posttoday

ถอดประสบการณ์ "Come out" ความอึดอัดที่หวังเพียงการเข้าใจและยอมรับ

11 กรกฎาคม 2560

เรียนรู้การเปิดเผยตัวตนทางเพศที่แท้จริง และทำความเข้าใจกับต้นเหตุที่มาของความหลากหลายทางเพศจากปากผู้เชี่ยวชาญ

โดย…วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพชายหนุ่มท่าทางสุภาพเรียบร้อยวัยเกือบ 50 ปี ทำตามเสียงหัวใจเรียกร้องครั้งใหญ่ในชีวิตด้วยการแปลงโฉมรูปลักษณ์ภายนอก จากหนุ่มมาดแมนเต็มไปด้วยความแข็งแกร่งสู่ผู้หญิงสาวสวย ดัดผมลอนยาว ฉีกรอยยิ้มอย่างมั่นอกมั่นใจ กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในสังคม

การเปลี่ยนแปลงและเปิดเผยตัวตนทางเพศที่แท้จริงนับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์เสมอในสังคมไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นกับคนดัง

วินาทีนี้ท่ามกลางสายตา คำวิพากษ์วิจารณ์และเสียงซุบซิบนินทาที่พุ่งมาจากทุกทิศทุกทางต่อผู้กล้าเปิดเผยว่าตัวเองมีรสนิยมอย่างไร อีกด้านสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือ การเรียนรู้บทเรียนความกล้าหาญของผู้ที่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น

ซื่อสัตย์กับตัวเองและบุคคลที่เรารัก

“แต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน แต่การที่คนเราได้เป็นตัวของตัวเอง 360 องศา บุคคลคนนั้นจะสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคมได้ 360 องศา” วิทยา แสงอรุณ ผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ให้ความเห็นถึงประเด็นการเปิดเผยตัวตนทางเพศ 

เขาบอกว่า ทุกคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน การเอ่ยปากบอกหรือไม่บอกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในครอบครัวของแต่ละบุคคล หากใครประเมินแล้วว่า ครอบครัวตนเองมักจะแลกเปลี่ยนสื่อสารกันอยู่เสมอก็ควรจะตัดสินใจเอ่ยปากบอก แต่หากเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างปิดกั้นเรื่องความหลากหลาย อาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการสื่อสาร

วิทยา กล่าวว่า การพูดข้อเท็จจริงออกไป คือการซื่อสัตย์กับตัวเองและบุคคลที่เรารักอย่างแท้จริง การปิดบังซ่อนเล้นเป็นเรื่องที่อึดอัด ลำบากใจและสร้างความรู้สึกไม่เป็นเนื้อแท้ของเราเอง ที่สำคัญยังนำมาซึ่งการโกหกต่างๆ นานา

“การพูดความจริงในสิ่งที่เราไม่เคยพูดมาก่อน ครึ่งค่อนชีวิต หรือเกือบตลอดทั้งชีวิต มันเป็นสิ่งที่เจ็บปวดแน่นอนแต่การได้พูดความจริงผ่านกระบวนการเจ็บปวดออกไปนั้น เราจะมีความสุข เพราะไม่รู้สึกอึดอัด ซ่อนเร้น โกหกอีกต่อไปแล้ว เราจะอยู่อย่างเปิดเผยและเต็มศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเรา”

วิทยา บอกว่า สำหรับคนใกล้ชิดที่ได้ยินการเปิดเผยของคนรัก แน่นอนว่าต้องมีบางคนผิดหวัง สับสัน แต่อยากให้เปิดใจยอมรับ ตั้งใจมองบุคคลที่อยู่ตรงหน้าซึ่งผ่านความอึดอัดมาตลอดชีวิต หน้าที่คุณคือให้กำลังใจ เป็นครอบครัวหรือเพื่อนของเขาต่อไป

“มันเป็นแค่ความจริงที่คุณไม่เคยรับรู้มาก่อนแล้วรู้สึกหวาดวิตก แต่เมื่อรู้แล้ว จะผ่านช่วงเวลานั้นไปด้วยกันอย่างไรคือสิ่งสำคัญ”

 

ถอดประสบการณ์ "Come out" ความอึดอัดที่หวังเพียงการเข้าใจและยอมรับ

 

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ "เปิดตัวแล้วเหมือนเกิดใหม่"

ประสบการณ์ Come out of the closet ของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป บางคนกดดัน บางคนต้องพบกับคราบน้ำตาและบางคนเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง

วิทยา เล่าว่า ในอดีตไม่มีสื่อ ความรู้ และการยอมรับมากเหมือนในปัจจุบัน เพศทางเลือกคือความผิดปกติ ชั่วร้ายในสังคม ถึงขนาดทำให้ต้องเก็บงำความรู้สึกและตั้งกำแพงบอกตัวเองว่า ‘ชาตินี้ฉันจะไม่บอกใคร’ ขอเดินหน้าตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีอาชีพที่ดี สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่และจากโลกใบนี้ไปโดยไม่มีใครรู้ว่าฉันเป็นเกย์

“ความอึดอัดทรมานก็ค่อยๆ เก็บสะสม ถึงขนาดคิดว่า ถ้าเราชีวิตสั้นก็คงจะดีนะ”

เมื่อเติบโตมากขึ้นเขาศึกษาหาข้อมูลเรียนรู้สังคมจนกระทั่งมีมุมมองใหม่ๆ และเริ่มคิดถึงการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง เพราะเชื่อว่าหากยังจำกัดตัวเอง คงไม่มีวันได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ และวิ่งหนีความเป็นจริงไปตลอดกาล โดยคนสำคัญในชีวิตที่บอกยากที่สุดก็คือ คุณแม่

วันนั้นวิทยาในวัยประมาณ 30 ปี เริ่มเกริ่นนำกับคุณแม่ว่า มีเรื่องสำคัญจะมาบอก อยากให้แม่ลองนึกภาพที่ผ่านมา ลูกคนนี้ไม่เคยทำให้แม่เดือดเนื้อร้อนใจเลยสักครั้ง แต่วินาทีนี้มีเรื่องหนึ่งที่เก็บเอาไว้มานาน อยากจะบอก คือ ลูกไม่ได้ชอบผู้หญิงนะ

ภายหลังรับฟังคุณแม่มีใบหน้าแปลกใจเล็กน้อย แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

“เชื่อเถอะแม่รู้อยู่แล้ว แม่ทุกคนรู้มาตลอดแค่แม่ไม่พูด” วิทยาคิดแบบนั้นและบอกให้ฟังด้วยน้ำเสียงแห่งความสุขว่า “การพูดออกไปตรงๆ มันลดความอึดอัด รู้สึกโล่งเหมือนเกิดใหม่ คนที่จะมีความสุขที่สุดก็คือตัวของคุณเอง ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุขในการได้เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องปิดบัง”

 

ถอดประสบการณ์ "Come out" ความอึดอัดที่หวังเพียงการเข้าใจและยอมรับ

 

ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ

บางรายไม่ได้เอ่ยปากสารภาพเปิดตัวโดยตรงกับคนใกล้ชิดแต่ท่าทีและพฤติกรรมที่แสดงออกก็ทำให้รับรู้ได้

ป๋อมแป๋ม - นิติ ชัยชิตาทร พิธีกรชื่อดังจากรายการยอดฮิตทอล์กกะเทย บอกว่า ไม่เคยมีโมเม้นท์ของการสารภาพกับคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิด เนื่องจากทุกคนนั้นรับรู้โดยปริยายจากการดำเนินชีวิตร่วมกัน

"แม่ครับผมเป็นเกย์ พ่อครับผมเป็นเกย์ เราไม่เคยมีวินาทีเช่นนั้นเลย” ป๋อมแป๋มบอกและเชื่อว่า เพศทางเลือกนั้นเกิดจากภาวะการเลี้ยงดูและเติบโตในสภาพแวดล้อมของแต่ละครอบครัว  “บ้านเราไม่มีปัญหานะ คุณพ่อเป็นผู้ชายคนเดียว ที่เหลือเป็นผู้หญิงหมดเลย พ่อค่อนข้างดุ เรารู้สึกว่าไม่อยากดุแบบนั้น ไม่อยากแข็งกร้าวเหมือนพ่อ"

ประสบการณ์ที่นางไม่มีวันลืมก็คือ ช่วงอายุประมาณ 15-16 ปี คุณพ่อเรียกไปนั่งคุยและขอให้เลิกเป็นเพศทางเลือกเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ดี

"เคยมานั่งจับเข่าคุยกับพ่อ พ่อบอกเป็นตุ๊ดมันไม่ดี ไม่เป็นได้ไหม เราก็เลยบอกเขาไปว่า ก็เป็นเพราะพ่ออ่ะ"

เนื่องจากนางคิดว่าการเป็นเพศที่ทางเลือก เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว จะให้เลิกคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหลังเหตุการณ์นั้น คุณพ่อก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรนางอีกเลย

"เรากับพ่อคุยกันกันน้อยมากอยู่แล้ว เรียกว่าไม่คุยเลย แต่ไม่ได้มีปัญหากันนะ ตั้งแต่มัธยมจนกระทั่งมหา’ลัย พูดอะไรก็ดูจะขวางหูขวางตาไปหมด จริงๆ ก็ตั้งแต่แมตช์ที่เปิดใจนั่นแหละ จนกลับมาคุยกันใหม่วันที่เรารับปริญญา และรู้สึกว่าความหมางใจใดๆ หมดไปเมื่อตอนที่เขาเกษียณแล้วเราดูแลเขาได้"

ป๋อมแป๋ม บอกว่า ประสบการณ์ที่อาจจะให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการ Come Out อยู่บ้างก็คือ ตอนที่คุณแม่แสดงอาการและท่าทียอมรับในสิ่งที่ลูกชายเป็น หลังจากที่รับโทรศัพท์ของแฟนหนุ่มคนแรกในชีวิต

“มีแฟนคนแรก เขามารับที่บ้านบ่อยๆ เราคิดว่าพ่อแม่คงเห็นความผิดปกติ จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่ง อีตานี่โทรมาแล้วแม่เป็นคนรับสาย แม่ก็มาเรียกเรา บอกว่า อ่ะเธอ...แฟนเธอโทรมาน่ะ เราก็ทำตาเหลือกนิดหนึ่ง อุ๊ยตายและ แม่ไม่เคยใช้คำนี้เลยอ่ะ เขาเห็นว่าเป็นมาตลอด แต่ก็ไม่เคยพูดออกมาตรงๆ หรือแสดงออกให้เห็นว่ารับได้”

เรื่องนี้อยู่ในความทรงจำของนางมาตลอดเพราะครอบครัวไม่เคยพูดประโยคให้การยอมรับเหมือนเช่นครอบครัวอื่น  “อ่ะเธอ....แฟนเธอโทรมาน่ะ แม่พูดแบบนี้ ก็เป็นอันรู้กันว่า นางก็ยอมรับเรื่องนี้ได้แล้ว”  ป๋อมแป๋มย้ำความทรงจำ

สิ่งที่คนใกล้ชิดอย่างคนเป็นพ่อและแม่อยากได้มากที่สุดในมุมมองของพิธีกรชื่อดัง  หนีไม่พ้นความภาคภูมิใจ ความกตัญญูกตเวที การดูแลเอาใจใส่โดยเฉพาะในยามแก่เฒ่าจากคนเป็นลูก ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นเพศอะไร

"ความเป็นตุ๊ดกระเทยไม่ได้มีผล ผู้ชายผู้หญิง เพศไหนๆ ก็สามารถกตัญญูและสร้างความภาคภูมิใจให้เขาได้เหมือนกัน ความสำเร็จไม่ได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะแค่เพศใดเพศหนึ่ง"เจ้าของฉายายายทิ้งท้าย

ถอดประสบการณ์ "Come out" ความอึดอัดที่หวังเพียงการเข้าใจและยอมรับ

 

รสนิยมเเละการเเสดงออก

นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาครอบครัว ให้ความรู้ว่า สาเหตุของความหลากหลายทางเพศมีอยู่ 3 เหตุผลหลัก

1.ปัจจัยทางกายภาพ 

เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม แสดงออกผ่านอวัยวะเพศที่กำกวมหรือมีสองเพศตั้งแต่กำเนิด ซึ่งลักษณะนี้พบได้น้อยมากในโลก

2.สภาวะทางจิตใจที่แปรปรวน

เด็กอายุประมาณ 3-4 ขวบ จะเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่า สับสน ไม่สามารถกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ของตนเองได้ ส่วนใหญ่กลุ่มนี้เมื่อเติบโตขึ้นหรือมีความพร้อมมักต้องการที่จะผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ได้ต้องการแค่การเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น

3.รสนิยมและการแสดงออก

ลักษณะนี้พบได้บ่อยมากที่สุดในสังคม บางรายอาจมีรสนิยมแอบแฝงไปจนกระทั่งวัยผู้ใหญ่ แต่งงานมีลูก จนอายุมากขึ้นก่อนจะเปิดเผยตัวตนทางเพศที่แท้จริงก็เป็นไปได้

“รสนิยมไม่ได้ติดตัวตั้งแต่เกิด เกิดจากการถูกเลี้ยงดูเติบโต ส่วนจะแสดงออกหรือไม่ขึ้นอยู่กับความมั่นใจและสภาวะทางสังคมที่แต่ละบุคคลพบเจอ”

พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามีรสนิยมบวกกับภาวะทางสังคมที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ ก็อาจนำไปสู่ การเปิดผยตัวตนทางเพศที่แท้จริงได้นั่นเอง

ทั้งนี้ นพ. สุริยเดว บอกว่า การเปิดเผยตัวตนต่อบุคคลรอบข้างหรือคนใกล้ชิด ไม่มีสูตรสำเร็จแน่ชัด สิ่งสำคัญคือต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและการเปิดใจยอมรับ รวมถึงรายละเอียดหลายอย่างที่แต่ละบุคคลเผชิญ ทั้งบรรยากาศและคนสนิทที่สามารถรับฟัง ยอมรับกับความคิดเห็นแตกต่างได้ดี รวมถึงนำพาไปสู่กระบวนการยอมรับในสังคมต่อไป

“มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแต่อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและการเปิดใจยอมรับ ขึ้นอยู่กับว่าเขารักและไว้วางใจใคร ใครเป็นคนสำคัญที่อยากให้รับรู้”

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ของเพศทางเลือก ที่น่าจะให้บทเรียนไม่มากก็น้อยแก่ทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นผู้เผชิญหน้ากับเสียงเรียกร้องในหัวใจหรือเป็นผู้รับฟัง สิ่งสำคัญก็คือการให้ความเคารพกับการตัดสินใจของมนุษย์ทุกคน