posttoday

ปฏิรูปกฎหมายอาญา เพิ่มโทษปรับ-คุมเข้มโจร

15 เมษายน 2560

ส่องสาระสำคัญพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 เพิ่มอัตราโทษปรับในกรณีกระทำความผิดทางอาญา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศเผย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การเพิ่มอัตราโทษปรับในกรณีกระทำความผิดทางอาญา จากเดิมทีอัตราโทษปรับในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขบางประการ ดังนี้ 

1.ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

มาตรา 334 ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ธรรมดา เดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท เปลี่ยนเป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท มาตรา 335 เกี่ยวกับการลักทรัพย์เหตุฉกรรจ์ เช่น การลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เดิมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-1 แสนบาท เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-1 แสนบาท

มาตรา 336 ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เดิมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท เปลี่ยนเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนการวิ่งราวทรัพย์ที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้เพิ่มโทษปรับเป็นตั้งแต่ 4 หมื่น-1.4 แสนบาท โดยยังคงโทษจำคุกตั้งแต่ 2-7 ปีไว้ตามเดิม

มาตรา 339 ความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือให้พ้นการจับกุม เดิมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1-2 หมื่นบาท เปลี่ยนเป็นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1-2 แสนบาท

มาตรา 340 ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เดิมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2-3 หมื่นบาท กฎหมายใหม่แก้เป็นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2-3 แสนบาท และหากการปล้นทรัพย์มีผู้กระทำแม้แต่คนเดียวที่มีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 12-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2.4-4 แสนบาท

มาตรา 341 ความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นการทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงเช่นว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง เดิมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่กฎหมายใหม่ยังคงโทษจำคุกไว้เท่าเดิม เพียงแต่กำหนดโทษปรับใหม่เป็น 6 หมื่นบาท

2.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

มาตรา 154 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นไม่ต้องเสีย หรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย เดิมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-4 หมื่นบาท ซึ่งกฎหมายใหม่ยังคงโทษจำคุกไว้เท่าเดิม เพียงแต่กำหนดโทษปรับให้สูงขึ้นเป็นปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท

มาตรา 157 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กฎหมายเดิมบัญญัติให้ต้องระวางโทษตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ยังให้คงโทษจำคุกในอัตราเดิม แต่เพิ่มโทษปรับเป็น 2 หมื่น-2 แสนบาท

3.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

มาตรา 201 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เดิมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-4 หมื่นบาท หรือประหารชีวิต แต่กฎหมายใหม่ได้กำหนดโทษปรับให้สูงขึ้นเป็นปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท ส่วนโทษจำคุกและประหารชีวิตยังคงไว้ตามเดิม

4.ความผิดเกี่ยวกับเพศ

มาตรา 280 ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี หรือเกินกว่า 15 ปี จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส เดิมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 หมื่นบาท แต่กฎหมายกำหนดโทษปรับเป็น 1-4 แสนบาท ส่วนโทษจำคุกยังคงไว้ตามเดิม

5.ความผิดต่อร่างกาย

มาตรา 297 เดิมทีในกรณีที่ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-10 ปี โดยไม่มีโทษปรับ แต่กฎหมายได้กำหนดโทษปรับขึ้นมา ซึ่งบัญญัติให้มีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น-2 แสนบาท

ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายอาญาฉบับใหม่แล้ว จะช่วยให้การก่ออาชญากรรมของประเทศลดลงหรือไม่ต่อไป