posttoday

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

05 พฤศจิกายน 2559

เพราะว่าเด็กๆ คือ อนาคตของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนมากกว่าเด็กที่เกิดใหม่ซึ่งมีน้อยลงทุกขณะ

โดย...อณุสรา  ทองอุไร

เพราะว่าเด็กๆ คือ อนาคตของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนมากกว่าเด็กที่เกิดใหม่ซึ่งมีน้อยลงทุกขณะ เราจึงต้องใส่ใจกับอนาคตของชาติอันมีคุณค่าที่มีจำนวนน้อยนิดนี้ ให้เป็นเด็กดีมีคุณธรรม ให้เป็นอนาคตที่งดงาม เพื่อนำพาชาติให้อยู่รอดปลอดภัยสืบต่อไปในอนาคต

ดังนั้น โครงการโรงเรียนคุณธรรมจึงเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 อันเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งถือว่าเป็นโครงการพระราชดำริโครงการสุดท้ายที่พระองค์ให้ก่อตั้งขึ้นขณะที่ทรงพระประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณธรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่เยาวชนอย่างยั่งยืน  สนับสนุนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก รวมถึงสนับสนุนการเสริมสร้างเกียรติยศศักดิ์ศรี และอุดมการณ์ของครู เพื่อให้ครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนของมูลนิธิยุวสถิรคุณนั้นจะเป็นการดำเนินงานควบคู่กันไปเพื่อเป็นหัวใจหลักของมูลนิธิ

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง นพ.เกษม ภาพ : กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิยุวสถิรคุณ ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณธรรม กล่าวว่า โรงเรียนคุณธรรมได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 สืบเนื่องมาจากการที่โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จ.พิจิตร ได้นำหลักคุณธรรมมาใช้แก้ปัญหายาเสพติด นักเรียนมีผลการเรียนต่ำ รวมทั้งการตั้งครรภ์ของเด็กนักเรียนหญิง และเมื่อประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา จึงได้กลายเป็นรูปแบบ (Model) ในการนำไปแก้ไขปัญหาในโรงเรียนอื่นๆ อีก 19 แห่ง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งถือเป็นระยะที่ 1 ของการสร้างโรงเรียนคุณธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อตั้งกองทุนการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ  “สร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” ในครั้งนั้นมีคณะองคมนตรี ข้าราชการเกษียณ และอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันสร้างรูปแบบโรงเรียนคุณธรรม

ต่อมาระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2557) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ก่อตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรมเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2559 นี้ ถือเป็นระยะที่ 3 ของการสร้างโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายขยายแนวทางการสร้างโรงเรียนคุณธรรมให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

ในส่วนของรูปแบบของโรงเรียนคุณธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและทำได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณเพราะลงทุนต่ำแต่ได้กำไรมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนได้จริง โดยหลักการของโรงเรียนคุณธรรมสามารถนำไปใช้ได้กับโรงเรียนในทุกศาสนา ไม่ผูกขาดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นคุณธรรมสากล

ทั้งนี้ หลังจากดำเนินการโรงเรียนคุณธรรมแล้ว 1 ปี จะต้องทำการวัดผลการดำเนินงานว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในโรงเรียน “ลดลง” หรือไม่ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ “เพิ่มขึ้น” อย่างไร ซึ่งอาจจะจัดให้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนด้วย และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาผลการเรียนและผลการสอบของนักเรียนในโรงเรียนคุณธรรมดีขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์แก่เยาวชน ผู้ปกครอง และชุมชน

นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น โรงเรียนคุณธรรมจะต้องมีคุณภาพด้วย เพื่อให้ทุกคนในโรงเรียนและชุมชนมีความสุขทั้งกายและใจ โดยจะต้องนำระบบธรรมาภิบาล และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้น ต้องคำนึงถึงระบบการบริหารงานที่เน้นความโปร่งใส (Transparency), ตรวจสอบได้ (Audit), มีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict Interest) เพื่อให้การดำเนินงานก้าวหน้าต่อไปในอนาคตได้

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

ทางด้าน ปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ อดีตรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพครูให้สามารถคิดค้นกลวิธี เครื่องมือ นวัตกรรมการเรียนรู้และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการความรู้คู่ความดีได้ รวมทั้งเป็นต้นแบบที่ดีงามให้กับนักเรียน เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม นักเรียนแบบองค์รวม โดยพัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบ และใช้โครงงานคุณธรรมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ความดีความงามการลงมือปฏิบัติ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน

ดำเนินงานเพื่อปฏิรูปการศึกษาตามแนวพระราชกระแสฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ”ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู อันสอดคล้องกับงานวิจัยการพัฒนาการศึกษาระดับโลก มีเป้าหมายให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นในครูและระบบการศึกษาไทย โดยทำหน้าที่กระตุ้นและผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคมปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการศึกษาให้เป็นหัวใจของการศึกษา”

ในส่วนของ รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ รองผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ได้เล่าถึงที่มาของโครงการโรงเรียนคุณธรรมว่า เดิมทีเริ่มมาจากการที่ นพ.เกษม และคุณปราโมทย์ ท่านกลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร และพบว่าเด็กที่โรงเรียนมีปัญหาติดยาบ้างหรือมีเด็กนักเรียนตั้งครรภ์บ้าง ท่านก็ไม่สบายใจจึงพยายามช่วยหาทางแก้ไข เพราะทั้งสองท่านเคยอยู่ทบวงมหาวิทยาลัยมาก่อน เข้าใจเรื่องระบบการศึกษาดีมาก ท่านก็เลยคิดเอาเรื่องคุณธรรมไปช่วยแก้ไข หลังจากนำเรื่องคุณธรรมเข้าไปช่วยแล้วได้ผล ก็ทราบถึงประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็นำมากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า นพ.เกษม กับคุณปราโมทย์ นำเรื่องคุณธรรมไปช่วยแก้ปัญหาที่โรงเรียนเก่าแล้วได้ผล

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง ภาพ : มูลนิธิยุวสถิรคุณ

 

“ในหลวงท่านก็ทรงสนพระทัยว่าแก้ปัญหากันอย่างไรเรียกให้ นพ.เกษม มารายงานว่าทำอย่างไรบ้าง และพระองค์ท่านก็พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 500 ล้านบาท ให้ไปดำเนินงานเรื่องนี้ต่อ มอบหมายให้ นพ.เกษม ช่วยดูแลโครงการ โดยให้ทำกับโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งโครงการก็เริ่มมาประมาณ 3 ปี มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศแล้วเกือบ 3,300 โรงเรียน และจะพยายามขยายไปให้ครบ 30,000 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ” รศ.ปภัสวดี  เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

หลังจากที่เริ่มโครงการโรงเรียนคุณธรรมมาเกือบ 3 ปี เท่าที่ประเมินผลมาก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น บางโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่เด็กมีปัญหาเรื่องแต่งตัวเกินเด็กมากเกินไป มีปัญหาด้านชู้สาว ของหายไม่ได้คืน หลังจากนำปัญหามาแก้ไขร่วมกันในโรงเรียนก็ปัญหาลดลง กระเป๋าเงินหายได้คืน อย่างนี้ เป็นต้น

“ที่โรงเรียนตะเครียะวิทยาคม สงขลา เด็กกินข้าวเหลือทิ้งกันเยอะทุกวัน ครูก็เลยชวนเด็กปลูกข้าว เริ่มแต่เตรียมดิน ลงข้าว เกี่ยวข้าว ปรากฏว่าพอเด็กได้ลองปลูกข้าวเองเขาเห็นคุณค่าว่าเหนื่อยลำบากแค่ไหนกว่าจะได้ข้าวมา หลังจากนั้นเด็กไม่กินข้าวเหลือทิ้งอีกเลยเขารู้คุณค่าของข้าวด้วยตัวเขาเอง ทุกการแก้ปัญหาในโรงเรียนเด็กจะต้องมีส่วนร่วมในการคิด และลงมือทำ ไม่บังคับให้เด็กลองทำตามความสมัครใจ และเขาจะได้ทักษะชีวิตมีความอดทน มีความสามัคคี มีน้ำใจ มีวินัย เห็นคุณค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาของแต่ละโรงเรียนก็ไม่เหมือนกัน เวลาเริ่มโครงการจะถามเด็กว่าอะไรในโรงเรียนที่เขาไม่ชอบและอยากแก้ไข ปีนี้มี 2 ปัญหาแก้ไขได้แล้วปีหน้าก็จะแก้ปัญหาใหม่ๆ ต่อไปจนกว่าเด็กๆ จะคิดว่าปัญหาในโรงเรียนหมดไปแล้ว”

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

รศ.ปภัสวดี กล่าวว่า แม้ปัญหาในวัยรุ่นจะมีเยอะ แต่จากการทำโครงการนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าหากมีคุณธรรมเด็กมีศรัทธา และเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นภาพอนาคตที่ดีของตนรออยู่ข้างหน้า เขาก็จะเดินทางไปในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เป้าหมายหลักในการทำงานของมูลนิธิก็คือ ทำอย่างไรให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ และทำอย่างไรให้ครูพร้อมที่จะสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Learning เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันเด็กไทยใช้การท่องจำทำให้ไม่นานก็ลืม แต่การเรียนรู้ที่ดีจะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดรวมถึงในเรื่องของจิตใจด้วย โดยเราพบว่ากิจกรรมอะไรก็ตามที่เรียนแล้ว ใช้สัมผัสยิ่งมากขึ้นเท่าไร ก็จะมีโอกาสที่จะฝังอยู่ในจิตสำนึกเรามากขึ้นเท่านั้น การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจึงจะเกิดขึ้น

รูปแบบของโรงเรียนคุณธรรมนั้น เป็นรูปแบบที่ดำเนินการได้ง่าย กล่าวคือ ทุกโรงเรียนสามารถนำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมนี้ไปใช้ได้ และสามารถใช้ได้กับโรงเรียนในทุกศาสนา อีกทั้งยังส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน โดยเริ่มจากการระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางไว้ 2 บัญชี คือ บัญชี ก. พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งทุกคนต้องการลด ละ เลิก และบัญชี ข. พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งทุกคนจะร่วมกันส่งเสริมให้เกิดขึ้น แล้วจึงกำหนดคุณธรรมหลัก 3 ประการ เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมในบัญชี ก. พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมบัญชี ข. จากนั้นจะมีการประเมินผลหลังดำเนินการครบ 1 ปี ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นการดำเนินการที่สามารถทำได้และได้ผลดี อีกทั้งยังส่งผลให้องค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียนเกิดความสนใจและนำหลักการของโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้ เช่น โรงพยาบาลคุณธรรม จังหวัดคุณธรรม อำเภอคุณธรรม เป็นต้น

การขยายผลโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้กับสถานศึกษาทั้ง 3 หมื่นแห่งนั้น สามารถทำได้แน่นอนเพราะสถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถศึกษาวิธีการหรือแนวทางการดำเนินงานได้จากสื่อและหนังสือคู่มือโรงเรียนคุณธรรม หรือศึกษาจาก DVD ก็ได้ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนนั้นๆ นำแนวทางไปปฏิบัติได้เอง จึงเชื่อมั่นว่าทุกสถานศึกษาจะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนคุณธรรมได้ แม้แต่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เช่น บริเวณชายแดน ก็สามารถสร้างโรงเรียนคุณธรรมได้ด้วยการนำคู่มือโรงเรียนคุณธรรมไปประยุกต์ใช้

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง ปราโมทย์

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง นพ.ธีระเกียรติ ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง รศ.ปภัสวดี ภาพ : กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง

 

โรงเรียนคุณธรรม สร้างคนดีให้บ้านเมือง ภาพ : มูลนิธิยุวสถิรคุณ