เปิดคำสั่งประกาศิตทีวีเสื้อสี เปลี่ยนชื่อ ปรับผัง ฟังคสช.
หลัง คสช. เข้าควบคุมอำนาจบริหารบ้านเมือง คสช.ได้เข้าควบคุมการดำเนินงานของสื่อสารมวลชนด้วย
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจบริหารบ้านเมือง คสช.ได้เข้าควบคุมการดำเนินงานของสื่อสารมวลชนด้วย
โดยออกประกาศ คสช.ที่ 97/2557 เรื่องการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ซึ่งประกาศดังกล่าวส่งผลให้สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ที่นิยมการนำเสนอข่าวสารทางการเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากกลุ่มการเมืองใช้สื่อเป็นฐานในการเคลื่อนไหว ปลุกระดม ต้องถูกคสช.แช่แข็งมาเป็นกว่า3 เดือน
ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คสช.ได้มีหนังสือถึงกสทช.อนุญาติให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 12 ช่องได้ออกอากาศตามปกติ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงที่คสช.กำหนด
"ต้องเปลี่ยนชื่อสถานี ปรับผังรายการ ไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดให้สังคมและไม่เป็นการต่อต้าน คสช. "
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ผู้บริหารช่องทีวีดาวเทียมได้เดินทางมาลงนามบันทึกข้อตกลง (mou) ในการประชุม “แนวทางปฏิบัติตามประกาศ คสช.” ประกอบด้วย สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี ได้เปลี่ยนเป็นช่อง "สถานีNews One" สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย เป็น"สถานีฟ้าวันใหม่" สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอฟเอ็มทีวี เปลี่ยนเป็น"สถานีบุญนิยม"
ขณะที่ทีวีเสื้อแดง อย่าง People channel พีทีวี เอเซียอัพเดท ได้ร่วมกันสถานีดีเอ็นเอ็น เป็น Open Tv ส่วนสถานีโทรทัศน์ยูดีดี ซึ่งแปลงโฉมเป็น Peace TV ได้เดินทางมาร่วมลงนามด้วย
กสทช.แจ้งด้วยว่า เมื่อลงนามเสร็จแล้ว จะส่งเรื่องเข้าประชุมนัดพิเศษของบอร์ด กสท. ในวันที่ 27 ส.ค. 57 เมื่อมีมติรับทราบในช่วงเช้า และทางสำนักงานแจ้งแก่ทางสถานีทุกช่องที่เซ็น mou ก็สามารถออกอากาศได้ทันที
แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดำเนินการยกเลิกใบอนุญาตบริการโทรทัศน์ประเภทไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิกช่องเดิม และขอใบอนุญาตใหม่ที่จะให้ระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ปี
สำหรับ บันทึกข้อตกลงส่วนใหญ่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม2557 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 จึงทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กสทช.โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
1. บริษัทยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ โดยจัดทำผังรายการไม่ให้มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าว และเงื่อนไขการเป็นผู้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้เชิญบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาล และกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิด หรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้แก่สังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
2.สถานีมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้บุคคลดังกล่าว รวมทั้งบุคคลอื่นใดงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะ ดังต่อไปนี้ (1) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่งไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (2) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น (3) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง (4) ข้อมูลเสียง ภาพ วิดีทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ (5) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร (6) การชักชวน ซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (7) การขู่จะประทุษร้าย หรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน
กรณีที่ปรากฏว่า บริษัทฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ฝ่าฝืนไม่ฏิบัติตามข้อตกลงอาจะถูกสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพโดยองค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และต้องปฏิบัติตามกฎหมายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิก อย่างเคร่งครัด โดยข้อกำหนดในการหารายได้ของผู้รับใบอนุญาตจากโฆษณา และบริการธุรกิจตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละห้านาที
หากสำนักงาน กสทช. ตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนข้อตกลงอาจพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที