posttoday

"รับน้องโหด"โศกนาฎกรรมซ้ำซาก

04 กันยายน 2557

ผ่าปม ทำไมประเพณี “รับน้อง”จึงกลายมาเป็นข่าวร้ายบนหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกปี

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ปัจจุบัน “เทศกาลรับน้อง” ได้กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมจับตามองแทบไม่กะพริบ ไม่ต่างจากเทศกาล 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันลอยกระทงเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาเกิดเหตุอื้อฉาวอันส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากกิจกรรมรับน้องมากมายหลายครั้ง.....ปีนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน

ปากคำเด็กช่างรุ่นเก๋า

ข่าวการเสียชีวิตของนักเรียนอาชีวะจากสถาบันแห่งหนึ่งระหว่างจัดกิจกรรมรับน้อง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางอีกครั้งว่าเพราะเหตุใดประเพณีที่ควรดีงามและสร้างสรรค์ จึงกลายเป็นมหกรรมแห่งความเมามายคึกคะนอง เต็มไปด้วยความรุนแรง

สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่อง “ความจริงรับน้องปี 2548” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเอแบคโพลส์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่าเกือบร้อยทั้งร้อย การรับน้องนิยมออกนอกสถานที่ โดยเฉพาะชายทะเล นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาประกกอบกับการทำกิจกรรมเสี่ยงอันตรายด้วย

“การรับน้องกับเหล้ายามันเป็นของคู่กัน ดื่มเพื่อย้อมใจ ให้มันคึกคัก สนุก เวียนกันกินรอบวง ไอ้เรื่องซ้อมรุ่นน้องจนตายนี่ผมไม่เคยเห็นนะ มีแต่เมาแล้วไปตกน้ำตกท่า เกิดอุบัติเหตุ”เป็นคำบอกเล่า หัสชัย นวลปาน วัย 43 อดีตนักเรียนโรงเรียนช่างกลบูรณพนธ์ เมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว

เขายอมรับว่าประเพณีรับน้องของสังคมอาชีวะนั้นเด็ดขาดรุนแรงกว่ามหาวิทยาลัยหลายเท่า

“กิจกรรมจะออกแนวๆลูกผู้ชาย เน้นความท้าทาย วัดใจเป็นสำคัญ เช่น ปล่อยรุ่นน้องทิ้งไว้หน้าโรงเรียนคู่อริ อาจมีเจ็บเนื้อเจ็บตัว โดนไล่กระทืบ แต่ถ้ารอดมาได้ก็จะได้การยอมรับจากพี่ๆ หรือรับน้องนอกสถานที่ก็มีแค่วิดพื้น วิ่งแข่ง กินเหล้าผสมสูตรพิสดาร เน้นทำร่วมกันเป็นหมู่คณะริมชายหาด มันอาจจะแผลงๆ แต่ไม่มีการสั่งให้รุ่นน้องนั่งแล้วรุมเตะ หรือทิ้งดิ่งแน่นอน”

การนำความรุนแรงมาใช้ในประเพณีรับน้อง ตั้งแต่ข่มขู่ตะคอกด้วยวาจา จนถึงใช้กำลังสั่งสอนก็เป็นไปภายใต้จุดประสงค์ที่ต้องการจะกำราบให้รุ่นน้องเชื่อฟังเท่านั้น

“เราเป็นรุ่นพี่ต้องกดให้อยู่ เพราะรุ่นน้องแต่ละคนมาจากหลายที่ จะเก่งมาจากไหนก็ห้ามปีนเกลียว พูดคำเดียวต้องฟัง อย่าหือ บางแห่งประกาศชัดเลย “มึงทนได้มั้ย ทนไม่ได้มึงก็ไปเรียนที่อื่น”

อดีตช่างกลรุ่นเก๋าคนนี้ เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้องในแง่ของการปลูกฝังเรื่องระบบอาวุโส การมีสัมมาคารวะ สามัคคีกลมเกลียว แต่ต่อต้านการทารุณกรรมอย่างหัวชนฝา

“สมัยก่อนมีแต่ทำกิจกรรมให้พี่น้องรักกัน แต่นี่ทำให้รุ่นน้องเกลียด สั่งให้น้องกอดอกแล้วเตะ ทำไปเพื่ออะไร ทำน้องเจ็บแล้วเขาจะรักมึงมั้ย การพารุ่นน้องไปเที่ยวแล้วทำเขาตายมันบ่งบอกถึงจิตใจคุณ  ถ้าทำกับน้องอย่างนี้ คุณก็ไปทำกับคนอื่นได้ รักพี่รักน้องกันจริงๆ เขาไม่ฆ่าสถาบันเดียวกันหรอก”

รักน้องต้องกระทืบ?

อนุชิต ยุวนากร อดีตนักเรียนโรงเรียนอาชีวศึกษาชื่อดังแห่งหนึ่ง วัย 25 เล่าประสบการณ์รับน้องในสังคมอาชีวะให้ฟังว่าเต็มไปด้วยกิจกรรมสุดโหดชนิดที่ว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่รู้คงเป็นลมล้มพับ

“ประเภทที่ว่าปล่อยรุ่นน้องไปไล่กระทืบโจทย์นี่เรื่องปกติ ทุกวันศุกร์จะมีล่องสายนั่งรถเมล์ไปกินเหล้าบ้านรุ่นพี่  แต่ถ้ารับน้องนอกสถานที่นี่หนักหน่อย เคยเจอทั้งเอาเทียนลน เอาธูปจี้หลังตามสายรถเมล์ สมมติถ้าอยู่สาย 134 ก็เจอ 134 ดอก กระดกเหล้าทีเดียวหมดขวด ดิ่งทราย ดิ่งปูน (กอดคอเป็นหมู่คณะแล้วล้มตัวกระแทกพื้น ใครงอเข่า หรือเอามือยัน ถือว่าผิดกติกา)

ไอ้เจ็บเข้าโรงพยาบาลมีเยอะแยะ ส่วนมากจะฟกช้ำดำเขียว บวม คางแตก ที่เป็นข่าวดังๆคือโดนรุ่นพี่เอาน้ำทะเลใส่แทนยาหยอดตาจนตาบอด รับน้องแบบนี้ครั้งเดียวจบ ผ่านไปได้ก็รักกันชิบหายเลย บางทีโดนเล่นมา รุ่นพี่ไปเอาคืนให้ พวกไม่เอาระบบ หนีกลับบ้านก็มี เขาก็เรียนจนจบนะ แต่จะไม่ค่อยมีพี่น้องมีเพื่อน”

ถามว่าอาจารย์มีส่วนรู้เห็นกับกิจกรรมรับน้องที่จัดขึ้นทุกปีไหม

“ไปนอกสถานที่มันคุมไม่ได้อยู่แล้ว อาจารย์แกก็ไม่ว่างขนาดนั้น  อย่างโรงเรียนผมมีเป็น 20 สาย แม่งจะไปวันไหนกันมั่งก็ไม่รู้”อดีตวัยคะนองบอกเสียงเศร้า

ปฏิรูประบบโซตัส

จริงอยู่ที่ประเพณีรับน้องจัดขึ้นเพื่อต้องการให้รู้จักเพื่อนพ้องน้องพี่ ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ รู้จักการเสียสละ และเรียนรู้เรื่องระบบอาวุโส

“ระบบโซตัสมีมานานแล้ว เพียงแต่มันมาเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในระดับวิทยาลัย มีการสร้างเครือข่ายกัน มองแง่ดีทำให้เรามีพวกพ้อง แต่อีกด้านคือทำให้ไม่แข่งขันกันที่ความรู้ความความสามารถ คนไม่มีพวกพ้องจะถูกตัดโอกาสทันที ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม สุดท้ายสังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งพวกพ้อง มากกว่าแข่งขันกันที่ความรู้ความสามารถ”ชวิศ วรสันต์ เลขาธิการกลุ่มแอนตี้-โซตัส กล่าว

เลขาธิการกลุ่มแอนตี้โซเชียลให้ความเห็นว่าครูบาอจารย์เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดปัญหารับน้องโหด

“อาจารย์ส่วนมากมักจะหลับตาข้างเดียว เวลามีปัญหาจึงรู้ข่าวภายหลังและปฏิเสธความรับผิดชอบ ดังนั้นอาจารย์จึงเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจกรรมรับน้องอย่างใกล้ชิด ขณะที่ระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการก็ควรวางกฎให้ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องด้วย”

กฎหมายรับน้องที่รุ่นพี่ต้องรู้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นจนตกเป็นข่าวดัง ล่าสุด พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติและจิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ออกมาให้ความรู้เรื่องบทลงโทษทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับน้อง ดังนี้

มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี

มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 297 ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 392 ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตราย สาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 

“หากจะดำเนินคดีตามกฎหมายก็ต้องให้นักศึกษาหรือผู้ปกครองเข้าแจ้งความเอาผิดกับรุ่นพี่ที่ลงโทษเกินกว่าเหตุ แต่บางกิจกรรมหากไม่ได้รุนแรงและเป็นข้อตกลงระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง อยู่ในการควบคุมดูแลของมหาวิทยาลัย ก็ถือเป็นบททดสอบในการก้าวเป็นรุ่นพี่ เพื่อทำหน้าที่ดูแลรุ่นน้องในรุ่นต่อไป”

การรับน้องยังมีอีกมากมายหลายร้อยพันวิธีที่สร้างสรรค์ ทั้งยังคงความรักและเคารพซึ่งกันและกันไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยมิต้องพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้อยคำตะคอกข่มขู่ และใช้กำลังทำร้าย