posttoday

"วูบคาสนาม" โศกนาฏกรรมบนผืนหญ้า

02 กุมภาพันธ์ 2560

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะอันตรายที่คร่าชีวิตคนในวงการฟุตบอลไปอีกราย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เหตุเศร้าสลดในวงการกีฬาเมื่อ “ดำรงค์ ภูสมนึก” วัย 31 ปี นักฟุตซอลสโมสรราชนาวี หมดสติคาสนามในระหว่างแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตร ที่จังหวัดระยอง ก่อนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการสูญเสียในสนามฟุตบอลและบทเรียนที่น่าเรียนรู้ก็คือ อะไรคือสาเหตุและวิธีป้องกันจากภัยที่ไม่คาดฝันนี้

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายใกล้ตัว

เหตุการณ์เสียชีวิตกะทันหันด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ปรากฎให้เห็นบ่อยครั้งในวงการฟุตบอลรอบโลก ตัวอย่างเช่น

26 มิ.ย.46 ในศึกฟุตบอล คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ ล้มหมดสติและเสียชีวิต บริเวณกลางสนามในเกมรอบรองชนะเลิศที่พบกับ โคลัมเบีย

27 เม.ย. 58 เกรกอรี เมอร์เทนส์ ปราการหลังวัย 24 ปี ของโลเคเรน สโมสรฟุตบอลลีกเบลเยียม ทรุดคาสนามหลังเล่นไปได้แค่ 15 นาที เสียชีวิต ด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

7 พ.ค.59 ศึกฟุตบอลโรมาเนียลีก "แพทริค เอก็อง" มิดฟิลด์ชาวแคเมอรูนของดินาโม บูคาเรสต์ เป็นลมล้มฟุบ ผู้เล่นในสนามต่างเข้าไปช่วยเหลือและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์พยายามช่วยชีวิตอยู่นานชั่วโมงกว่า แต่ไม่สำเร็จ ทำให้เอก็อง เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 26 ปี

8 พ.ค. 59 แบร์นาโด ริเบโร นักเตะชาวบราซิเลียน เสียชีวิตระหว่างลงเตะเกมสมัครเล่นที่ประเทศบ้านเกิด โดยกองกลางวัย 26 ปี จู่ๆ ก็ฟุบหมดสติระหว่างแข่งขัน และแม้ถูกนำส่ง รพ.ที่อยู่ใกล้เคียงทันที แต่ทีมแพทย์ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหัวใจและหลอดเลือด สถาบันโรคทรวงอก ให้ความรู้ว่า “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีโรคประจำตัวอื่นๆ ประกอบ

“สาเหตุส่วนใหญ่อันดับ 1 เกิดจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงหัวใจได้ หัวใจจึงหยุดเต้น พวกนี้มักจะพบในคนสูงวัย และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

“พูดง่ายๆ หลอดเลือดก็เหมือนกับท่อน้ำประปา มีคราบไขมัน น้ำตาล เกาะอยู่ และเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของเลือด”

"วูบคาสนาม" โศกนาฏกรรมบนผืนหญ้า มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ เสียชีวิตระหว่างแข่งขัน ภาพจาก http://www.dailymail.co.uk/

สำหรับกลุ่มนักกีฬาอาชีพ นพ.เกรียงไกร  บอกว่า สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดจากการมีผนังหัวใจที่หนา ประกอบกับมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย

“สาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตของพวกอายุน้อยในหมู่นักกีฬา มักเกิดจากการมีผนังหัวใจหนา ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์มาตั้งแต่กำเนิด พอผนังหัวใจหนา ช่องหัวใจก็เล็ก ในขณะที่ออกแรงมากๆ ก็จะเกิดการบีบตัวเร็วและแรง ส่วนใหญ่มักมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติร่วมด้วย จนหมดสติในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตในไม่กี่นาที”

ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ บอกว่า วงการกีฬาในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีการป้องกันอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การตรวจร่างกายอย่างละเอียดจากแพทย์เฉพาะทาง ดูประวัติครอบครัว และทำอัลตราซาวด์หัวใจ (ECHO) เพื่อประเมินความเสี่ยงและรับรู้ข้อจำกัดของนักกีฬาแต่ละราย

ทั้งนี้หากเกิดเหตุร้ายขึ้นในสนามสิ่งสำคัญ คือการปฐมพยาบาลช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากผู้เชี่ยวชาญ โดยมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หากเกิดขึ้นกับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล โอกาสรอดนั้นมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซนต์

“เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่มีโรคประจำตัวมาก่อนและไม่มี เพราะฉะนั้นสนามฟุตบอลและสนามกีฬา ควรมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมการกู้ชีพประจำอยู่ทุกสนาม พร้อมกับมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ เพื่อช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ให้เลือดยังสามารถหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เพียงพอก่อนไปถึงโรงพยาบาล”

นพ.เกรียงไกร แนะนำว่า ก่อนจะก้าวไปเป็นนักฟุตบอลหรือนักกีฬาอาชีพ ต้องประเมินร่างกายของตัวเองอย่างละเอียดว่าพร้อมหรือไม่ ขณะที่สโมสรฟุตบอลแต่ละแห่งก็ต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการคัดกรองสุขภาพของนักเตะ บางครั้งอาจมีโรคและความเสี่ยงระดับสูงแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว 

"วูบคาสนาม" โศกนาฏกรรมบนผืนหญ้า สวิตา ธรรมวิถี

ดูแลหัวใจให้ดี เจ็บร้าวที่หน้าอกอย่าฝืน

สวิตา ธรรมวิถี นักกายภาพบำบัดจากสโมสรฟุตบอลแบงค็อก ยูไนเต็ด ในศึกไทยพรีเมียร์ลีก บอกว่า สโมสรระดับอาชีพแทบทั้งหมดมีการตรวจเช็กความสมบูรณ์ร่างกายนักเตะเพื่อประเมินสุขภาพอย่างละเอียด ทั้งเอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือด ปัสสาวะ โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคตับ ภาวะไขมันในเลือดสูง สมรรถภาพของหัวใจ สมรรถภาพทางกีฬาและอาการบาดเจ็บที่เคยเป็นมาก่อนว่ายังคงมีอยู่หรือไม่  เพื่อทางสโมสรจะได้เฝ้าระวัง ติดตามอาการและแก้ไขให้หายสนิท พร้อมกลับเข้าสู่การแข่งขันได้ 100%

“ถ้าเป็นการตรวจค้นหาความเสี่ยงของสมรรถภาพหัวใจ ทางสโมสรจะส่งนักเตะตรวจเฉพาะโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหัวใจ ซึ่งใช้วิธีการหลักๆ 2 วิธี คือ หนึ่ง การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) และสองการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งบนลู่วิ่งสายพานร่วมกับการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง (EST: Exercise stress test with EKG monitor) การตรวจทั้งสองวิธีเพื่อวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง ความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้หรือพยากรณ์ภาวะอื่นๆ ของนักเตะได้ด้วย เช่น หอบหืด”

เธอ เผยว่า ข้อมูลสุขภาพของนักเตะแต่ละราย นำไปสู่การเฝ้าระวังขณะฝึกซ้อมและแข่งขัน ช่วยกำหนดโปรแกรมการฝึกซ้อมเพื่อไม่ให้แต่ละคนตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงอันตราย ทั้งนี้นอกจากสมรรถภาพร่างกายแล้ว สโมสรยังจำเป็นต้องสำรวจและวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การพักผ่อน โดยเฉพาะ “บุหรี่และเหล้า" ที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะทำให้คุณภาพหัวใจของนักเตะนั้นอ่อนแอและหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น  อุดตันง่ายขึ้น การสูบฉีดเลือดของหัวใจแย่ลง  เช่นเดียวกับปอดที่สูญเสียประสิทธิภาพในการหายใจเมื่อบวกกับอายุ และภาวะความกดดันต่างๆ ในสนาม เช่น ความเครียดหรืออาการตื่นเต้น ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจขาดเลือดและนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

ทั้งนี้ นักกายภาพบำบัด บอกว่า หากนักเตะคนไหนมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกลักษณะเหมือนถูกบีบทับ ใจสั่น และมีอาการปวดร้าวจากอกขึ้นไปที่กราม หรือปวดร้าวไปถึงด้านในของแขนซ้าย อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะโรคหัวใจขาดเลือด หากเป็นมากจะทำให้เป็นลมหมดสติทันที ต้องรีบแจ้งทุกคนในทีม หรือหากเกิดขึ้นระหว่างฝึกซ้อมหรือแข่งขัน ห้ามฝืนทนเด็ดขาด รีบนั่งลง และแจ้งนักกายภาพบำบัดประจำทีม แพทย์หรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงทันที จะได้ทำการช่วยเหลือได้ทันเวลาก่อนจะเกิดอันตรายถึงชีวิต

"วูบคาสนาม" โศกนาฏกรรมบนผืนหญ้า

โฟกัสที่ฟุตบอล อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

“ส่วนตัวแล้วไม่กลัว เพราะเคยเห็นเพื่อนที่ดูแลตัวเองอย่างดีวูบในสนามมาแล้ว ทำให้รู้ว่าต่อให้แข็งแรงแค่ไหนก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวเองได้ ผมเลือกทำใจและสนุกกับการเล่นกีฬาอย่างเต็มที่”  สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย และสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี บอกชัดถ้อยชัดคำหลังถูกถามว่ากลัวหรือไม่กับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในสนาม

เขา บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักกีฬาคือ การรู้จักร่างกายตัวเองและหากไม่ไหวจริงๆ ก็ควรหยุด อย่างไรก็ตามในเกมการแข่งขันจริง เต็มไปด้วยความเข้มข้นในทุกๆ จังหวะ ทำให้เป็นเรื่องยากในการควบคุมร่างกาย

“ในสนาม เราควบคุมภาวะอันตรายยาก ทุกคนโฟกัสกับการแข่งขันและเต็มที่ทุกหยด อย่างถ้าวิ่งตีคู่กันมาแล้วเกิดรู้สึกว่าเหนื่อย มันก็คงหยุดทันทีไม่ได้ ต่อให้หัวใจเต้นแรงขนาดไหน ถ้าอยู่ในโมเม้นท์สำคัญ เหนื่อยแค่ไหนก็คงหยุดไม่ได้”

ดาวเตะทีมชาติไทย บอกว่า ปัจจุบันหลายๆ สโมรสรในเมืองไทยมีทีมแพทย์คอยตรวจสภาพร่างกายจริง แต่ยังไม่ได้ละเอียดถึงขนาดบอกได้ว่า นักเตะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องความฟิตและความเต็มที่ในการซ้อมมากกว่า ในทางสุขภาพนั้นนับว่าน้อย

"วูบคาสนาม" โศกนาฏกรรมบนผืนหญ้า ปานศิริ สุกุนีย์ ภาพจากเฟซบุ๊ก Pansiri Sukunee

ปานศิริ สุกุนีย์ นักเตะจากสโมสรฟุตบอลประจวบ เอฟซี ในไทยลีกดิวิชั่น 1 บอกว่า ทุกสโมสรอาชีพในเมืองไทยเริ่มพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและการแพทย์มากขึ้นแล้ว ขณะที่นักฟุตบอลหลายคนก็เริ่มปฎิบัติตัวแบบมืออาชีพทั้งในและนอกสนาม

“สโมสรมีการตรวจเช็กสภาพร่างกายสม่ำเสมอ ค่าไขมัน น้ำตาล เขาพยายามทำให้เราพร้อม และแข็งแรงมากที่สุด ในบทบาทหน้าที่นักฟุตบอล แต่ละเกมนั้นต้องเต็มที่ อยู่ในสนามน้อยคนจะคิดเรื่องความตาย”

มิดฟิลด์หนุ่มรายนี้ บอกอีกว่า  เมื่อเลือกเป็นนักฟุตบอลแล้ว ก็ต้องพยายามดูแลร่างกายตัวเองให้ดีที่สุด อาการหรือโรคที่เกิดขึ้น หากอยู่นอกเหนือการควบคุม ก็พูดยากว่าจะต้องป้องกันและรับมือกับมันอย่างไร

“ไม่เกี่ยวว่าจะวิ่งเยอะ วิ่งน้อย มันเป็นภาวะเฉียบพลัน และไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรอก”

ด้าน วิวัฒน์ ไทยเจริญ นักฟุตซอลทีมชาติไทย บอกว่า ถึงเเม้จะรู้เสียใจ หดหู่ต่อการจากไปของเพื่อนร่วมอาชีพ เเต่ไม่ได้รู้สึกกลัวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างไรก็ตามคงถึงเวลาหันกลับมาดูเเลใส่ใจสภาพร่างกายมากยิ่งขึ้น

"เข้าใจว่าการเสียชีวิตนั้นมาจากหลากหลายองค์ประกอบทั้ง สภาพร่างกาย อากาศ การพักผ่อน เหตุการณ์นี้น่าจะทำให้นักกีฬาอาชีพทุกคนหันกลับมาดูเเลตัวเอง เเละเตือนสติว่า ถ้าไม่พร้อม อย่าฝืนเด็ดขาด"

วิวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า อนาคตหากทุกสโมสรมีทีมเเพทย์คอยเช็กสภาพร่างกายอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ น่าจะป้องกันอันตรายเเละยกระดับวงการฟุตบอลไทยได้มาก

การจากไปในสนามของนักเตะแต่ละรายนั้น เป็นเสมือนบทเรียนให้คนที่ยังอยู่เอาจริงเอาจังกับการดูแลใส่ใจสุขภาพของตัวเอง เพื่อชีวิตการค้าแข้งที่ยาวนานที่สุด

ขอบคุณภาพจาก bangkok united