posttoday

เมื่อเกรียนเล่น "โดรน" อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวทำตายทั้งฝูง

13 กรกฎาคม 2560

อากาศยานไร้คนขับ ที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในน่านฟ้ากำลังถูกจับตามอง และตั้งคำถามถึงความปลอดภัย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เร็วๆ นี้มีบุคคลนำคลิปวิดีโอ ซึ่งถ่ายบริเวณสนามบินของกองทัพอากาศเป็นภาพมุมสูงจากโดรนไปเผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนชอบเเละติดใจอากาศยานไร้คนขับอย่างโดรน สามารถควักกระเป๋าสตางค์เพียงแค่หลักพันเพื่อซื้อหาได้ง่ายๆ

คำถามเเละความกังวลครั้งใหญ่ จึงตกไปอยู่ที่การควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้เกิดผลกระทบ

ตัวเล็กปัญหาใหญ่

โดรนนั้นสามารถสร้างประโยชน์ใหักับสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานสำรวจ งานสนับสนุนการท่องเที่ยว วงการสื่อสารมวลชน ตลอดจนงานด้านการทหาร อย่างไรก็ตามมือสมัครเล่นที่เข้าถึงอุปกรณ์ได้ง่ายกำลังสร้างปัญหา

ธานินทร์ วงศ์อาษา ผู้เล่นโดรนมากประสบการณ์ บอกว่า ที่ผ่านมาวงการนักบินโดรนมืออาชีพ คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และพยายามเตือนนักบินรุ่นใหม่ๆ ให้บินกันโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนและทรัพย์สินเบื้องล่าง ไม่บินสูงเข้าไปในเส้นทางการบิน หรือแนวขึ้นลงของเครื่องบินพาณิชย์ แต่สุดท้ายก็มีคนที่อ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบินเอาสนุกเป็นการส่วนตัว แถมเผยแพร่ออกสื่อโชเชียลในวงกว้าง กลายเป็นปลาเน่า 1 ตัว ทำให้ปลาทั้งบ่อจะตายไปด้วย

“พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งเสมอ บินโดรนด้วยสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม อย่าเอาแต่ความสนุกส่วนตัวอย่างเดียว”

เขาบอกว่า โดรนที่เป็นข่าวบินท้ายรันเวย์กองทัพอากาศ ไม่ใช่โดรนระดับมืออาชีพ เป็นโดรน Toys Grade (Hubsan H501s) ซึ่งไม่มีการ Lock ไม่ให้บินเข้าไปในเขตสนามบินหรือ No Fly Zone หรืออาจจะมี Lock แต่ถูก Hack ปลด Lock ได้อย่างง่ายดาย

ตามปกติโดรน DJI และยี่ห้ออื่นๆ ที่เป็นโดรนระดับใช้งานจริงจัง จะถูกโปรแกรม Lock No Fly Zone สนามบินต่างๆ ไว้ทั่วโลกไม่ให้บินเข้าไปใกล้ได้ หมายถึง บินเข้าไปจะถูกดีดออกเหมือนมีโดมแก้วบาเรียครอบอยู่ และจะไม่สามารถสตาร์ทมอเตอร์เพื่อขึ้นบินได้ในเขต No Fly Zone

 

เมื่อเกรียนเล่น "โดรน" อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวทำตายทั้งฝูง

“นักบินโดรนมืออาชีพจะประสานงานกับหอบังคับการบินอยู่แล้ว หากต้องทำภาระกิจที่ใกล้สนามบินหรืออยู่ในเส้นทางการบินหรือต้องทำการบินในระดับสูง ทุกคนตระหนักดีถึงเรื่องกฎความปลอดภัยของการบิน และพยายามบอกต่อไปยังนักบินรุ่นใหม่ๆ ไม่ให้กระทำความผิด

เรารณรงค์กันมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนออกกฎหมายซะอีก เพราะไม่อยากให้คนมองว่าเราเป็นตัวอันตราย และเป็นภัยต่อการบินพาณิชย์ ทราบดีว่าถ้าบินกันโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยส่วนรวม สุดท้ายแล้วเราจะถูกต่อต้านจากสังคม และกฎหมาย”

ธานินทร์ บอกว่า ปัญหาเกิดจากมือใหม่ อยากบินเลียนแบบพวกมืออาชีพ และโดรนเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้อิสระ และมีหลายรุ่นให้เลือกใช้งาน โดยเฉพาะโดรนที่เป็น Toys Grade มีให้เลือกซื้อในราคาถูก แต่ความปลอดภัยน้อย หากหลุดสัญญาณควบคุมจะบินหายไปและไม่สามารถควบคุมได้  ต่างจากโดรนระดับมืออาชีพ หากเกิดสัญญาณหลุดจากการควบคุมจะทำการเดินทางกลับมายังจุดเริ่มต้นและลงจอดเองอย่างปลอดภัย

“กฎหมายไม่ได้ไปบังคับเอาผิดโดรนของเด็กเล่นที่สร้างปัญหา เราจะยังเห็นพวก Toys Grade ราคาหมื่นต้นๆ หรืออาจจะไม่ถึงหมื่น ไปสร้างความวุ่นวายในสนามบินได้อีกแน่นอน การควบคุมการใช้งานโดรนด้วยการจดทะเบียนโดรน และออกใบอนุญาตบินโดรน ไม่สามารถใช้ควบคุมคนที่ใช้ของเล่นประเภทนี้ได้ นั่นแหละปัญหาใหญ่ของวงการโดรนมืออาชีพ เพราะถูกเหมารวมไปกับพวก Toys Drone”

ธานินทร์ ยังเห็นว่า กฎหมายในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับศักยภาพและการใช้งานของโดรน ซึ่งส่งผลกระทบต่อปฏิบัติงานของระดับมืออาชีพ

“ถ้าไปอ่านดูข้อกฎหมาย จะเห็นได้ว่า ที่ทำๆ กันมันผิดกฎหมายหลายข้อ ทั้งความสูงในการบิน ช่วงเวลาในการบินที่กำหนดให้บินระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น รวมถึงห้ามบังคับโดยมองจอ FPV ซึ่งขัดกับการใช้งานจริงมาก”

 

เมื่อเกรียนเล่น "โดรน" อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวทำตายทั้งฝูง

ถึงเวลาแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น

ครูแดง-จรูญศักดิ์ สุขวัฒโน ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเเละประกันภัย บอกว่า ถึงเวลาต้องเสวนาและปฏิรูปทั้งระบบ โดยผู้ควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องยอมรับด้วยว่า ที่ผ่านมายังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กฎระเบียบข้อกฎหมายไม่ดีพอ

“การใช้กฎหมายไม่ใช่แค่ประกาศแล้วหวังว่าทุกคนจะทำตามทันที ที่ผ่านมา กพท. ไม่เคยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้องค์ความรู้เลย คนทราบน้อยมาก”

ประเด็นต่อมาคือปัญหาคลาสสิคระหว่างประชาชน เอกชนและระบบราชการ โดยปัจจุบันมีโดรนที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบตามกฎหมายไม่ถึง 400 ลำ ขณะที่ร้านค้าโดรนนั้นมีกลาดเกลื่อนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีผู้ประเมินว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งานโดรนกว่ามากกว่า 30,000 ลำ

จรูญศักดิ์ บอกว่า การจดทะเบียนถือเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่มีการอำนวยความสะดวกที่ดีพอจากหน่วยงานรัฐ มักอ้างว่าต้องใช้เวลาในการตรวจสอบประวัติผู้ใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน 

“ที่สุดมันจะแว้งกลับมาหาท่าน หากไม่รีบแก้ วันหนึ่งถ้าโดรนไปชนกับเครื่องบินแล้วเกิดปัญหา จะอ้างไม่ได้เลยว่า คนไม่มาจดทะเบียนเพราะจริงๆ แล้ว กพท. เป็นคอขวด ไม่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเเละประกันภัย แนะนำว่า การแก้ปัญหาสามารถกำหนดวิธีการลงทะเบียนล่วงหน้าได้ เพื่อเปิดโอกาสให้โดรนที่เจตนาบินให้ถูกต้องมาลงทะเบียนในระบบ ก่อนตรวจสอบประวัติย้อนหลัง หากไม่ผ่านค่อยยกเลิก อย่างน้อยให้เข้ามาในระบบ เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบได้หากเกิดปัญหาขึ้น

“คนอยากจดทะเบียนมีเยอะมาก แต่รัฐดันสร้างกฎหมายที่มันลำบาก ยิ่งเป็นหน่วยงานนิติบุคคลหรือองค์กรยิ่งซับซ้อนยิบย่อยไปใหญ่ เมื่อกฎหมายยากคนก็ไม่อยากเข้าไปสู่ระบบ เลือกที่จะเถื่อนกันหมด”

ในมุมมองของผู้คลุกคลีในวงการโดรนมองว่า การมุ่งเพียงแต่จับผู้กระทำความผิดเพียงอย่างเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

“ระดับมืออาชีพ ไม่เอาโดรนราคาเฉียดแสนไปเสี่ยงหรอก แต่พวกเล็กๆ ที่เรามองว่าเป็นของเล่นนี่แหละ กำลังสร้างปัญหา เราเกรงกลัวมาตรฐานระดับโลกอย่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่ปักธงแดง แต่การดูแลโดรน ขนาดเล็กยังทำไม่ได้เลย รัฐมองและเข้าใจว่าโดรนเป็นเรื่องเล็กมาตลอด มีเรื่องใหญ่กว่าต้องทำ คำถามก็คือ ใหญ่ๆ ที่เขาว่าอย่างพวกเครื่องบินโดยสาร ความเสียหายหมื่นล้านอาจเกิดจากโดรนราคาไม่กี่พันก็ได้ เราจะรอวันนั้นหรอ”

จรูญศักดิ์ สรุปว่า หากอยากให้วงการโดรนมีความยั่งยืน ต้องให้การศึกษาให้ความรู้ด้านกฏระเบียบกติกา แล้วให้ทักษะความสามารถในการบิน การฝึกใช้งานอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของความปลอดภัยแก่สังคม เคารพในสิทธิของผู้อื่น โดยใช้งานอย่างมีวิจารณญาณ

เมื่อเกรียนเล่น "โดรน" อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวทำตายทั้งฝูง

กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงและครอบครองโดรนในปัจจุบันเป็นเรื่องง่าย ซึ่งแปลว่าโอกาสที่จะมีผู้ไม่หวังดีใช้โดรนในการสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นหรือองค์กรนั้นมีมากขึ้น

ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท T-NET ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีกฎหมายระบุถึงการกำหนดเขตห้ามบินตามสถานที่สำคัญต่างๆ อยู่แล้ว เช่น กองทัพ ท่าอากาศยาน เนื่องจากเหตุผลเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย อย่างไรก็ตามอนาคตจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่ห้ามบินเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบางแห่ง โรงงานอุตสาหกรรม โรงปูนซีเมนต์ที่เต็มไปด้วยสารเคมี ซึ่งเสี่ยงอันตรายหากเกิดความผิดพลาดจากการใช้งานอุปกรณ์

ทั้งนี้แม้จะมีกฎระเบียบในการครอบครองและใช้งาน แต่ในแง่ปฏิบัติพบว่ายังมีผู้ไม่ทราบหรือตั้งใจละเมิดอีกเพียบ ทำให้นอกเหนือจากการประชาสัมพันธ์กติกาการใช้งานอย่างถูกต้องแล้ว สถานที่สำคัญควรมีวิธีจัดการ ตรวจสอบและป้องกันภัยจากโดรนด้วย

“ถ้าเกิดความผิดพลาด โดรนไปชนทำให้เครื่องบินเกิดความเสียหายจนส่งผลทำให้ตารางไฟต์บินมีปัญหา ถือเป็นเรื่องเสียหายกระทบกับภาพรวมอย่างมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเรากำหนดเขตห้ามบินก็จำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการควบคุม”

การจัดการที่ดร.โกเมน บอก คือการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำให้โดรนไม่สามารถบินเข้าไปได้ในเขตต้องห้าม บังคับหรือเปลี่ยนแปลงทิศทางของโดรนได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวเรียกว่า โดรนแจมเมอร์

การทำงานของ โดรนแจมเมอร์ คือ เมื่อโดรนบินเข้ามาในเขตหวงห้าม โดรนแจมเมอร์จะส่งสัญญาณรบกวนให้โดรนของฝ่ายตรงข้ามกลับฐานหรือค่อยๆ ร่อนลงจอด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดต่อไป

“เขตห้ามบินจำเป็นต้องมีกระบวนการในการนำจับและป้องกัน คนที่โดนจับจะไม่กล้าฝ่าฝืน เพราะหากตก ถูกยึด หรือตามจับกุมจะไม่คุ้ม”

ทั้งนี้นอกจากพื้นที่ห้ามบินตามกฎหมายแล้ว ดร.โกเมน ยังเห็นว่าโดรนแจมเมอร์ ยังสำคัญต่องานการใช้ในมหกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากด้วย เช่น คอนเสิร์ต พระราชพิธี วิ่งการกุศล เพื่อป้องกันอันตรายและความผิดพลาดจากโดรน 

เมื่อเกรียนเล่น "โดรน" อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวทำตายทั้งฝูง

ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ เเละโดรนแจมเมอร์

เตรียมศึกษาแนวทางสากล

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยอมรับว่า ถึงแม้จะมีกฎหมายควบคุมการใช้งานโดรน แต่ในทางปฏิบัติการจัดการเป็นเรื่องยากเนื่องจากประชาชนสามารถซื้อหาได้ง่าย ทั้งนี้ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากกลุ่มผู้ใช้มือสมัครเล่น

“ในทางกฎหมายมีกระบวนการกำหนดอยู่แล้ว ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถควบคุมติดตามได้ทั่วถึง กพท. ทำงานในด้านจัดระเบียบและเชิงป้อง รอรับแจ้งเหตุหรือปัญหาที่เกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม  ผู้อำนวยการกพท. ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันโดรนได้รับความนิยมมากขึ้น เจ้าหน้าที่กำลังศึกษาแนวทางปฏิบัติในต่างประเทศเพื่อควบคุมดูแลการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระยะสั้นอาจจะมีกระบวนที่เอื้อให้คนเข้ามาอยู่ในระบบและสามารถติดตามได้มากขึ้น

“พยายามดูการกำกับและการใช้งานให้สอดคล้องกับสากล เป็นเรื่องใหญ่และขยายตัวทั่วโลกไม่ใช่ปัญหาเฉพาะแค่เมืองไทยอย่างเดียว”  ดร.จุฬา ทิ้งท้าย

อาจถึงเวลาที่ทุกฝ่ายทั้งผู้ควบคุมกฎหมายเเละผู้ใช้งานต้องกลับมานั่งหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจสอดคล้องเเละเดินหน้าไปอย่างถูกต้อง