posttoday

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ

16 พฤษภาคม 2560

ถอดบทเรียนเหตุต้นไทรยักษ์ล้มกลางกรุง จนนำไปสู่การเสียชีวิตของหญิงสาววัย 25 ปี อะไรคือสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้เเละเปลี่ยนแปลง

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพต้นไม้ขนาดใหญ่อายุหลายสิบปีหักโค่นลงมาฟาดใส่เสาไฟฟ้าล้มถึง 7 ต้น กลายเป็นเหตุให้หญิงวัย 25 ปี เสียชีวิตกลางแยกชิดลม นับเป็นเหตุสลดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

หลายปีที่ผ่านมาเเม้จะมีความพยายามผลักดันให้การบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองมีมาตรฐาน ความสวยงามควบคู่ไปกับความปลอดภัย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีรูปธรรมจากหน่วยงานผู้มีอำนาจเสียที

ถึงเวลาเเก้ระบบ

สาเหตุที่ทำให้ต้นไทรขนาดใหญ่และมีอายุยาวนานโค่นล้มกลายเป็นคำถามที่สังคมรอคำตอบ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หากมองตามหลักวิชาชีววิทยา เมื่อต้นไม้ถูกแย่งแสงโดยอาคารสูงจึงชะลูดหาแสงสูงและเจริญยื่นออกมาทางถนนที่มีแดดมากเพื่อชดเชยทรงพุ่มด้านในที่หายไป โดยคาดว่าถูกตัดออกเพื่อสร้างอาคาร

นอกจากนี้ “รากสมอ” ด้านในที่ทำหน้าที่รั้งยังถูกตัดทิ้งจากการทำถนนใหม่ “ตามแบบก่อสร้าง” อีกทั้งรากสมอด้านทางเท้าก็ยังถูกเทคอนกรีตที่ทึบน้ำและอากาศทับเพื่อปูบล็อกได้เรียบและสวย รากฝอยจึงหยุดเดินเพราะขาดอากาศ การผุจึงลามมาถึงรากสมอจนหมดคุณสมบัติในการ “ยัน” ไม่ให้ลำต้นเอน ในกรณีนี้ คาดว่ารากใหญ่ด้านทางเท้าริมถนนชิดลมอาจถูกตัดทิ้งเพื่อสร้างคันหินขอบทางเท้าตามแบบก่อสร้างงานโยธาของหน่วยงานแห่งหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ บอกต่อว่า การจะหาคนผิดในกรณีนี้ต้องมองให้ครบวงจร เพื่อให้ทุกคนได้รับบทเรียนอย่างแท้จริง

หนึ่ง ในแง่ของกฎหมาย ผู้รับภาระชดใช้ค่าเสียหายคือ เจ้าของที่ดิน ไม่จัดการตัดแต่งให้ปลอดภัยหรือโค่นทิ้งเสีย แต่เหตุที่ไม่โค่นทิ้งอาจเพราะ  1) มีความรักต้นไม้และนึกไม่ถึงว่ามันจะโค่นทับคนตายได้  2) รู้ว่าต้นไม้สร้างบรรยากาศและเพิ่มมูลค่าแก่อสังหาริมทรัพย์ของบริษัท  3) อาจอยากโค่นทิ้ง แต่กลัวถูกต่อต้านร้องเรียนจากกลุ่มประชาชน

สอง กรุงเทพมหานครและการไฟฟ้านครหลวง อาจกลัวผิดจึงไม่ให้ความช่วยเหลือในการดูแลตัดแต่ง เพราะต้นไม้ในเมืองที่มีขนาดสูงใหญ่มากเช่นนี้ ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษ “ของหลวง” ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่เจ้าของต้นไม้หรือตนรับจ้างตัดจะจัดซื้อจัดหามาใช้เองได้ “การนำของหลวงไปเอื้อประโยชน์แก่เอกชน” (ก่อนต้นไม้ล้ม) มีสิทธิ์ถูกไล่ออกจากราชการ

สาม กลุ่มผู้รักต้นไม้และสื่อประเภทต่างๆ ที่อาจดุดันเกินไป คอยเฝ้าระวังและรุมโจมตีทางสื่อออนไลน์ จนบางครั้งเจ้าของและเจ้าหน้าที่ขยาดไม่กล้าไป “ตัดแต่งหนัก” ให้ถูกต้อง ซึ่งอาจต้องมีการตัดทอนกิ่งขนาดใหญ่ที่หนักมากออกเพื่อให้เหลือโครงสร้างเบาเท่าที่จำเป็นในการรองรับพุ่มใบที่แผ่เฉพาะผิวบนเพื่อรับแดด การตัดเอากิ่งใหญ่หรือลำต้นบางส่วนออก แม้จะถูกวิธีก็ดูเสมือนเป็นการทำร้ายต้นไม้และทำร้ายจิตใจคนรักต้นไม้อยู่เหมือนกัน

สี่ สถาปนิก วิศวกร ภูมิสถาปนิก และรุกขกร ผู้รับจ้างตัดแต่งต้นไม้ต้นนี้ อาจมีความรู้ความเข้าใจงานด้านรุกขกรรมไม่เพียงพอ หรือรู้อยู่บ้างแต่ปล่อยปละละเลย เพราะถ้ารู้และให้ความสำคัญก็ย่อมที่จะแสวงหาความรู้ที่มีการปฏิบัติกันอยู่ทั่วโลกแล้วนำมาปฏิบัติการตัดแต่งให้ถูกต้องตามหลักวิชาไปแล้ว

 

"สรุปแล้วไม่มีคนผิด เพราะผิดครบทั้งวงจรจึงหาตัวบุคคลมาลงโทษไม่ได้ จึงถือว่าถูกเพราะโดยธรรมเนียมการแก้ปัญหาของราชการไทย คือการใช้วิธีเค้นหาตัวบุคคล เอา คนผิดโดยตรง มาลงโทษได้ก็เป็นอันเสร็จพิธี การเค้นหาจุดบกพร่องของระบบหรือกระบวนการหลังเกิดเหตุเสียหายเพื่อแก้ที่ระบบไม่ใช่วัฒนธรรมองค์กรของหน่วยราชการ เราคงจะได้เห็นต้นไม้ใหญ่ในเมืองในชุมชน ตามถนนและโค่นทับทับคนบาดเจ็บ ตายและสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินไปเรื่อยๆ แบบยั่งยืน"

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ

อ.เดชา แนะนำว่า ถ้ารัฐบาลไทยมีธรรมเนียมเค้นหาว่าอะไรผิดแล้วแก้ที่ระบบ ต้นไทรที่เกือบกลายเป็น “signature” ของถนนชิดลมต้นนี้อาจจะยืนต้นอยู่ต่อไปได้อีกนับร้อยปีเพราะจะมีการออกแบบผิวพื้นแข็งของถนนใหม่และผิวทางเท้าที่ปรับปรุงใหม่ให้ คงระบบรากเดิม ไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะรากสมอด้วยเทคนิคการออกแบบภูมิทัศน์เมืองสมัยใหม่ที่ใช้ดินปลูกชนิดโครงสร้าง (structural soil) และใช้วัสดุดาดผิวแข็งที่โปร่งอากาศ เช่นคอนกรีตพรุนเสริมเหล็กหรือคอนกรีตบล็อกชนิดพรุนอากาศปูทับ

หากจำเป็นต้องตัดราดสมอบางรากออก หรือพบว่ารากสมอสำคัญผุมาก่อนแล้ว ให้ทำการฟื้นฟูระบบรากและทำร่องล่อรากแบบ “ตีนไก่” ไปในทิศทางเหมาะสม ตัดแต่งเพื่อลดน้ำหนักทรงพุ่มโดยการสางโปร่งตามวิธีการทางรุกขกรรมโดยใช้แนวคิด “โครงสร้างร่มกันแดด” ซึ่งเป็นโครงเบาที่แข็งแรงแต่สามารถรองรับใบที่ถูกแดดได้เต็มที่

การตัดแต่งที่ถูกต้องตามหลักวิชารุกขกรรมจะทำให้ต้นไม้ใหญ่เดิมค่อยๆ ฟื้นตัวแข็งแรงขึ้นและพัฒนาโครงสร้างให้ “เพรียวลม” ต้นไม้ที่เพรียวลมเองตามธรรมชาติและมีจุดเกาะกิ่งที่เปราะบาง เช่นกิ่งมุมแคบขนาดใหญ่ที่มีเปลือกแทรกน้อย ต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่เพรียวลมและมีรากแข็งแรงย่อมโอนอ่อนตามแรงลมพายุได้มากกว่าจึงมีกิ่งหักจากพายุน้อยกว่า โค่นยากกว่า

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ

การไฟฟ้าฯ-กทม.ควรร่วมจัดตั้ง "บริษัทรุกขกรรมนครหลวง"

หลังเหตุการณ์สลดเป็นช่วงเวลาเเห่งความท้าทายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาความปลอดภัย โดยเเนวทางที่ อ.เดชา เเนะนำก็คือ

1)  เหตุการณ์นี้อาจทำให้เจ้าของต้นไม้ที่ใหญ่อยู่ใกล้ถนนต่างกลัวความรับผิดและพากันโค่นหรือกุดยอดต้นไม้ที่เคยให้ความร่มรื่นแก่เมืองทิ้งเพื่อให้พ้นภาระ อย่างการชดใช้ค่าเสา-สายไฟ ค่าทรัพย์สินที่เสียหาย ค่าชดใช้สินไหมแก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ฯลฯ

ดังนั้น การไฟฟ้าฯ และท้องถิ่นควรแก้ไขกฎระเบียบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เช่นรถกระเช้า-ปันจั่น-อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการปีนป่าย และจัดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยเหลือเฉพาะเจ้าของต้นไม้สำคัญริมที่ถนนที่กำหนดได้บ้าง

2)  การขออนุญาตปลูกสร้างทุกชนิดหากมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้คุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศเมืองที่ขึ้นชิดถนนจะต้องยื่นแบบก่อสร้างที่แสดงวิธีปกป้องต้นไม้ทั้งเหนือดินและใต้ดินโดยผู้รู้ประกอบมาด้วย และควรลดภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ด้วย ถือหลักคิดว่าเอกชนยอมเสียที่ดินของตนสำหรับ “ติดตั้งเครื่องเก็บกักคาร์บอนแก่โลกและสร้างปัจจัยความน่าอยู่น่าเที่ยวให้แก่เมืองและประเทศ” และจะต้องได้ลดภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นการชดเชย

3)  การเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักวิชารุกขกรรมแก่สาธารณชนและการฝึกอบรมบุคลากรระดับต่างๆ เพื่อออกใบรับรองความรู้ความสามารถระดับปฏิบัติระยะสั้นอย่างเร่งด่วนมีความจำเป็นยิ่ง เช่นต้องมารับความรู้และสอบปฏิบัติปีต่อปีไปก่อน โดยเฉพาะการฝึกอบรมผู้ที่มีอาชีพรับจ้างตัดแต่งต้นไม้ในเมืองอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาจะต้องเร่งเปิดสอนวิชารุกขกรรมโดยเร็วอีกด้วย โดย ส.ก.อ. หรือสำนักงานการอุดมศึกษาฯ จะต้องผ่อนผันเกณฑ์ที่ว่าจะต้องมีอาจารย์ที่จบด้านรุกขกรรมระดับ Ph.D. โดยตรงมาประจำหลักสูตร ซึ่งหายาก เพราะวิชารุกขกรรม หรือ Arboriculture เป็น Professional Degree ไม่ใช้ Research Degree ควรผ่อนผันให้ใช้ปริญญาโท-เอกข้างเคียง เช่นการป่าไม้ หรือพืชสวนไม้ผล

4)  การไฟฟ้านครหลวงกับกรุงเทพมหานครควรร่วมกันจัดตั้ง “บริษัทรุกขกรรมนครหลวง” ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ซึ่งมีราคาแพงเกินขีดความสามารถทางการเงินที่รุกขกรเอกชนจะจัดหาได้เอง โดยให้มีรุกขกรมืออาชีพเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติและหรือบริหาร จัดตั้งศูนย์การป่าไม้เมือง 3-4 แห่งโดยรอบกรุงเทพฯ เพื่อจัดการกับใบไม้ กิ่งไม้และลำต้นที่ต้องตัดและนำไปทิ้งเป็นจำนวนมากในแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์มาแปรรูปและสร้างรายได้แก่ศูนย์ แทนที่จะทิ้งเป็นกองขยะ

นอกจากรับจ้างตัวเองตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในแนวสายไฟและตามสถานที่สาธารณะแล้วบริษัทฯ ยังสามารถรับจ้างเอกชนทั่วไปได้อีกด้วย มีให้บริการเช่าอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่นเครื่องบดกิ่งไม้ รถกระเช้า ปั้นจั่น ตลอดจนอุปกรณ์ราคาแพงอื่นๆ เช่นเสียมลมสำหรับฟื้นฟูระบบรากหรือการใช้สำหรับการเป่าขุดร่องเพื่อฝังท่อสาธารณูปโภคในเมืองที่ผ่านแนวต้นไม้ใหญ่ได้ด้วย

5)  กรมป่าไม้จะต้องแก้ไขกฎกระทรวงให้รุกขกรผู้มีใบรับรองสามารถครอบครองเลื่อยยนต์โซ่ที่มีด้ามโซ่ยาวขึ้น เพราะต้นไม้ที่ล้มในเมืองส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่บางครั้งใหญ่กว่าต้นไม้ที่ลักลอบตัดในป่าเสียอีก การจดทะเบียนควรง่ายเหมือนการจดทะเบียนรถยนต์หรือจักรยานยนต์

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ

ที่ผ่านมารับฟังแต่ไม่มีใครขยับ

รอบปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนหลายแห่งรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครพัฒนาการบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองอย่างถูกต้องเพื่อความสวยงามและปลอดภัย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีตำแหน่งรุกขกรหรือหมอต้นไม้อย่างแท้จริง

ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “เครือข่ายต้นไม้ในเมือง” บอกว่า ความสูญเสียล่าสุดเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นอีกครั้งว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีรุกขกรซึ่งถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญต่อการบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง

“ถ้าไม่มีระบบบริหารจัดการ ต้นไม้จะกลายเป็นอันตรายของคนเมือง เป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่เรื่องของนักอนุรักษ์โลกสวย ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่ทำหน้าที่เท่ากับคุณเพิกเฉยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”

ช่อผกา เล่าว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาแม้เครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารจัดการต้นไม้ แต่กลับไม่ได้รับการต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ

“ทุกคนพยักหน้าแต่ไม่มีใครก้าวขาเดิน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ไม่มีรูปธรรมในเชิงนโยบาย เป็นลักษณะรูปธรรมเล็กๆ อย่างการจัดอบรม แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ มันไม่ใช่แค่อบรมรุกขกร แต่ต้องให้รุกขกรเข้าไปทำงานในหน่วยงานและแก้ไขปัญหาต้นไม้ที่มีอยู่ได้ จะเป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือจ้างหน่วยงานภายนอก (outsource) ก็ต้องร่างระเบียบและวางแผนงานอย่างเป็นระบบ” ช่อผกาบอกพร้อมย้ำว่า  “ทุกหน่วยงานพยักหน้าแต่ไม่ก้าวขาเดิน ต้นไม้ก็ล้มฟาดหัวคนตายต่อไป”

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ

ลำต้น เรือนยอด ราก 3 สิ่งที่ควรประเมินให้ดี

ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน ผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง บอกว่า พี่น้องประชาชนควรร่วมกับภาครัฐทำหน้าที่สังเกตต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองโดยประเมิน ลำต้น เรือนยอด และราก ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่พอบอกได้ว่า ต้นไม้เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความอันตรายต่อชีวิตผู้คนหรือไม่

“สังเกตลำต้นผุเป็นโพรง คดงอหรือเอียงออกไปจากศูนย์กลางลำต้นมากหรือป่าว เรือนยอดสมดุลไหม กิ่งก้านหนักไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปหรือไม่ มียอดกิ่ง ที่แห้งผุค้างอยู่หรือป่าว บางทีต้นไม่ล้มแต่กิ่งอาจตกลงมาได้ 

ขณะที่ระบบรากต้นไม้ในกทม. รากผิวดินมีความสำคัญมาก เพราะรากแก้วไม่มี น้ำใต้ดินมันตื้น ความมั่นคงของต้นไม้ขึ้นอยู่กับรากแขนงเท่านั้น จำเป็นต้องประเมินดูว่าทิศทางของรากแขนงกระจายตัวแบบรัศมีดาวหรือไม่ ด้านหนึ่งทำหน้าที่ค้ำยันอีกด้านเหนี่ยวรั้ง เรื่องนี้ในต่างประเทศมีแบบฟอร์มการประเมินอันตรายจากต้นไม้ใหญ่ระบุชัดเจนว่า ต้นไม้ในพื้นที่ใดมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง บ้านเรายังไม่มีเป็นเรื่องเป็นราว”

ครูต้อ ย้ำเรื่องเดิมๆ ที่ผลักดันมาแทบทั้งชีวิตว่า หลักการจัดการต้นไม้ ต้องรักษาสมดุลระหว่างความอันตรายกับความสวยงาม หมายความว่า รุกขกรต้องมีความสามารถ ประสบการณ์และวิจารณญาณประกอบกันในการตัดแต่ง

“ถ้ารุกขกรขี้กลัวมาก ตัดต้นไม้จนเหลือโอกาสที่จะเกิดอันตรายแค่เพียง 10% เราจะได้ต้นไม้ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์มาก แต่ถ้าเกิดรุกขกรเกิดรักและตามใจต้นไม้มาก อันตรายก็จะสูง ตรงนี้เป็นประสบการณ์และวิจารณญาณ เป็นเรื่องใหญ่ของเมืองไทยที่ต้องสร้างคนขึ้นมาและมีพื้นที่รองรับพวกเขาอย่างแท้จริง”

 

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ

ต้นไหนไม่ปลอดภัยกรุณาแจ้งกทม.

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่ 50 เขตของ กทม. มีต้นไม้ยืนต้น ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ บนทางเท้าและสวนสาธารณะรวมทั้งหมด 3,186,640 ต้น แยกเป็นต้นไม้บริเวณทางเท้า เกาะกลางและริมท้องถนนราว 1.5 ล้านต้น

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่า การดูแลต้นไม้ของกทม. เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตและสำนักสิ่งแวดล้อมคอยพัฒนาต้นไม้ให้เจริญงอกงาม แข็งแรง โดยตัดแต่งตามหลักวิชาการให้มีความเหมาะสมและเกิดความปลอดภัย

หากพบว่าต้นไม้ต้นใดอยู่ในสภาพไม่มีความมั่นคงปลอดภัย เขตหรือสำนักงานสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการโดยการนำท่อนไม้หรือเหล็กมาติดตั้งเพื่อพยุงต้นไว้ หรือหากมีความจำเป็นต้องทำศัลยกรรมต้นไม้ กทม. มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในการเข้าไปดูแล และขั้นตอนสุดท้ายหากพิจารณาแล้วว่า ถ้าปล่อยให้ต้นไม้มีปัญหาอยู่ในพื้นที่ต่อไป จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชน จะทำการขุดล้อมและนำออกจากพื้นที่ โดยนำไปบำรุงรักษาจนกระทั่งมีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ก่อนนำมาปลูกไว้ที่เดิมหรือย้ายไปไว้ยังสวนสาธารณะต่อไป

“แนวทางปฏิบัตินั้นมีอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า จำนวนต้นไม้กว่า 3 ล้านต้น อาจใช้เวลาในการสอดส่องเสียหน่อย แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องคอยหมั่นตรวจสอบ”

จักกพันธุ์ บอกต่อว่า กรุงเทพเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้ำใต้ดินสูง ขณะที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ เป็นต้นไม้ที่ล้อมมาปลูก หลังสร้างทางเท้าหรือเกาะกลางแล้วเสร็จ เรื่องสำคัญคือต้นไม้ที่ล้อมมาไม่มีรากแก้ว มีเฉพาะรากแขนง ในกรณีที่ใต้ดินมีระดับน้ำสูงหรือฝนตกลงมา ดินตรงนั้นจะมีสภาพชื้นแฉะ ทำให้โอกาสที่ต้นไม้จะล้มมีเพิ่มมากขึ้น

“โดยสรุปแล้วเป็นหน้าที่ของกทม. ที่จะดูแลต้นไม้ หากเอกชนหรือชาวบ้านเจ้าของต้น อยากให้กทม.เข้าไปให้คำแนะนำหรือจัดการตรวจสอบอันตรายหรือความเสี่ยง กทม.ก็ยินดี สามารถติดต่อไปยังสำนักงานเขตได้”

รองผู้ว่าฯ กทม. ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้สำนักงานแต่ละเขตและสำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการสำรวจและจัดทำบันทึกว่าต้นไม้ใหญ่ต้นใดที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายบ้าง คาดว่าจะมีความคืบหน้าเร็วๆ นี้

อย่าปล่อยให้ความสูญเสียครั้งนี้ผ่านไปโดยไม่เกิดการเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาเเล้วที่ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ต้องสวยงามเเละปลอดภัยมากกว่าที่เป็น

"อย่าให้คนตายฟรี"ถอดบทเรียนต้นไม้ล้มในเมืองกรุงฯ