posttoday

แก้ทุจริตเชิงนโยบาย ต้องเอาผิดตั้งแต่คิด

17 เมษายน 2560

ปัญหาที่ใหญ่และสำคัญคือ ในระบบกฎหมายไทยไม่มีกลไกการตรวจสอบ การกำหนดนโยบายที่สภาพบังคับอย่างแท้จริง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย : มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ปัญหาช่องว่างที่ก่อให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายในการนำนโยบายการเมืองไปสู่การปฏิบัติ

ที่ผ่านมากระบวนการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล โดยฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อป้องกันมิให้นำไปสู่การทุจริตนับว่ามีข้อจำกัดอย่างมาก เนื่องจากมีความแนบแน่นระหว่างบุคคลที่รัฐบาล ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ดังนั้น การตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นนับว่าเป็นเรื่องยาก แม้ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วการที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษก็อาจจะยากยิ่งกว่าเพราะความล่าช้าในการดำเนินคดีดังจะเห็นจากปัญหาการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงอุปสรรคในการตรวจสอบทางกฎหาย ปัญหาที่ใหญ่และสำคัญคือ ในระบบกฎหมายไทยไม่มีกลไกการตรวจสอบ การกำหนดนโยบายที่สภาพบังคับอย่างแท้จริง เนื่องจากการตรวจสอบนโยบายจะถูกกำหนดแยกเป็นการตรวจสอบทางการเมือง โดยรัฐสภาแยกจากการตรวจสอบในทางปกครองที่มีศาลปกครองเป็นฝ่ายตุลาการที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ

ปัญหาอีกประการหนึ่งในช่องว่างของการควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจากนโยบายรัฐบาลคือ ไม่มีการกำหนดความผิดและบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับฝ่ายการเมืองที่ฝ่าฝืนหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คงมีแต่ฝ่ายข้าราชการประจำหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐที่จะได้รับผลโดยตรงในทางการดำเนินงานด้านวินัยเท่านั้น

2.ปัญหาการสมคบกระทำความผิดกับการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย

บุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาต่อเมื่อได้มีการกระทำในขั้นพยายามไปจนกระทั่งความผิดสำเร็จ โดยหลักความรับผิดทางอาญาจะไม่ลงโทษบุคคลในขั้นตอนของการคิด ตกลงใจ ตระเตรียมการ เพราะเหตุว่าเป็นขั้นตอนที่อยู่ในจิตใจของผู้กระทำที่ยังไม่สามารถกลับใจไม่ลงมือกระทำได้ และในขั้นตอนดังกล่าวยังไม่มีการกระทำที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสงบของสังคม หรือยังไม่สั่นสะเทือนความรู้สึกในความถูกต้องของสาธารณชน

กฎหมายอาญาควรเข้ามาลงโทษการกระทำในขั้นสมคบ เพื่อที่จะป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงมือกระทำความผิด ดังนั้น ความผิดสำเร็จฐานใดที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับสังคม ก็ยิ่งมีเหตุผลหนักแน่นที่จะลงโทษบุคคลในขั้นตอนของการสมคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศ การบังคับใช้กฎหมายอาญาเข้ามาลงโทษบุคคลที่สมคบกันทุจริตเชิงนโยบาย จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งดีกว่าการไม่ลงโทษและปล่อยให้ลงมือกระทำทุจริตและเกิดความเสียหายจนยากที่จะเยียวยา

3.ข้อเสนอแนะ

(1) การปรับปรุงข้อห้ามในการใช้นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งควรมีบทบาทในการวินิจฉัยและกำหนดบทลงโทษบุคคล หรือพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนข้อห้ามในการหาเสียงไว้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้ควรมีการกำหนดหลักการสำคัญไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ต้องห้ามในการหาเสียงหรือไม่

การกำหนดเช่นนี้เชื่อว่าจะช่วยสกัดกั้นตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง มิให้พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมที่ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่งบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงคะแนนเสียง เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเสียงที่ระบุถึงตัวเลข จำนวนเงินที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการของรัฐบาล

(2) ความผิดฐานทุจริตเป็นความผิดที่ไม่มีผู้เสียหายที่เป็นปัจเจกชน ดังนั้น ลักษณะการกระทำความผิดจึงยากในการป้องกันและปราบปราม เพราะไม่มีปัจเจกชนที่เสียหายแจ้งความหรือดำเนินคดี การเพิ่มฐานความผิดในขั้นตอนของการสมคบและการเพิ่มบทลงโทษ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยับยั้งการกระทำดังกล่าว

เมื่อเปรียบเทียบกับฐานความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายอาญาไทยไม่ว่าจะเป็นการสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวยาเสพติด สมคบกันก่อการร้าย สมคบกระทำความผิดที่เกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การสมคบกันทุจริตสร้างความเสียหายกับสังคมมากพอกัน หรืออาจจะมากกว่าบรรดาความผิดที่กล่าวมา

ดังนั้น การกำหนดฐานความผิดสมคบกันทุจริตเพื่อเป็นการลงโทษผู้สมคบในขั้นตอนการวางแผนจึงเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำต่อไปที่สร้างความเสียหายที่เยียวยาได้ยาก หรือบางครั้งไม่อาจจะเยียวยาให้กลับคืนดังเดิมได้

(3) ในประเด็นการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เห็นว่าควรนำร่างเนื้อหาของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเคยเสนอโดยคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กลับมาทบทวนปรับปรุงแก้ไข เพราะมีหลักการที่จะช่วยส่งเสริมป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายได้อีกทางหนึ่ง