posttoday

เร่งกู้ศักดิ์ศรี-โยกย้ายต้องเป็นธรรม อย่าให้ใครแทรกแซงองค์กรตร.

11 กรกฎาคม 2560

การตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ” ของรัฐบาลตามกลไกที่บังคับในรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามว่าปลายทางสุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่

 โดย...วัสยศ งามขำ

การตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ” ของรัฐบาลตามกลไกที่บังคับในรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามว่าปลายทางสุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่ รัฐบาล คสช.จะกล้าผ่าตัดองค์กรสีกากีแค่ไหน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการปฏิรูป 3 โจทย์ใหญ่ ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ควรสังกัดที่ไหน อำนาจสอบสวนจะคงอย่างเดิมหรือไม่ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย

ในมุมของตำรวจและอดีตตำรวจเอง จะมีประเด็นปฏิรูปนอกเหนือจากนี้หรือไม่ อย่างไร 

พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในนักคิดนักเขียนด้านการปฏิรูปตำรวจของ สตช. กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงครั้งนี้ที่ถึงกับระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มีคำถามที่ตำรวจต้องตอบให้ได้ 2 คำถาม คือ คำถามแรก : ตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรจึงจะเป็นที่รักใคร่ของประชาชน คำถามนี้ตอบได้ไม่ยากคือ ตำรวจต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน คือ ประการแรก เปลี่ยนที่ตำรวจ คือ 1.สร้างจิตสำนึกในการให้บริการ หรือมีจิตใจในการให้บริการที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความขยันอดทน

2.ตำรวจต้องเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เรียกร้องหรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนหรือผู้กระทำผิดกฎหมาย 3.ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เที่ยงธรรม บังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกหมู่เหล่าด้วยความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ และ 4.ตำรวจต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องหมั่นพัฒนาตนเองและหน่วยงาน

คำถามที่สองที่ตำรวจจะต้องตอบให้ได้คือ : ทำอย่างไรข้าราชการตำรวจจึงจะมีความสุขกับภารกิจ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ทั้งนี้ “ดัชนีความสุขตำรวจไทย” ที่อยู่ในระดับต่ำ สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยสำคัญคือ 1.คุณภาพชีวิต เช่น ไม่มีเวลาพักผ่อนตามมาตรฐานการทำงาน สวัสดิการที่พักอาศัยไม่เพียงพอ 2.รายได้ไม่เหมาะสมกับงานที่เสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม และต่ำกว่าเป้าในการกวาดล้างอาชญากรรม และไม่มีสิทธิในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว 3.การปกครองที่ไม่มีความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา และ 4.ความภาคภูมิใจในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนมีในปัจจุบันไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใด ที่ใด ต้องรู้สึกถึงความมีศักดิ์ศรีในสังคมตำรวจ

พ.ต.อ.เชิงรณ ระบุด้วยว่า ปัญหาต่างๆ คือสิ่งที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ โดยการแก้ปัญหาจะต้องแก้ไขระบบการบริหารงานบุคคลของตำรวจก่อน เพราะความทุกข์อันดับต้นๆ ของตำรวจ โดยเฉพาะระดับสัญญาบัตรก็คือ การไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย การแต่งตั้งจะต้องเน้นการวัดความรู้ความสามารถของคน เช่น การสอบ การดูผลการปฏิบัติงาน การแสดงวิสัยทัศน์ หลักเกณฑ์การแต่งตั้งของตำรวจต้องกำหนดกรอบ ไม่ใช่ให้ใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา เพราะทำให้เกิดปัญหาว่าคนที่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นคนมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงหรือไม่ และความรู้ความสามารถที่ว่านั้นเป็นความรู้ความสามารถในการทำงาน หรือเป็นความรู้ความสามารถในการทำให้ตัวเองได้เลื่อนตำแหน่ง เมื่อตำรวจที่ “ไร้ความสามารถ” ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จึงทำให้ตำรวจที่ “มีความสามารถ” แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เกิดความท้อแท้ ท้อถอย และไม่มีความสุขในการทำงาน 

นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขค่านิยมของตำรวจ ให้เชื่อว่าเกียรติและศักดิ์ศรีคือความสุขที่แท้จริง เมื่อทำดีได้ดีมีแน่ ขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน เพราะผู้บังคับบัญชามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อทัศนคติและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งในเรื่องการครองตน ครองคน และครองงานมีคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ต้องทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจทั้งหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจเพียงบางกลุ่มบางพวก และเลือกสนับสนุนเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตนเองมีความสนิทสนมหรือผูกพันด้วยเท่านั้น จึงทำให้ตำรวจดีๆ แต่ไม่มี “นาย” ซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศนี้ ขาดโอกาสในการเจริญก้าวหน้า ขาดสมาธิและเวลาที่ควรจะมีในการทำงานเพื่อประชาชน

“ทุกวันนี้ตำรวจเซ็งมากกับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย ปัญหานี้ทำให้ตำรวจรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าจะปฏิรูปต้องแก้ไขตรงนี้ก่อน รัฐบาลและการเมืองต้องไม่แทรกแซง ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ การซื้อขายตำแหน่งยังดำเนินต่อไป วันนี้พนักงานสอบสวนพยายามไปสอบเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา พวกเขาบอกตรงกันว่าเป็นอัยการผู้พิพากษามีศักดิ์ศรีมากกว่า เลื่อนขั้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ค่าตอบแทนยังสมกับหน้าที่การงาน ไม่ต้องไปหาเศษหาเลยกับเงินนอกระบบ คนดีๆ เก่งๆ จึงไปอยู่หน่วยงานอื่นหมด” พ.ต.อ.เชิงรณ กล่าว

พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าประธานคณะกรรมการฯ คือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. จะเป็นทหาร แต่อยากให้มองที่ปลายทางของการปฏิรูปเป็นสำคัญ ที่ต้องตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชนคาดหวังให้ได้ คือการเป็นตำรวจมืออาชีพอยู่ในหัวใจของประชาชน มีความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย 

ข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนของ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ เห็นว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการประชุมวาระเพื่อแต่งตั้งหรือโยกย้าย ไม่เช่นนั้นหากนักการเมืองเข้ามาควบคุมหรือแทรกแซงกลไกของตำรวจ ตำรวจก็จะกลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่ผ่านๆ มา ฝ่ายการเมืองควรกำหนดนโยบาย แต่ไม่ควรเข้ามาควบคุมการใช้อำนาจตามกฎหมายของตำรวจ

“ตำรวจไทยมีต้นแบบมาจากตำรวจประเทศอังกฤษ ซึ่งเดิมเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ปัจจุบันนี้ตำรวจอังกฤษได้กระจายอำนาจไปแล้ว เพราะคิดว่าสามารถตอบโจทย์ของประชาชนในท้องถิ่นได้ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการประชาชนในท้องถิ่นนั้น ในขณะที่เมืองไทยเองแม้ผ่านมาแล้วกว่า 100 ปี ตำรวจก็ยังรวมศูนย์อยู่เช่นเดิม” พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าว