posttoday

ก้าวหน้าหรือถอยหลัง รัฐไทยกับการคุ้มครองสิทธิสตรี

15 กรกฎาคม 2560

การจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติจะจัดทำข้อสังเกตเชิงสรุป ซึ่งรวบรวมข้อคิดเห็นภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ส่งกลับมายังรัฐบาลไทย

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

การนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรืออนุสัญญา The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW) ของรัฐบาลไทยต่อคณะกรรมการ CEDAW ของสหประชาชาติที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จบลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

อนุสัญญา CEDAW เป็นอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นเรื่องสิทธิสตรี รวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนประเด็นอื่นๆ ต่อสตรี โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2528 โดยรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ

การรายงานในครั้งนี้ นภา เศรษฐกรรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับหน้าที่หลักในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และมีผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นตัวแทนในการตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ CEDAW ของสหประชาชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการรายงานของรัฐบาลไทยเป็นการนำเสนอรายงานที่จัดทำขึ้นคู่ขนานจากภาคประชาสังคม อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ได้เป็นตัวแทนของกรรมการสิทธิขึ้นอ่านรายงาน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันในหลายเรื่อง อาทิ ประเด็นของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นหญิงพิการ แรงงานหญิง แรงงานหญิงข้ามชาติ ผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้ลี้ภัยหญิง ผู้ต้องขังหญิง โดยในรายงานของทั้งสองคณะระบุว่าผู้หญิงเหล่านี้ต่างเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

ทั้งนี้ ในส่วนเนื้อหาของการรายงานของรัฐบาลไทยต่อคณะกรรมการ CEDAW ได้มีรายละเอียดที่พูดถึงการดำเนินการที่เกี่ยวกับผู้หญิงในประเทศไทยของรัฐบาล อาทิ ประเด็นการค้ามนุษย์ ประเด็นข้อมูลด้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การคุ้มครองสิทธิกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประเด็นสถานการณ์สตรีและการมีส่วนร่วมของสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงโดยรัฐที่พนักงานบริการ

คณะกรรมการ CEDAW ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยในหลากหลายประเด็นถึงบทบาทของรัฐในการดูแลเรื่องเหล่านี้ อาทิ การดูแลคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง การเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของผู้หญิง ความแตกต่างของศาลทหารและศาลพลเรือน ประเด็นสิทธิของผู้หญิงที่ทำงานเป็นพนักงานบริการที่ต้องถูกปฏิบัติด้วยการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบุกทลายและล่อซื้อ และประเด็นเรื่องการคุ้มครองพนักงานบริการตามกฎหมายแรงงาน การปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้

โดยภาคประชาสังคมได้ร่วมกันสะท้อนถึงแนวคำตอบของรัฐบาลไทยบางประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งประเด็นคำถามเรื่องความเป็นธรรมและการดูแลคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่ม ฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ได้สะท้อนถึงการตอบคำถามของรัฐบาลไทยและการดำเนินการที่เธอต้องประสบพบเจอว่า "รัฐได้ตอบคำถามเรื่องนี้ที่เราฟังแล้วก็รู้สึกแปลกใจอยู่พอสมควร เพราะรัฐบอกไปว่าได้มีมาตรการคุ้มครองดูแล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ซึ่งก็คือการจัดทำคู่มือร่วมกับภาคประชาสังคม และการเตรียมนิยามคำว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมเป็นกลุ่มเป้าหมายในร่างแผนสิทธิมนุษยชนของชาติฉบับที่ 4 ทั้งที่ความจริง ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อบ้านเกิดยังถูกปฏิบัติแบบเดิมซ้ำๆ ทุกวัน

ปรีดา ปานเมือง ตัวแทนสตรีจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการจัดสรรที่ดินทำกินที่เป็นธรรมในรูปแบบของโฉนดชุมชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ภายใต้เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เธอบอกว่าการตอบคำถามเรื่องการดูแลพวกเราที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการจัดทำคู่มือ จึงสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ารัฐไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองดูแลหรือปกป้องพวกเราอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สำหรับก้าวต่อไปหลังจากการรายงานของทุกฝ่ายเสร็จสิ้นสุดลงใน ครั้งนี้คือ การจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติจะจัดทำข้อสังเกตเชิงสรุป ซึ่งรวบรวมข้อคิดเห็นภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ส่งกลับมายังรัฐบาลไทย และจะเผยแพร่สาธารณะต่อไปในลักษณะใด เพราะสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในการรายงานครั้งนี้คือ การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของรัฐบาลไทยทั่วโลก