posttoday

ปรากฏการณ์ผิดปกติ ฝนมาเร็ว...ฟันธงน้ำมาก

18 พฤษภาคม 2560

ฝนที่ตกในช่วงนี้ยังถือว่าเป็นฝนปกติ ทุกฝ่ายต้องจับตาดูปรากฏการณ์ไปจนถึง เดือน ก.ย. ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงที่อากาศเปลี่ยนไปเป็นอิทธิพลจาก ลานินญา

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ฝนที่ตกหนักในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลายวันติดต่อกัน เริ่มสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายคน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังในหลายจุดของ กทม.เริ่มติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่17 พ.ค.ที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะ กทม.นั้นปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งวันอยู่ที่ 40-50 มิลลิเมตร (มม.)/ชั่วโมง โดยจะตกๆ หยุดๆ เกือบตลอดทั้งวัน เพราะหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเมียนมาจะเคลื่อนที่เข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้กระแสลมหมุนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ และจะดึงเอาลมใต้ให้พัดเอาฝนจากบริเวณอ่าวไทยเข้าสู่ กทม.และปริมณฑล สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ จะทำให้มีฝนตกต่อเนื่องอีกจนถึงวันที่ 18 พ.ค. จะต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมขังหลายๆจุด

ผู้อำนวยการ สสนก. กล่าวว่า ภาพรวมของฝนจากการตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่า ปีนี้น้ำฝนจะมาก โดยในเดือน พ.ค.นี้ ปริมาณฝนจะสูง แต่ มิ.ย.จะเริ่มน้อยลง และจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงในเดือน ก.ค. แต่เมื่อย่างเข้าสู่ ก.ย.-ต.ค. ฝนจะกลับมาอีกครั้ง และเริ่มลดปริมาณลงเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือน พ.ย. ก็คาดว่าช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเข้าสู่ช่วงเวลาของปรากฏการณ์เอลนินโญ

รอยล กล่าวว่า มีปรากฏการณ์ที่เราไม่ค่อยได้พบบ่อยนักในช่วงเริ่มต้นฤดูฝน คือ ฝนตกทุกพื้นที่พร้อมๆ กันหมด ตั้งแต่ภาคใต้ ภาคกลาง ขึ้นไปถึงภาคเหนือ คือ ตกทั่วประเทศพร้อมกัน ซึ่งปกติแล้ว ฝนจะตกเป็นภาคๆ ตามแนวฝน โดยเคลื่อนจากภาคใต้มาทางภาคกลาง แล้วจึงขึ้นไปภาคเหนือในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สาเหตุมาจากปกติแล้วฤดูฝนนั้นเราจะได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเดียว แต่เวลานี้เราได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทั้งจากทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย พัดมาเสริมพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำอีกด้วย

สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่น่ากังวลในขณะนี้ คือเรื่องของน้ำท่วมขังในบางจุดของพื้นที่ กทม.หากมีฝนตกเกิน 60 มม./ชั่วโมง ก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำระบายไม่ทันในบางพื้นที่ได้ เพราะถนนและคูคลองทำงานไม่สอดประสานกัน

ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษา ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ฝนจะตกหนักกว่าสองปีก่อน เพราะยังมีปัจจัยหนุนจากเอลนินโญมาก หรือปรากฏการณ์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิก เขตศูนย์สูตร มีค่าต่ำกว่าปกติ พัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการก่อตัวของเมฆและฝน บริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิกเขตร้อน ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห้งแล้ง

ศ.ธนวัฒน์ ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปีนี้ประเทศไทยเข้าหน้าฝนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เม.ย.ถือว่า ฝนมาเร็วกว่าปกติ ลักษณะอากาศแบบนี้ ต้องระวังพายุที่จะพัดเข้ามาทางตะวันออกตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป หากมีพายุพัดเข้ามาความเสี่ยงต่อวิกฤตน้ำท่วมก็จะตามมา ซึ่งจะมีพายุพัดเข้ามาหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้ในระยะ 10 วันก่อนก่อตัว แต่จะให้ทราบเส้นทางพายุชัดเจนนั้น บอกล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 วัน

อย่างไรก็ดี โอกาสที่พายุจะเปลี่ยนเส้นทางหรืออ่อนตัวก็เกิดขึ้นได้ เพราะสภาพอากาศในปัจจุบันนั้นแปรปรวน มีตัวแปรที่ทำให้พยากรณ์ผิดพลาดหลายปัจจัย หรือกล่าวได้ว่าอากาศเปลี่ยนได้เป็นรายชั่วโมง

“ฝนที่ตกในช่วงนี้ยังถือว่าเป็นฝนปกติ ทุกฝ่ายต้องจับตาดูปรากฏการณ์ไปจนถึง เดือน ก.ย. ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงที่อากาศเปลี่ยนไปเป็นอิทธิพลจาก ลานินญา ที่กลับกัน คือ เกิดความแห้งแล้งในอเมริกาใต้ แต่มีฝนตกหนักบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณชายฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีฝนตกมากกว่าปกติ”

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากลานินญาจะส่งผลอย่างชัดเจน ในปี 2561-2562 หากไม่มีการเตรียมตัวอาจจะเสี่ยงต่อน้ำท่วมที่หนักกว่าอุทกภัยเมื่อปี 2554