posttoday

"พัวพันการพนัน–คนดูไม่ยอมรับคำตัดสิน" ต้นเหตุเสี่ยงตายของกรรมการห้ามมวย

06 เมษายน 2560

ถอดบทเรียนเหตุการณ์ความสูญเสียหน้าสนามมวยลุมพินี จากปากผู้คร่ำหวอดในวงการหมัดมวยไทย

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพชายหนุ่มสวมหมวกกันน็อกอำพรางใบหน้า กระโดดลงจากมอเตอร์ไซค์ พร้อมไม้หน้าสามขนาดถนัดมือ เดินดิ่งเข้าไปบรรจงตีเข้าที่ศรีษะของ “อุดม ดีกระจ่าง” ประธานกรรมการฝ่ายเทคนิคของสนามมวยลุมพินีจนเสียหลักร่างกายแทบทรุดลงกับพื้น ระหว่างนั้นนายอนุชา ประทุมมา พนักงานรักษาความปลอดภัยพยายามเข้ามาช่วยเหลือ จึงถูกเพื่อนคนร้ายที่คร่อมอยู่บนมอเตอร์ไซค์ใช้อาวุธปืนยิงใส่เสียชีวิตทันที กลายเป็นข่าวดังไปทั่วสังคม

เหตุช็อกวงการมวยครั้งนี้กำลังถูกพูดถึงและตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงต้นเหตุและความไม่ปลอดภัยของกรรมการห้ามมวย

ปฐมเหตุความขัดแย้ง

หนึ่งสัปดาห์หลังเกิดเหตุสลด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายที่ใช้ไม้ฟาดศรีษะกรรมการได้ คนร้ายสารภาพว่าเป็นคนลงมือไม่มีผู้จ้างวานและเจตนาฆ่า ต้องการมาสั่งสอนเพราะเสียพนัน ส่วนผู้ใช้ปืนยิงรปภ.เสียชีวิตกำลังอยู่ระหว่างหลบหนี

สมาส จันทะคล้อย ประธานกรรมการผู้ตัดสินมวยไทย เวทีราชดำเนิน มองว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกรรมการห้ามมวย ส่วนใหญ่มีต้นเหตุมาจากการปฎิบัติหน้าที่ที่บรรดาเซียนมวยหรือคนดูมองว่า "ไม่ยุติธรรม" ซึ่งแยกออกไปได้หลายปัจจัย  เช่น ความสามารถของกรรมการเอง ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของผู้ชมและกรรมการ แม้แต่เรื่องการพนัน

“ต้องยอมรับว่าวงการนี้มันมีพนัน คู่ไหนสูสีคู่คี่ เราก็พากันคิดเข้าข้างตัวเองไว้ก่อน กูต้องชนะ พอผิดหวังก็พาลไม่พอใจ เกิดความขัดแย้ง ทั้งที่ทุกอย่างมันจะจบเลย ถ้าทุกคนดูกีฬาให้เป็นกีฬา รู้จักยอมรับคำตัดสิน หากมองแล้วกรรมการตัดสินแย่ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ทางออกก็คือร้องเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของระดับฝ่ายบริหารที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ  ถ้าเล่นตัดสินกันเองแบบนี้ก็ตายกันหมด”

ถึงแม้หลายคนจะดูด้วยความบันเทิง แต่ต้องยอมรับว่าการพนันในสนามมวยนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเมืองไทย อากัปกิริยาของคนในสนามเต็มไปด้วยหลากหลายท่าที มีการส่งซิกให้สัญญาณต่อรองราคา

สมาส เล่าว่า การพนันเกิดได้ทุกวินาทีในสนามมวย จากราคาต่อรองที่ขึ้นลงตลอดเวลาตามแต่สายตาของบรรดาเซียนมวย วันไหนใครผิดหวัง หมดเงินก็เสี่ยงที่จะมีอารมณ์ สุดท้ายโทษกรรมการว่าเป็นตัวปัญหา

“ราคามันไหลไปเรื่อยตามแต่ที่เขาเล่นกัน วินาทีนี้เล่นไอ้นี่ เดี๋ยวสักพักไอ้นี่ล้ม กลิ้งไปกับพื้น ก็มีคนเปิดราคาใหม่ คนมันเยอะ ราคาในสนามมันมีหลายวง หาจับชนกันไปเรื่อย”

 

"พัวพันการพนัน–คนดูไม่ยอมรับคำตัดสิน" ต้นเหตุเสี่ยงตายของกรรมการห้ามมวย

 

ยงศักดิ์ ณ สงขลา กรรมการจากเวทีมวยช่อง 7 สี ยอมรับว่า สิ่งที่ก้าวกระโดดไปพร้อมกับความนิยมในกีฬามวยก็คือ การพนัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดที่ทำให้เม็ดเงินในการพนันนั้นเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณจากในอดีต ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจสำหรับผู้ที่เสียผลประโยชน์

อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า ผู้ตัดสินแทบทั้งหมดทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและเจตนาบริสุทธิ์

“มันมีการปล่อยข่าว มีการสร้างกระแสในแง่ลบให้กับผู้ตัดสิน แต่ผมกล้าการันตีว่า ผู้ตัดสินทุกคนทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ข่าวลือและกระแสอาจทำให้คนในวงการมวยมีความรู้สึกเชื่อหรือครหาในการทำหน้าที่”

ยงศักดิ์ บอกว่า วงการมวยมีความเป็นลูกผู้ชาย น้อยครั้งที่จะเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น โดยวัฒนธรรมของการแสดงออกเมื่อเกิดความไม่พอใจเป็นไปในลักษณะส่งเสียงโห่ประท้วงเท่านั้น

“ตอนผู้ตัดสินชูมือ มีทั้งคนปรบมือและด่า ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การไม่พอใจถึงขั้นทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นน้อยมากในวงการมวย บางวงการหนักกว่าเยอะ ผมกล้าพูดว่า คนที่อยู่วงการมวยมีความเป็นลูกผู้ชายค่อนข้างสูง เป็นนักเลง ไม่ใช่อันธพาล แพ้คือแพ้ การส่งเสียงโห่ฮา ขว้างสิ่งของ คือสัญลักษณ์ของการแสดงออกว่าไม่ยอมรับ ไม่พอใจ บางครั้งก็ลงมาประท้วง ขอคำชี้แจงจากผู้ตัดสิน ซึ่งเมื่อผู้ตัดสินชี้แจง พวกเขาก็จะหยุดทันที นี่คือเสน่ห์ของวงการมวยบ้านเรา”

"พัวพันการพนัน–คนดูไม่ยอมรับคำตัดสิน" ต้นเหตุเสี่ยงตายของกรรมการห้ามมวย

 

วางตัวให้เป็น อย่าให้กระทบกับการตัดสิน

ปัจจุบันเซียนพนันบางคนยังคงใช้อิทธิพลในการครอบงำการทำงานของกรรมการผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น สร้างกระเเสในเเง่ลบ ข่มขู่ กดดันทั้งทางตรงและอ้อม

สมาส บอกว่า กรรมการห้ามมวยต้องรู้จักปฎิบัติตน จัดการความสัมพันธ์กับคนเพื่อไม่ให้โน้มเอียงไปมีผลประโยชน์ที่ส่อไปในทางมิชอบ

“เคยมีโทรศัพท์มาหาผม ไม่เชิงเป็นข้อเสนอ พวกนี้เขาจะพยายามคุยเอาเราเป็นพวกไว้ก่อน เมื่อไหร่เป็นพวกแล้ว ข้อเสนอตามมาทีหลัง แต่เราอยู่มา 20 ปี ไม่คลุกคลีมีนอกมีในกับใคร พวกเซียนเราไม่ไปสนิทด้วย การวางตัวและระยะห่างมันทำให้เราปลอดภัย น่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ดีและอยู่ได้ยาวนาน”

ธานี ชัยสุนทรโยธิน หรือ เจ๋ง ท่าพระจันทร์ ที่ปรึกษานิตยสารมวยสยาม บอกว่า แม้กติการมวยไทยจะระบุและเป็นที่รับรู้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฎิบัติไม่สามารถมองเห็นหรือตัดสินใจได้อย่างตรงไปตรงมาแม่นยำ 100 % เหมือนกีฬาที่ถูกกำหนดด้วยเวลา น้ำหนัก หรือตัวเลข ฉะนั้นความผิดพลาดหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเสมอ

“ทุกคนทราบดี ใครออกอาวุธชัดเจนจะแจ้งหนักหน่วง ใครออกอาวุธได้หลากหลายจะเป็นผู้ชนะ และถ้าคู่คี่สูสีนักมวยที่เป็นฝ่ายกระทำจะเป็นผู้ชนะ แต่ในทางปฎิบัติและตัดสินมันไม่ง่ายขนาดนั้น ทุกคนไม่ได้เห็นตรงกันไปซะหมด คนดูมวยถ่ายทอดสดกับคนดูที่เวทียังมองต่างมุมกันเลย เพราะงั้นมันยากที่จะมีอะไรชัดเจน”

ที่ปรึกษานิตยสารมวยสยาม บอกว่า ไม่มีใครรับประกันได้ว่ากรรมการต้องตัดสินแบบไหนถึงจะปลอดภัยหรือลดความเสี่ยงปราศจากความรุนแรงได้ 100% แต่อย่างน้อยที่สุด การสร้างศรัทธาความน่าเชื่อถือ มีการตัดสินที่ตรงไปตรงมา ก็ช่วยให้กรรมการผู้นั้นได้รับความเคารพและยอมรับได้

“สร้างความน่าเชื่อถือและปฎิบัติหน้าที่อย่างมั่นคงในรูปแบบที่แฟนมวยยอมรับ อย่างมวยสูสีคู่คี่ คุณเคยให้มวยฝ่ายเดินรุกไล่ชนะ คุณก็ควรจะให้การตัดสินแบบนี้เป็นมาตรฐานอย่างมั่นคง ต่อเนื่อง เป็นการลดข้อครหาได้ส่วนหนึ่ง เขาจะเห็นว่าเออ...คุณมีมาตรฐาน ไม่ใช่วันนี้มวยคู่คี่ ให้มวยเดินชนะ อีกวันให้มวยถอยชนะ ไม่ได้หมายถึงว่า มวยถอยต้องแพ้ตลอดนะ ถ้าออกอาวุธมันก็สามารถชนะได้ แต่อย่างน้อยๆ การมีมาตรฐานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยลดความเสี่ยงของความรุนแรงลงได้ ที่สำคัญการวางตัวสร้างบุคลิกน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ 100% หรอก”

"พัวพันการพนัน–คนดูไม่ยอมรับคำตัดสิน" ต้นเหตุเสี่ยงตายของกรรมการห้ามมวย

 

ยกระดับความยุติธรรมให้วงการมวย

ทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) บอกว่า ผู้ตัดสินในเวทีมวยหลักของประเทศทุกคนต่างมีความรู้ความสามารถและจรรยาบรรณกำกับอยู่แล้ว หากละเมิดจะถูกลงโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัจจุบัน กกท. ไม่สามารถกำกับดูแลการทำหน้าที่ได้อย่างทั่วถึง

“คนดูกีฬาต้องรู้จักยอมรับคำตัดสินเป็นพื้นฐาน หากไม่พอใจ รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม สามารถร้องเรียนการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินได้ ทางกกท. จะทำการพิจารณา โดยตั้งอนุกรรมการไต่สวนสืบหาข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องการพนันผมยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง และถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรรมการเสี่ยงต่ออันตราย ความรุนแรง ความไม่ปลอดภัยได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ว่ากันไปตามรูปมวยและกติกา”

ทนุเกียรติ ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยอยู่ระหว่างหยิบยกเรื่องมาตรฐานการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้ตัดสินใจขึ้นมาพิจารณาและหาแนวทางพัฒนา เช่นกันกับการพัฒนาให้คนดูมีทัศนคติที่ดีและรู้จักยอมรับคำตัดสินมากขึ้น

สมาส กรรมการห้ามมวย บอกว่า เมื่อการพนันเกิดขึ้นจริงในวงการ ก็ควรมีวิธีจัดการให้ชัดเจน เพื่อยกระดับให้ทุกอย่างมีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม การทำให้มีมาตรฐานอย่างแท้จริงจะนำไปสู่ความเป็นมืออาชีพของนักมวย กรรมการ โปรโมเตอร์ เซียนมวย แม้กระทั่งคนดู ขณะเดียวยังทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ระบบกฎหมายจนสามารถนำไปพัฒนาส่วนอื่นๆในวงการมวยไทยได้อีกมาก

“ตอนนี้คนพนันแบบไร้รูปแบบ กูทำไงก็ได้แล้วแต่เพื่อให้ชนะ เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง วงการมวยมันต้องยกระดับเพื่อให้คนภายนอกเห็นว่า วงการนี้ไม่ใช่วงการมาเฟีย ไม่ใช่วงการนักเลง แต่เป็นวงการกีฬาที่น่าเข้าไปสัมผัสไม่ใช่ของคนบางกลุ่มเท่านั้น”

ยงศักดิ์ บอกว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพื่อจัดตั้งองค์กรผู้ตัดสินอาชีพในลักษณะองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อหารือข้อบกพร่อง ปรับทิศทางการตัดสินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมต้องการให้คนดูมวยทั้งประเทศเข้าใจตรงกัน ทั้งเซียน ชาวบ้าน คนต่างชาติ ไม่ใช่เซียนดูแบบหนึ่ง ชาวบ้านดูแบบหนึ่ง ฝรั่งดูแบบหนึ่ง แบบนั้นมันล้มเหลว ออกสู่สากลไม่ได้ ทำไงให้ทุกคนเข้าใจเหมือนกันหมด เห็นผู้ชนะเป็นภาพเดียวกัน”

 

"พัวพันการพนัน–คนดูไม่ยอมรับคำตัดสิน" ต้นเหตุเสี่ยงตายของกรรมการห้ามมวย

 

นพ.สุทธิชัย โชคกิจชัย นายใหญ่แคมป์ ส.โชคกิจชัย และแพทย์ประจำเวทีมวยลุมพินี เห็นว่า ปัจจุบันมาตรฐานในการตัดสินนั้นมีอยู่แล้วและเป็นที่ยอมรับในส่วนใหญ่ เพียงแต่มีพื้นที่สีเทาในการตัดสินอยู่บ้าง โดยมักเกิดขึ้นกับการชกที่สูสี

“เซียนมวยที่เล่นกันเป็นแสนเป็นล้าน เขาเสียก็แค่โวยวาย เต็มที่ไม่พอใจก็ขอดูวิธีการตัดสิน พูดคุยกับผู้บริหารสนามมวย ขอให้ตรวจสอบ หากผิดพลาด กรรมการก็จะถูกคาดโทษ สั่งพักงาน นี่คือมาตรฐานการลงโทษของวงการมวยไทย ซึ่งความเห็นต่างระหว่างเซียนมวยและกรรมการมันเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง เพราะมีกระบวนการจัดการอยู่แล้ว”

นพ.สุทธิชัย บอกว่า การยกระดับความยุติธรรมโดยไม่สูญเสียสีสันและเสน่ห์ของวงการมวยก็คือ การมีกระบวนการจัดการตรวจสอบการทำหน้าที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยมีกฎหมายรองรับผ่านกรรมการกลาง ตัดสินว่าใครผิดใครถูก ก่อนดำเนินการลงโทษทางวินัย

“โดยทั่วไปสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของวงการมวยไม่ได้รุนแรง ผมมองว่า เป็นสีสันเสน่ห์ของวงการ เรื่องสำคัญคือทำยังไงให้คนเห็นต่างไม่เลยเถิดไปถึงการแสดงความรุนแรงต่อกัน”

ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์ในแวดวงมวยไทย โดยสรุปก็คือหากแต่ละคนทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ รู้จักยอมรับคำตัดสิน ไม่ระบายความแค้นใส่กันเอง ความรุนแรงก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ