posttoday

"อย่าเริ่มจากสั่งสอน แต่ให้เหลาความคิด" แนะนำลูกดูข่าวฆ่าหั่นศพแบบได้บทเรียน

05 มิถุนายน 2560

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เผยวิธีสอนลูก ท่ามกลางกระแสข่าวฆ่าหั่นศพ

โดย...วรรณโชค  ไชยสะอาด

ข่าวฆ่าหั่นศพและชื่อของผู้ต้องหาที่ก่อเหตุกำลังกลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

สื่อกระแสหลักและรองนำเสนอข่าวของกลุ่มผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ากำลังมอบพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้มากเกินไปหรือไม่

ท่ามกลางกระแสข่าวฆ่าหั่นศพที่ไหลบ่าในโซเชียลมีเดีย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองถึงวิธีการที่ควรใช้กับลูกหลานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในแง่บวกจากข่าวในแง่ลบ

เหลาความคิด เพื่อพัฒนาสมอง

ในอดีตพ่อแม่อาจจะสั่งสอนลูกหลานด้วยการชี้นิ้วไปที่จอโทรทัศน์ หน้าหนังสือพิมพ์ แล้วบอกว่า “อย่าทำแบบนี้นะ” มันไม่ดี แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะหมดเวลาของวิธีนั้นแล้ว

นพ.สุริยเดว แนะนำว่า 3 คำถามง่ายๆ ที่ผู้ปกครองควรใช้กับลูกก็คือ ‘รู้สึกอย่างไร คิดอะไร และได้เรียนรู้อะไรบ้าง’ เพื่อเป็นการสอนและเหลาความคิดให้เด็กๆ เกิดการพัฒนา

“อย่าเริ่มจากการสั่งสอน ต้องเริ่มจากการฟังว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากข่าว คิดอะไร เรียนรู้อะไร คำถามคือวิธีการสอน  ถ้าตัวคุณมัวแต่นั่งดูข่าว พอถึงเวลาก็บอกลูกว่า เห็นไหมมันทำอย่างงี้ มันไม่ดี โน่นนี่นั่น เลิกสักทีเถอะ วิธีการสอนแบบนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ ลูกๆ คงนั่งนึกในใจว่า เเล้วพ่อแม่จะดูทำไมถ้ามันแย่ขนาดนั้น”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็ก บอกต่อว่า รูปแบบการอบรมสั่งสอนในอดีตใช้ไม่ได้กับเด็กสมัยใหม่ เพราะพวกเขาเริ่มสงสัยและเห็นว่า ผู้ใหญ่ไม่ได้ดีเด่นเลิศเลอ ปฏิบัติตนได้ดีอย่างที่พูด ที่สำคัญยังปรากฏภาพความผิดพลาดออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง

"กระบวนการใหม่คือการเหลาความคิดเขาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิชาชีวิต เขารู้สึกอย่างไร ถ้ามองคนผิดแล้วรู้สึกเฉยๆ เป็นไปได้ว่า ลูกคุณอาจอยู่ในภาวะมีปัญหาและส่งสัญญาณเตือนว่าที่ผ่านมาคุณสอนหรือให้อะไรกับลูกบ้าง ได้ส่งเสริมให้เขามีความรู้สึกสงสารชีวิต เคารพศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์หรือไม่"

 

"อย่าเริ่มจากสั่งสอน แต่ให้เหลาความคิด" แนะนำลูกดูข่าวฆ่าหั่นศพแบบได้บทเรียน

 

สื่อ อย่าทำตัวเป็นแรงเสริมลบของสังคม

การนำเสนอข่าวสารนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเสนอโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมานั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

นพ.สุริยเดว บอกว่า สื่อมักชอบอ้างถึงความสนใจของประชาชน เป็นเหตุผลหลักในการนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเข้าใจดี แต่สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งก็คือ อย่าไปเกาะติดสถานการณ์จนตกเป็นเครื่องมือของคนผิด จนนำไปสู่การทำซ้ำ

“ระมัดระวังในการนำเสนอเรื่องที่ก่อให้เกิดกระแส คิดเสมอว่าสิ่งที่นำเสนอออกไปได้สอนหรือให้บทเรียนอะไรกับสังคม หรือเป็นเพียงแค่ของบริโภคโดยไม่ได้ประโยชน์เท่านั้น” คุณหมอบอกหนักแน่น “อย่ากลายเป็นเครื่องมือ ให้ใครตีราคาตัวเองจากลบเป็นบวก เเละไม่ควรเอาประชาชนมาเป็นข้ออ้างในการนำเสนอ”

เขา บอกว่า คณะบรรณาธิการของสื่อกระแสหลักทั้งหมดต้องประชุมกันอย่างจริงจัง ให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า สื่อจะไม่ทำตัวเป็นแรงเสริมลบหรือหนุนให้เกิดความเละทะของสังคมต่อไป พูดง่ายๆ ว่าต้องเป็นสื่อมืออาชีพ

"อย่าเริ่มจากสั่งสอน แต่ให้เหลาความคิด" แนะนำลูกดูข่าวฆ่าหั่นศพแบบได้บทเรียน


คุ้มค่าที่จะทำเรื่องแย่ เพื่อแลกกับความดัง 

สาเหตุที่คนส่วนหนึ่งเลือกหยิบเอาเรื่องฆาตกรรมหั่นศพไปพูดในลักษณะขำขันและดัดแปลงต่อยอดเป็นเรื่องราวสนุกสนานผ่านโลกออนไลน์นั้น

ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงเวลาที่ผ่านมาสื่อมักคอยสร้างกระแสให้กับคนพวกนี้ ไม่ว่าจะดี เลว เฟะฟะ ผิดศีลธรรมหรือไร้มนุษยธรรมอย่างไรก็สามารถแจ้งเกิดได้

“การไปหยิบฉวยคนพวกนี้มาเป็นกระแสหรือประเด็นคือการแรงเสริมลบทางสังคม เกิดการเรียนรู้ในหมู่ประชาชนกันเองว่า คนบางคน แจ้งเกิดได้ ทั้งๆ ที่เปลืองตัว แก้ผ้า เปลือยอก แต่มันดังและทำมาหากินได้เลย ตัวอย่างแบบนี้มีให้เห็น ได้เงินทอง บางทีคนเราก็ไม่สนใจเท่าไหร่ว่าจะผิดถูกยังไง วันนี้ฉันดังแล้วอ่ะ”

นพ.สุริยเดว ทิ้งท้ายว่า อาจถึงเวลาที่ภาครัฐต้องมีกฎกติกาควบคุมหรือส่งเสริมมารยาททางสังคมในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าปัจจุบัน

"พฤติกรรมไหนที่ต้องการดำรงอยู่ต้องให้ความสำคัญ พฤติกรรมไหนไม่ต้องการก็อย่าไปใส่ใจ  ส่วนพฤติกรรมไหนที่ก่อให้เกิดอันตราย รุกล้ำละเมิดคนอื่น ต้องใช้กลไลภาครัฐในการควบคุม เพื่อหยุดยั้งเชื้อโรคร้ายที่กำลังระบาด"

สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับดราม่าทุกสัปดาห์ สิ่งสำคัญคือ เราเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเพียงแค่ปล่อยผ่านหูผ่านตาไปเท่านั้น