posttoday

ถอดสมณศักดิ์ ตามรอยพระลิขิตสังฆราช

07 มีนาคม 2560

สะเทือนไปทั้งวงการพระพุทธศาสนา เมื่อประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องถอดถอนสมณศักดิ์ของ พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อย่างเป็นทางการ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สะเทือนไปทั้งวงการพระพุทธศาสนา เมื่อประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องถอดถอนสมณศักดิ์ของ พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล) หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อย่างเป็นทางการ

จากความผิดที่พระธัมมชโย ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร และยังถูกกล่าวหาในความผิดอาญาอีกหลายคดี

คำว่า "สมณศักดิ์" สำหรับพระสงฆ์แล้วถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยความหมายคือ ยศสำหรับพระสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ที่เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย เพราะการที่พระภิกษุรูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกัน

ขณะที่ ทำเนียบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ในประเทศไทย แบ่งเป็น 10 ชั้นยศ คือ 1.สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 1 พระองค์ 2.สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ 8 รูป 3.พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ 19 รูป 4.พระราชาคณะชั้นธรรม 35 รูป 5.พระราชาคณะชั้นเทพ 66 รูป

6.พระราชาคณะชั้นราช 144 รูป 7.พระราชาคณะชั้นสามัญ 394 รูป 8.พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ (ไม่จำกัดจำนวน) 9.พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ 10.พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษาไม่จำกัดจำนวน)

นัยสำคัญของการถอดสมณศักดิ์ สำหรับพระธัมมชโย คืออะไร คนที่ให้ คำตอบเกี่ยวกับเรื่องพระธัมมชโยได้ อย่าง ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ติดตามพัฒนาการคดีของพระ ธัมมชโยมาโดยตลอด ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

ปรีชา อธิบายถึงนัยการถอดถอนสมณศักดิ์ของพระธัมมชโย ว่า เป็นเรื่องของกฎหมายอย่างมีนัยที่ถูกใช้เข้ามาดำเนินการกับพระธัมมชโย สอดคล้องกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่เคยมีพระลิขิตไว้ว่า พระธัมมชโย ปาราชิก หรือหมดสภาพของการเป็นพระสงฆ์ไปแล้ว

"กรณีดังกล่าว หากมีการจับกุมพระธัมมชโยได้แล้ว ก็ไม่ต้องจับสึก แค่ดึงผ้าเหลืองที่ห่อหุ้มตัวออกเท่านั้น เพราะถือว่าหมดสภาพความเป็นพระมาตั้งแต่ปี 2542 ตามที่มีพระลิขิตออกมาด้วย" ปรีชา เน้นย้ำถึงสถานะของพระธัมมชโย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีคำสั่งให้ถอดถอนสมณศักดิ์นับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และช่วยเน้นย้ำให้พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน และถือว่ารัฐบาลดำเนินการอย่างถูกต้อง

ปรีชา มองว่า เชื่อว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ก็จะทรงยึดในพระลิขิตเดิมของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนในการปกป้องพระพุทธศาสนาของประเทศไทย นอกเหนือจากนี้แล้ว การเรียกขานพระธัมมชโย จะไม่เรียกว่าพระเทพญาณมหามุนี อีกต่อไป สำหรับพระธัมมชโยก็ไม่อาจได้ชื่อว่าเป็นพระอีกต่อไป เพราะด้วยว่าหมดสภาพจากความเป็นพระไปหมดแล้ว นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

"ใครจะเรียกพระธัมมชโยอย่างไรก็ไม่มีผลอะไรแล้ว เพราะเขาไม่ใช่พระอีกต่อไป หากแต่เป็นคนตามปกติที่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และผมว่าอาจจะมีความผิดเพิ่มด้วยซ้ำ คือ การแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ด้วย เพราะเขาไม่ใช่พระอีกต่อไปแล้ว" ปรีชา กล่าว

สำหรับเส้นทางของชั้นยศในโลกทางธรรมของพระธัมมชโย ที่แปลความหมายของชื่อได้ว่า "ผู้ชนะโดยธรรม"

นับตั้งแต่ตั้งปณิธานในตนเองว่าจะบวชไม่สึกไปตลอดชีวิตและจะตายที่วัดพระธรรมกาย พระธัมมชโยได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระสุธรรมยานเถร เมื่อปี 2539 และครั้งนี้ถือเป็นชั้นยศแรกของพระธัมมชโย

ภายในปีเดียวกันนั้นเอง พระ ธัมมชโย ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ อธิมุตธรรมวรากร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ถัดมาปี 2554 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระเทพญาณมหามุนี ศรีธรรมโกศล โสภณภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ก่อนที่ปี 2560 จะถูกถอดยศจากคำสั่งล่าสุดที่ประกาศโดยสำนักนายกรัฐมนตรี