posttoday

บริการตรวจดีเอ็นเอ เอกสาร ยาเสพติด สลายข้อพิพาททางคดีลดความขัดแย้ง

15 พฤษภาคม 2560

การให้บริการจะช่วยให้ประชาชนสามารถลดข้อพิพาททางคดีความในระดับหนึ่งหรือบางครั้งไกล่เกลี่ยกันเข้าใจก็ลดปัญหาทางคดีเข้าสู่ชั้นศาล

เรื่อง:เอกชัย จั่นทอง / ภาพ:กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมเกี่ยวกับคดีอาญาและคดีแพ่งมีผู้กระทำผิดมากขึ้น  อาทิ เหตุฆาตกรรมอำพราง  ปลอมแปลงเอกสาร  และยาเสพติด ล้วนเป็นปัญหาซับซ้อนทางคดีทั้งสิ้น  ญาติพี่น้องผู้เสียหายต่างต้องการเรียกร้องขอความเป็นธรรม  ดังนั้นพยานหลักฐานคือหัวใจสำคัญในการเรียกร้องความยุติธรรมต่อสู้ทางคดี

เพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้ทำให้ “สมณ์  พรหมรส”  ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) กระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นมาสลัดความทุกข์ของประชาชนเดินหน้าเชิงรุกบริการตรวจดีเอ็นเอ และตรวจพิสูจน์อื่นๆอีกหลายด้าน พร้อมกับระบุว่า หน้าที่หลักของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์คือพิสูจน์ข้อเท็จจริง สนับสนุนงานในคดีและกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน  ส่วนใหญ่ดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาในการตรวจชันสูตรศพ รวมถึงกรณีชาวบ้านร้องเรียนเข้ามาขอความช่วยเหลือ

ผู้อำนวยการ สนว. เล่าถึงเหตุผลการทำงานครั้งนี้ว่า ปัจจุบัน สนว.มีพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 รองรับ โดยให้อำนาจมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากรับเรื่องจากหน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ ดีเอสไอ และหน่วยงานความมั่นคง  ปัจจุบันสามารถเปิดโอกาสให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ให้บริการกับประชาชน ซึ่งนอกเหนือจากงานผ่าชันสูตรศพแล้ว  ทางสถาบันฯ ยังดำเนินงานอีกหลายด้าน  เช่น การตรวจที่เกิดเหตุ การตรวจสภาพร่างกาย  การตรวจสภาพจิตใจผู้เสียหาย  การตรวจสารเคมีสารพิษ  การตรวจศพนิรนามและบุคคลสูญหาย

ซึ่งการให้บริการต่างๆจะช่วยทำให้ประชาชนลดข้อขัดแย้ง ลดการพิพาททางคดีความได้รวดเร็วขึ้น โดยผู้อำนวยการ สมภ์ ฉายภาพให้เห็นว่า ทางสนว.จะเปิดให้บริการประชาชนในเดือนมิถุนายนนี้ ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารบี โดยจะดำเนินการใน  3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย  1.การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ สมมติผู้ใช้บริการอยากรู้ว่าเป็นพ่อแม่ลูก หรือเครือญาติจริงหรือไม่ ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์ 20 วัน

2.การตรวจพิสูจน์เอกสารตรวจลายเซ็น เช่น ผู้ใช้บริการมีปัญหาเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร  ลายเซ็น  ร่องรอยการลบ ขีด ขูด จนต้องฟ้องร้องเป็นคดีความสามารถขอใช้บริการให้ทางสถาบันฯ ช่วยตรวจสอบได้ เพราะบางครั้งคู่กรณีอาจมีอิทธิพล หรือใช้หลักฐานเท็จยื่นต่อศาล  ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์ 33 วัน

3.การตรวจพิสูจน์สารเคมีในเส้นผม  ยกตัวอย่าง บุตรหลานอาจต้องสงสัยว่าติดยาเสพติดหรือไม่ ทางสถาบันฯ มีนวัตกรรมสามารถดำเนินการตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผมได้ นอกเหนือจากสารพเสพติดยังตรวจสารเคมีอื่นๆได้อีกด้วย  ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์ 30 วัน

ผอ.สมภ์  กล่าวว่า ทั้งหมดในส่วนนี้ประชาชนสามารถเดินทางมาติดต่อใช้บริการได้ และเชื่อว่าการดำเนินการครั้งนี้คุ้มค่าคืนกำไรให้กับสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ เพราะอดีตเราไม่ได้รับตรวจบริการลักษณะนี้ เนื่องจากว่าไม่มีอำนาจ  ดังนั้นการให้บริการจะช่วยให้ประชาชนสามารถลดข้อขัดแย้ง ข้อพิพาททางคดีความในระดับหนึ่ง  หรือบางครั้งไกล่เกลี่ยกันเข้าใจก็ลดปัญหาทางคดีเข้าสู่ชั้นศาลได้อีกจำนวนมาก

“ต่อไปจะต้องทำงานในเชิงรุกไม่ตั้งรับอย่างเดียว เป้าหมายสำคัญคือการลดข้อขัดแย้งของประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ทั้งนี้เมื่อประชาชนรับรู้ว่าเปิดให้บริการเรื่องของราคาใช้บริการต้องไม่แพงหรือสูงเกินไปจนประชาชนเกิดภาระ สำคัญที่สุดหากผู้ใช้บริการคนใดมีฐานะยากจนทางสถาบันฯยินดีให้บริการฟรี แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นผู้มีฐานะยากจนจริง เช่น อาจขอดูบัตรประจำตัวผู้มีรายได้น้อย ตรวจสอบการเสียภาษี ฯลฯ”

ผอ.สมภ์  ให้ความมั่นใจในการเปิดบริการว่า สำหรับความพร้อมเปิดบริการ ทางสถาบันฯจัดเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ 20 คน หากไม่มีเพียงพอจะจ้างเอาท์ซอร์สเพิ่มเติมมาเสริมรับเรื่องบริการให้เพียงพอ  และหากประชาชนใช้บริการจำนวนมากทางสถาบันฯ จะให้บัตรคิวนัดเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะเป็นการเปิดบริการนำร่องครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเรื่องมาตรฐานการตรวจพิสูจน์แต่ละด้าน ผอ.สมภ์  ยืนยันว่าไม่ต้องห่วงเพราะสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีมาตรฐานรองรับอย่างดี ขณะนี้พร้อมให้บริการกับประชาชนแล้ว  และในอนาคตอาจขยายการบริการไปทุกภูมิภาคโดยร่วมกับยุติธรรมจังหวัด เป้าหมายหวังบริการประชาชนให้ครอบคลุมเท่าเทียมทุกพื้นที่ทุกคน

 

บริการตรวจดีเอ็นเอ เอกสาร ยาเสพติด สลายข้อพิพาททางคดีลดความขัดแย้ง “สมณ์ พรหมรส” ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) กระทรวงยุติธรรม

ขณะที่ พ.ต.ต.หญิง ปวีณา กสิกิจวิวัฒน์  นักนิติวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อธิบายขั้นตอนการตรวจพิสูจน์เอกสารว่า ในการตรวจพิสูจน์เอกสารมีการตรวจหลายอย่าง เช่น การตรวจลายมือเขียน ลายมือชื่อ การตรวจการขูด ลบ แก้ไข ชนิดหมึก ชนิดกระดาษ   ตรวจเอกสารว่ามีการปลอมแปลงหรือไม่  เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์ ธนบัตร หนังสือเดินทาง ถือเป็นการตรวจอีกประเภทนอกเหนือจากลายมือและลายเซ็น

ในการตรวจเอกสารแต่ละครั้งมีความยุ่งยากในแต่ละกรณี  อย่างในความไม่ครบถ้วนของเอกสารอาจทำให้การทำงานค่อนข้างยาก เช่น เอกสารตัวอย่างไม่สมบูรณ์  ได้จำนวนน้อย  เอกสารเป็นสำเนา ตรงจุดนี้จะทำให้การทำงานยากขึ้น ปกติต้องตรวจจากต้นฉบับเพราะความชัดเจนจะดีกว่า  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเอกสารที่ได้มาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ และมีสิ่งบ่งชี้ในเอกสารให้สามารถตรวจตามหลักการทฤษฎีมากน้อยแค่ไหน  ส่วนข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้คือเรื่องของอายุลายเซ็น  อายุน้ำหมึก และอายุกระดาษ

นักนิติวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ หยิบยกตัวเลขสถิติการตรวจพิสูจน์เอกสาร ก่อนระบุว่า ปริมาณการส่งตรวจพิสูจน์เอกสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับสถิติย้อนหลัง 3 ปี จะพบว่า ในปี 2557 ส่ง ตรวจพิสูจน์เอกสาร  จำนวน 336 คดี ถัดมาปี 2558 ส่งตรวจพิสูจน์เอกสาร  จำนวน  556 คดี และปี 2559 ส่งตรวจพิสูจน์เอกสาร จำนวน  691 คดี

“ส่วนใหญ่ตอนนี้ที่มีการส่งมาให้ตรวจพิสูจน์จะเป็นเรื่องลายมือลายเซ็น ธนบัตร หนังสือเดินทางมีไม่มาก  และตรวจการต่อเติมแก้ไข อย่างลายมือเขียนกรอกลงในเช็ค ขณะเซ็นเช็คระบุลงจำนวนเงิน  5 หมื่นบาท แต่อาจพบว่ามีการต่อเติมตัวเลข 1 ด้านหน้าทำให้วงเงินเพิ่มเป็น 1.5 แสนบาท หรือกรณีอื่นๆอาจต่อเติมปรับแต่งตัวเลข 1 เป็น 4 เป็น 7 สิ่งเหล่านี้ประชาชนต้องระมัดระวัง”

พ.ต.ต.หญิง ปวีณา  ฝากเตือนประชาชนด้วยว่า ก่อนเซ็นเอกสารทุกอย่างควรตรวจทานให้ถี่ถ้วน  ส่วนลายมือชื่อควรให้มีความพิเศษหรือมีเอกลักษณ์ ไม่เซ็นแบบอักษรตัวเดียวหรือลายเส้นน้อยๆ ความคงที่ของลายเซ็นไม่ดี ขอแนะนำว่าถ้าลายเซ็นยังมีเอกลักษณ์ไม่พอควรวงเล็บชื่อ-นามสกุลไว้ด้วย ตรงนี้จะช่วยป้องกันได้  สำหรับคนที่หัดเซ็นลายเซ็นใหม่ควรฝึกฝนเซ็นให้คงที่ก่อนถึงนำมาใช้เซ็นในเอกสารสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้สำเนา ต้องระบุให้ชัดเจนว่าใช้ทำอะไร  ระบุวัน ลงชื่อให้ชัดเจน ส่วนธนบัตรก็ใช้มือสัมผัสและยกส่องดูให้เรียบร้อย ถ้าเราไม่รีบร้อนและช่างสังเกตในการดำเนินการธุรกรรมต่างๆเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อ

ในฐานะผู้คลุกคลีกับงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน  พ.ต.ต.หญิง ปวีณา ให้นิยามไว้ว่าอาชญากรรมมันไม่มีทางสมบูรณ์แบบ แต่จะมีร่องรอยให้เราสามารถติดตามได้เสมอ…

*****************

บริการตรวจดีเอ็นเอ เอกสาร ยาเสพติด สลายข้อพิพาททางคดีลดความขัดแย้ง

 

สรุปผลการตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ยอดรวม ตั้งแต่เดือน ต.ค.59-มี.ค.60 (6 เดือน) การตรวจพิสูจน์ทั่วไปจำนวน 9,118 เรื่อง และการตรวจพิสูจน์จากพื้นที่ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 376 เรื่อง   รวมทั้งสิ้น 9,494 เรื่อง

แยกเป็นการตรวจพิสูจน์ 11 ด้าน ประกอบด้วย

1.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านเอกสาร 205 เรื่อง

2.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านอาวุธปืน ร่องรอย เครื่องมือ และฟิสิกส์  493 เรื่อง

3.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านศพนิรนามและบุคคลสูญหาย 253 เรื่อง

4.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านนิติพยาธิ  3,287 เรื่อง

5.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านนิติเวชคลินิก 167 เรื่อง  ตรวจใน 4 จังหวัดชายแดนใต้  1 เรื่อง

6.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านนิติจิตเวช  17 เรื่อง

7.การตรวจสถานที่เกิดเหตุ  1,048 เรื่อง

8.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านลายนิ้วมือและฝ่ามืออัตโนมัติ  7 เรื่อง    ตรวจใน 4 จังหวัดชายแดนใต้  28 เรื่อง

9.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านสารพันธุกรรม (DNA)  1,961 เรื่อง   ตรวจใน 4 จังหวัดชายแดนใต้   3,714 เรื่อง

10.การตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ด้านเคมี (ยา สารพิษ สารพเสพติด สารเคมี)  1,668 เรื่อง  ตรวจใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ 3,172 เรื่อง

11.การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ 12 เรื่อง  ตรวจใน 4 จังหวัดชายแดนใต้  54 เรื่อง