง่มุมของโครงการ

ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บท

ว่าไปแล้วแนวคิดสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปรากฎความเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2553 สมัยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โดยระบุว่าต้องการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนกรุงให้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว ความเคลื่อนไหวเงียบหายไปจนกระทั่งกลับมาเป็นข่าวและมีรูปแบบโครงการเปิดเผยผ่านสื่ออีกครั้งเมื่อช่วงต้นปี 2560

ยศพล บอกว่า หากย้อนไปดูแผนแม่บทของการพัฒนาริมฝรั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. จะพบว่า ไม่ได้มีการระบุการเชื่อมต่อของสะพานคนข้ามบริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราชเลย รวมถึงไม่พบแผนจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่นกัน  สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังจนสามารถชี้ชัดได้ว่า กรุงเทพฯ ควรจะมีสะพานแห่งนี้

“เท่าที่ทราบ มีแค่ กทม. ที่อยากทำ ซึ่งมันไม่ได้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ การไม่สอดคล้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีแผนแม่บทที่ดีพอและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ยศพล บอกว่า การพัฒนาจำเป็นต้องกำหนดโจทย์ โฟกัสจุดประสงค์และความต้องการของโครงการและสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจน โดยประเมินผลกระทบ ทำการศึกษาอย่างรอบด้าน ก่อนจะเปิดเผยข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณชน

สำหรับบริเวณ ท่าพระจันทร์-ศิริราช ถือเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ที่รัฐบาลอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กทม. ยังแสดงความต้องการให้เกาะรัตนโกสินทร์เเละภูมิทัศน์ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกของยูเนสโกอีกด้วย

“เราให้น้ำหนักกับเรื่องใดเป็นสำคัญ ถ้าต้องการอนุรักษ์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ก็น่าสนใจว่า หากมีสิ่งปลูกสร้างลักษณะนี้จะเป็นการลดทอนคุณค่าและโอกาสของการเป็นมรดกหรือเปล่า หากต้องการอนุรักษ์พื้นที่ น่าจะมีทางเลือกอื่นในการเชื่อมต่อที่ดีกว่า เช่น สร้างสะพานในพื้นที่อื่น พัฒนาระบบขนส่งทางเรือ”

 

"คิดไม่รอบด้าน-ส่อเอื้อผลประโยชน์" เสียงสะท้อนถึงโครงการสะพานคนเดินท่าพระจันทร์-ศิริราช ภาพเปรียบเทียบระหว่างแบบสะพานศิริราช-ท่าพระจันทร์ กับ Millennium Bridge ของอังกฤษ จาก Friends of the River

 

คิดไม่รอบด้าน-ส่อเอื้อผลประโยชน์

นอกจากเป้าหมายและผลกระทบไม่ชัดเจนแล้ว การบูรณาการกับแผนพัฒนาเมืองด้านอื่น การประชาสัมพันธ์และเปิดรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนก็เป็นอีกเรื่องที่สถาปนิกรายนี้กังวล

ยศพล บอกว่า โครงการนี้คิดเพียงแค่เรื่องทางข้ามแม่น้ำเท่านั้น ผิดกับในประเทศที่เจริญแล้ว มักคิดรอบด้านผนวกแผนพัฒนาเมืองเข้าไปด้วย มองการเชื่อมต่อเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่สำคัญของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาที่ดินระหว่างรัฐและเอกชน ไม่ใช่เชื่อมเส้นทางแล้วไม่มีแผนรองรับในอนาคต

ทั้งนี้การรับฟังความเห็นเฉพาะผู้ที่เห็นด้วย อ้างเรื่องการพัฒนาชุมชนฝั่งธนบุรี ช่วยเหลือผู้พิการและผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า กทม. จำเป็นต้องมีสะพานขนาดใหญ่บริเวณนี้  เนื่องจากมีวิธีการอื่นที่อาจคุ้มค่ากว่า

“เขาไม่ได้คิดเรื่องแผนโดยรวม อาจจะกำลังสร้างในสิ่งที่เมืองไม่ต้องการ  ทั้งที่จริงควรจะมีการศึกษาว่าเราได้ประโยชน์อย่างไร สะพานสำคัญแค่ไหน ผู้พัฒนารู้อยู่แล้วว่าจะไปหาเสียงสนับสนุนจากที่ใด แต่เสียงสนับสนุนต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่คุณทำ ต้องมีข้อเท็จจริงให้สังคมได้ชั่งน้ำหนัก ไม่ใช่ทำโครงการ โดยเลือกเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับธงที่ตั้งไว้แล้ว เพื่อส่งทีโออาร์และรับเอาค่าจ้างที่ปรึกษาจำนวนมหาศาลไป”

“น่าสงสัยว่ามีการชงโครงการขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือเปล่า คำถามคือ คุณทำการศึกษาโครงการขึ้นมาโดยไม่ได้หวังผลว่า การศึกษานี้จะนำไปสู่การสร้างจริง เมื่อคุณก็ได้เงินตัวนี้ไปแล้ว”

สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบสะพานแห่งนี้  สำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา ได้ลงนามว่าจ้าง 4 บริษัทที่ปรึกษาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2559 ประกอบด้วย 1. บริษัท เอกซิลอน จำกัด 2. บริษัท ไฟนอล ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด 3. บริษัท แพลนโปร จำกัด และ 4. บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงินงบประมาณ 49.4 ล้านบาท ระยะเวลา 9 เดือน

 

"คิดไม่รอบด้าน-ส่อเอื้อผลประโยชน์" เสียงสะท้อนถึงโครงการสะพานคนเดินท่าพระจันทร์-ศิริราช สะพาน Millennium Bridge กรุงลอนดอน ภาพจาก http://annekhor.blogspot.com/2013/12/the-millennium-bridge-london.html

 

ยศพล ยกตัวอย่างการสร้างสะพานทางเท้ามิลเลนเนียมลอนดอน แห่งอังกฤษ (Millennium Bridge)  สะพานแขวนโครงสร้างเหล็กสำหรับคนเดินที่สร้างข้ามแม่น้ำเทมส์ ที่มีอายุราว 17 ปี รวมถึงโครงการสะพานเฮลิกซ์ ข้ามอ่าวมารีน่า เบย์  ของสิงคโปร์ ให้เป็นโครงการเรียนรู้สำหรับกรุงเทพฯ

อังกฤษวางแผนเรื่องการพัฒนาเมืองก่อน ต้องการเชื่อมย่านธุรกิจของลอนดอนเข้ากับย่าน South Bank เพื่อกระจายการพัฒนาเมืองมาอีกฝั่งของแม่น้ำ และเป็นการเชื่อมให้นักท่องเที่ยวและคนลอนดอนสามารถเดินมายังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อีกฝากของแม่น้ำได้อย่างสะดวก

“ทุกคนเข้าใจว่าอ่อ...เราต้องมีสะพาน เพราะมันเกิดประโยชน์ ตอบโจทย์แผนพัฒนาเมืองที่ต้องการ ที่สำคัญเขารู้ว่าตรงจุดนั้นเป็นเมืองเก่าต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทำให้สะพานบางเบา ไม่มีเสาสูงขนาดใหญ่ เพื่อกระทบกับภูมิทัศน์ต่างๆ ให้น้อยที่สุดหรือพูดอีกอย่างว่า อยู่ร่วมกับภูมิทัศน์โดยรอบได้”

ด้านโครงการสะพานเฮลิกซ์ของสิงคโปร์ เริ่มต้นจากการประกาศว่าจะพัฒนาอ่าวมารีน่า เบย์ แผนดังกล่าวนำไปสู่การเชื่อมต่อทั้งรถและคน รัฐประกาศในเว็บไซต์ ระบุตัวเลขงบประมาณ จัดการประกวด และให้ประชาชนได้เลือกสิ่งที่พวกเขาเห็นดีที่สุด

“เขาพยายามจะอธิบายแผนงานและความจำเป็นให้ประชาชนเข้าใจ เสร็จแล้วก็มีการประกวดแบบเพื่อให้ทางเลือกในการพัฒนา มองกลับมาที่บ้านเราตอนนี้ กทม. รวบทุกอย่าง ไม่บอกว่าแผนทำอะไร เสนองบประมาณด้วยตัวเองและเปิดช่องให้ธุรกิจบางอย่าง ซึ่งน่าสังเกตถึงความโปร่งใส”

อย่างไรก็ตาม  ผู้ร่วมก่อตั้ง Friends of the River เชื่อว่า สุดท้ายแล้วโครงการนี้มีโอกาสสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ คาดว่าต้องถูกปฏิเสธจาก คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าและกรมศิลปากร

“ผมเชื่อว่าคณะกรรมการต้องถามกลับไปยังแผนแม่บทในการพัฒนาอยู่ดี ว่าแผนนี้มาจากไหน ซึ่งถ้าตอบไม่ได้ก็คงสำเร็จยาก แต่ว่าไปแล้วก็มีโอกาสชี้แจงและปรับปรุงจนผ่านได้เหมือนกัน”

"คิดไม่รอบด้าน-ส่อเอื้อผลประโยชน์" เสียงสะท้อนถึงโครงการสะพานคนเดินท่าพระจันทร์-ศิริราช สะพานเฮลิกซ์ ในสิงคโปร์  ภาพจาก Jeffrey Pioquinto, SJ เว็บไซต์ http://www.thousandwonders.net/The+Helix+Bridge

 

ปฏิรูป กทม. ให้เป็นความหวังของประชาชน

สิ่งที่สถาปนิกรายนี้คาใจและอยากตั้งคำถามก็คือ การบริหารจัดการของหน่วยงานใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร

ยศพล บอกว่า การบริการจัดการของกรุงเทพฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักมีแต่โครงการที่ขัดแย้งกับแผนแม่บท มีการใช้เงินงบประมาณที่น่าสงสัย ไม่มีประสิทธิภาพของแผนหรือผลงานที่ออกมา นับเป็นเรื่องสูญเสียโอกาสอย่างมาก น่าเสียใจหากการพัฒนาเมืองในอนาคตยังตกอยู่ในวังวนนี้

เขาบอกว่า ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการพัฒนาเมืองให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน

“ในต่างประเทศจะมีกลไลพัฒนาเมืองที่เป็นกลไลร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ที่มาทำโครงการเพื่อประโยชน์ของคนเมืองร่วมกัน เป็นกลไกที่เป็นอิสระจากอำนาจของรัฐโดยตรงคือทุกคนเชื่อใจในกลไกนี้ ทำข้อเสนอที่อิงกับหลักวิชาและความสำคัญจำเป็นจริงๆ เพื่อให้สังคมได้พิจารณา”

ยศพล บอกว่า หากไม่มีกลไกความร่วมมือระหว่างกัน การทำงานก็จะเป็นไปในลักษณะแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ ไม่อ้างอิงกับแผนหรือแผนไม่สามารถบังคับใช้ได้ นำไปสู่การเสนอโครงการโดยขาดการรับฟังความคิดเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีการรับผิดชอบ และสร้างระยะห่างระหว่างประชาชนและหน่วยงานรัฐมากขึ้น

“กทม. เป็นหน่วยงานที่ควรปฏิรูปมาก มีงบประมาณมหาศาล สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนได้มาก แต่โครงการที่ผ่านๆ มา มีแต่คำถามเต็มไปหมด โยงไปถึงเรื่องคอรัปชั่นด้วย ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างประชาชนกับรัฐ ความคาดหวังของประชาชนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเริ่มเป็นการไม่ไว้วางใจ”

ภูมิสถาปนิก และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Friends of the River ทิ้งท้ายว่า ทุกโครงการไม่ควรเป็นการตันสินใจจากคนกลุ่มเดียวและสังคมไม่ได้ประโยชน์หรือความรู้กลับไปว่า “ทำไมเมืองเราต้องมีสิ่งนี้ด้วย”