posttoday

"แทะโลม-เคาะห้องพัก-บุกลวนลาม"ชีวิตบนความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่หญิงรพ.สต.

17 เมษายน 2560

เจาะใจคนทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลังเหตุคนร้ายพยายามข่มขืนเจ้าหน้าที่หญิง

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ชายหนุ่มนิรนามแสร้งทำตัวเป็นคนไข้ เข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นนอกเวลาราชการ ก่อนพยายามข่มขืนเจ้าหน้าที่อนามัยหญิง แต่เจ้าตัวขัดขืนจนเอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

เหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความหดหู่ใจให้กับคนทำงาน จนเกิดกระแสเรียกร้องจากประชาชนให้ผู้มีอำนาจเห็นคุณค่าของบุคลากรเหล่านี้เสียที

บุคลากรน้อย งบจำกัด ชีวิตมีแต่ความเสี่ยง

จรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ ประธานชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย บอกว่า บุคลากรทางการแพทย์ในรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้นเสี่ยงต่ออันตรายมาก ด้วยสถานที่ตั้งห่างไกล จำนวนบุคลากรมีน้อย การปฎิบัติหน้าที่ในช่วงเวลากลางคืน หลายครั้งต้องเข้าเวรเพียงคนเดียว ตลอดจนจรรยาบรรณของการทำงานซึ่งไม่ได้คิดถึงอันตรายหรือมีความระมัดระวังเพียงพอ ทั้งหมดนำไปสู่ความเสี่ยงแทบทั้งสิ้น

“กลางคืนต้องอยู่เวรสลับกัน หลายแห่งต้องอยู่คนเดียว เพราะการจัดเวรเกี่ยวพันกับเรื่องบประมาณ และถึงแม้เจ้าหน้าที่จะอยู่ในชุมชน พอมีความคุ้นเคยกับชาวบ้าน แต่ปัญหาอาจจะเกิดจากคนนอกชุมชน เหตุการณ์จี้ปล้น ข่มขู่ พูดจาลวนลามเกิดขึ้นมาตลอด จะเป็นข่าวหรือไม่เท่านั้นเอง สถานีอนามัยบางแห่งอยู่โดดๆ ห่างไกลจากชุมชนก็เสี่ยงเข้าไปใหญ่”

บุคลากรภายใน รพ.สต. ประกอบไปด้วย นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และลูกจ้างวิชาชีพ ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีอัตราแตกต่างกันออกไปตามขนาดและจำนวนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยไม่มีอัตราจ้างในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะ การป้องกันความเสี่ยงอันตรายขึ้นอยู่การบริหารจัดการของตัวเอง ส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีกำหนดเวลาให้บริการสั้นลงเพื่อความปลอดภัยของบุคลากร

“ก่อน 20.00 น. บางพื้นที่ยังพอมีชาวบ้าน มีอสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน) ช่วยดูแล แต่หลังจาก 20.00 น.ไปแล้ว เริ่มไม่มีความปลอดภัย บางแห่งจึงเลือกปิดให้บริการ แต่ยังมีคนอยู่เวร ซึ่งก็เสี่ยงสำหรับผู้หญิง เด็กจบใหม่ที่มีความคุ้นเคยหรือประสบการณ์น้อย”

แม้มีการกำหนดเวลาให้บริการ แต่ในทางปฏิบัติ หากมีคนไข้ซึ่งแฝงไปด้วยเจตนาร้ายเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องช่วย

“บางคนไปขอความช่วยเหลือถึงบ้านพักของเจ้าหน้าที่เลยก็มี บ้านพักนั้นตั้งอยู่ในสถานอนามัย คนเจตนาไม่ดี อาจจะมาเรียกเราตอน 3-4 ทุ่ม ด้วยลักษณะการปฎิบัติหน้าที่ของคนทำงาน เราไม่ได้คิดในแง่ร้าย คิดเพียงว่าจะให้บริการ แต่เจตนาของเขาเราไม่รู้ ทำให้การระมัดระวังตัวเองมันน้อยหรือไม่ได้ระวังเลย บางคนมาขอรับบริการแล้วเหตุการณ์มันพาไปก็มี”

"แทะโลม-เคาะห้องพัก-บุกลวนลาม"ชีวิตบนความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่หญิงรพ.สต.

คนขี้เมาตัวดี กอด – แซว

อุไรวรรณ ฐิติวัฒนากูล พยาบาลวิชาชีพรพ.สต.บุ่งคำ ต.พรสวรรค์ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี เล่าประสบการณ์ของตัวเองเมื่อครั้งถูกคนไข้ชายวัยรุ่นโผเข้ากอดจากด้านหลัง

“เขามาเพราะเวียนหัว เราดูแล้วเหมือนคนเมาอะไรสักอย่าง แต่ไม่ได้กลิ่นเหล้า ระหว่างเดินนำเข้าไปในห้องตรวจ ด้วยความที่เรายืนอยู่ข้างหน้า จู่ๆ เขาก็โผเข้ากอดเรา โชคดีเราเห็นก่อน ด้วยความตกใจเลยเผลอถีบเขากระเด็นล้มลง คนงานที่อยู่แถวนั้นได้ยินเสียงเข้า ก็เลยรีบวิ่งเข้ามาดู สุดท้ายมารู้ว่าเขาเมายาเสพติด”

บทเรียนที่เธอรับหลังเหตุการณ์นั้นก็คือการระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ไม่หันหลังให้กับคนไข้อีกต่อไป พยายามให้คนไข้อยู่ในสายตาตลอดเวลา เธอเผยว่า ลักษณะการลวนลามด้วยวาจาและร่างกายในลักษณะจับมือนั้นยังเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มคนไข้ที่มีอาการมึนเมาสุรา

“พวกเมาๆ บางคนมาด้วยอุบัติเหตุ เข้ามาให้เราทำแผล ตอนทำก็พูดจาลวนลาม จับไม้จับมือพยาบาล”

อุไรวรรณ บอกว่า งบประมาณที่มีอย่างจำกัดเป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าเวรเพียงแค่คนเดียว

“ตอนเย็นเพื่อนร่วมงานกลับบ้านกันหมด เจ้าหน้าที่อยู่เวรคนเดียว ไม่มีเพื่อน ทางเราเซฟเรื่องเงินมาก ต้องประหยัด ไม่ให้อยู่เวรคู่กัน เมื่อก่อนเขาให้อยู่ถึง 20.30 น. ตอนหลังเขาให้อยู่แค่ 18.30 น. เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความปลอดภัยของคนทำงานด้วย”

พยาบาลวิชาชีพรายนี้ยังเล่าประสบการณ์ของเพื่อนร่วมงานตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขให้ฟังด้วยว่า เจอคนไข้ผู้ชายบุกเข้ามาในบ้านพัก เคาะเรียกประตูห้องนอนเพื่อให้เธอออกมาหา

“น้องหน้าตาดี ถูกแซวประจำ โดยเฉพาะพวกคนเมา บางคนชอบมาเรียก คุณหมอคนสวย รักคุณหมอจังเลยครับ วันหนึ่งนอนอยู่ในห้องพัก กลางคืนมีคนไข้ชายบุกเข้ามา เคาะประตูห้อง น้องก็กลัว โทรตามคนมาช่วยไว้ได้ สุดท้ายเขาย้ายออกจากบ้านพักเลย เทียวไปเทียวมาทำงาน เพราะกลัว แต่ทีนี้อยู่เวรคนเดียว ขับมอเตอร์ไซต์กลับบ้านคนเดียว ก็เท่ากับไปเสี่ยงเอาระหว่างทางอีก”

 

"แทะโลม-เคาะห้องพัก-บุกลวนลาม"ชีวิตบนความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่หญิงรพ.สต.

พัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกับชุมชน ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย

ปาริชาติ แก้วทองประคำ ประธานชมรมพยาบาลแห่งประเทศไทย ภาคใต้ตอนล่าง บอกว่า การปฎิบัติงานจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธภาพอันดีกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันและเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวเอง ขณะเดียวต้องวางระบบรักษาความปลอดภัยผ่านอุปกรณ์ด้วย

“เมื่อลงไปพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชน ทำให้เราเป็นที่รู้จัก รักและศรัทธา เขาจะค่อนข้างให้เกียรติและดูแลเรา เราไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเหมือน รพ.ในระดับอำเภอ แต่ด้วยความสัมพันธ์ ทำให้ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ดูแลความเรียบร้อยให้ ในด้านอุปกรณ์พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รพ.สต. ทุกแห่งมีการติดตั้งออดเตือนภัย ฉุกเฉินเมื่อไหร่กดทันที ติดตั้งกล้องวงจรปิดและเช็กสภาพความเรียบร้อยสม่ำเสมอ ทำให้ไม่เคยเกิดเรื่องราวอันตรายขึ้นกับบุคลากร”

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม บอกว่า การคุกคามทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกๆ สถานที่การทำงาน สำหรับวงการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องลงทุนกับความปลอดภัยของผู้หญิง

“โดยหลักแล้วพวกเขาปฎิเสธคนมารับบริการไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะเข้ามาแบบไหน ในเบื้องต้นการป้องกันต้องติดตั้งอุปกรณ์กล้องซีซีทีวี สัญญาณเตือนภัย และผู้บริหารต้องมีความตระหนักต่อความอ่อนไหวทางเพศ พยายามปิดช่องความเสี่ยงระหว่างคนไข้และคนทำงานในลักษณะสองต่อสอง เนื่องจากบางครั้งอันตรายทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้รวดเร็วมาก เช่นกันกับกฎหมายที่ต้องติดตามจับกุมลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็ว”

ด้านการแก้ไขปัญหาในภาพกว้างนั้น เอ็นจีโอด้านสตรี บอกว่า สถาบันครอบครัวและการศึกษา มีส่วนสำคัญมากในการมอบทัศนคติที่ดีให้กับคนไทย ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

"แทะโลม-เคาะห้องพัก-บุกลวนลาม"ชีวิตบนความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่หญิงรพ.สต. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

4 มาตรการยกระดับความปลอดภัย

หลังเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งหนึ่งในพื้นที่จ.บึงกาฬ ถูกคนร้าย ซึ่งทำทีมาขอรับบริการทำร้ายร่างกายและพยายามล่วงละเมิดทางเพศ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่เจ้าหน้าที่ถูกกระทำในครั้งนี้ กระทรวงต้องปรับระบบบริการในสถานบริการโดยเฉพาะ รพ.สต. เบื้องต้น ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยที่มารับบริการ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง กรณีมีผู้มาขอรับบริการในยามวิกาลให้พิจารณาตามความเหมาะสมคำนึงถึงความปลอดภัยและขอให้ลงมาช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นทีม

นพ.วิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ได้สั่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัยกรณีมีผู้ป่วยมาขอรับบริการฉุกเฉินนอกเวลาทำการ ดังนี้

1.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24ชั่วโมง

2.ถ้าจำเป็นต้องลงมาให้บริการผู้ป่วยในยามวิกาลต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ชายให้ลงมาช่วยและต้องแจ้งผอ.รพ.สต.ด้วย

3.ให้ ผอ.รพสต. และสาธารณสุขอำเภอประสานกับสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ ในการให้มาตั้งตู้เช็คเหตุการณ์หน้ารพ.สต.

4.ห้ามเจ้าหน้าที่รพ.สต.ที่เป็นผู้หญิงลงมาให้บริการดูแลรักษานอกเวลาเวรโดยเฉพาะยามวิกาล

ทั้งนี้ได้กำชับให้สาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการ รพ.สต. ทุกแห่งช่วยดูแลและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย นอกจากนี้จะหารือกับสาธารณสุขอำเภอและ ผอ.รพ.สต.อีกครั้งเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ในการจัดระบบที่จะดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในรพ.สต.ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นต่อไป อาทิ การจัดเจ้าหน้าที่ผู้ชายอยู่เวรนอกเวลาทำการ การติดตั้งกล้องวงจรปิด การจัดให้มีเวรรักษาความปลอดภัยที่เป็นชายนอนเฝ้าสถานที่เป็นประจำ การออกนอกสถานที่ เพื่อให้บริการยามวิกาล และออกชุมชน และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้มแข็งเครือข่ายผู้นำชุมชนที่ดี

ถึงเวลาแล้วที่จะหันมามองสวัสดิภาพความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วทุกภูมิภาคอย่างจริงจังเสียที