posttoday

ส่องสงฆ์เสื่อมผ่านสายตา"ตำรวจพระ"

27 เมษายน 2557

แม้จะได้ชื่อว่าตำรวจพระ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีอาวุธ ไม่มีกองกำลัง ไม่มีอำนาจในการปราบปราม แม้กระทั่งการ"จับสึก"พระด้วยกันเอง

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ข่าวฉาวในแวดวงพุทธศาสนาอย่างหลวงปู่เณรคำ พุทธศักดิ์คลินิก จนถึงพระตุ๊ดนาตาลี ตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นแล้วว่าปัจจุบันยังคงมีพระสงฆ์องค์เจ้าประพฤติตนผิดพระธรรมวินัยอยู่เสมอ  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้คนเสื่อมศรัทธา ทว่ายังส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์แปดเปื้อนมัวหมองไปด้วย

"ทุกวันนี้ เวลาเจอพระทำผิด เราต้องใช้กระบวนการต่างๆมากมายที่จะทำให้เขายอมรับผิด นอกจากจะต้องมีความรู้เรื่องพระธรรมวินัยแล้ว เราต้องรู้เรื่องทางโลกควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าพลาดขึ้นมา อาจโดนฟ้องกลับได้"

เป็นคำกล่าวของ ท่านเจ้าคุณประสิทธิ์ สุดตะคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หัวหน้าพระวินยาธิการ  คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร หรือที่ชาวบ้านรู้จักในชื่อ "ตำรวจพระ"

พระวินยาธิการ คือพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัด โดยเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้านการปฏิบัติวินัยของพระภิกษุสามเณร หน้าที่หลักคือ ตรวจตรา แนะนำ ตักเตือน ชี้แจงระเบียบปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรในจังหวัดหรือที่เข้ามาในจังหวัดที่ประพฤติไม่เรียบร้อย หากไม่ปฏิบัติตามหรือพบการกระทำความผิดก็มีอำนาจจับกุมตัวส่งเจ้าคณะผู้รับผิดชอบหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ถึงแม้จะได้ชื่อว่าตำรวจพระ  แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีอาวุธ ไม่มีกองกำลัง ไม่มีอำนาจในการปราบปราม แม้กระทั่งการ"จับสึก"พระด้วยกันเอง

"พระวินยาธิการเป็นตำแหน่งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างติดๆ ขัดๆ เราเป็นเพียงผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ไม่ใช่เจ้าพนักงานโดยตรง ทำหน้าที่ป้องปรามไม่ใช่ปราบปราม เวลาเกิดเรื่อง เราทำได้เพียงควบคุมตัวเขากลับมาให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งถ้าเราไม่ใช่ระดับเจ้าคณะเขต หรือเจ้าคณะจังหวัด เขาไม่กลัวเราด้วยซ้ำ พูดง่ายๆว่าพระวินยาธิการไม่ต่างอะไรจากเสือกระดาษ"

ปัจจุบัน มีพระสงฆ์ในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 3 หมื่นรูปที่มีใบสุทธิอย่างถูกต้อง(หนังสือแสดงความบริสุทธิ์ว่าเป็นภิกษุสามเณรที่ถูกต้องตามพระวินัย ระบุชื่อ นามสกุล วันเดือนปีที่บวช สังกัดที่อยู่ ซึ่งพระอุปัชฌาย์เป็นผู้ออกให้ โดยมีพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอขึ้นไปลงลายมือชื่อและประทับตรารับรอง) ขณะเดียวกันในเขตกทม. มีพระวินยาธิการทั้งหมดกว่า 200 คน ประกอบด้วย 35 เขต แต่ละเขตจะมีตำรวจพระปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่า 5 รูป ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ท่านเจ้าคุณประสิทธิ์เผยว่าปัญหาการกระทำผิดที่พบบ่อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการบิณฑบาตไม่สำรวม  โดยพื้นที่ที่พบพระสงฆ์ทำผิดวินัยด้วยการปักหลักบิณฑบาตมากที่สุดคือตามตลาดใหญ่  แต่ละปีสามารถจับกุมพระที่ทำผิดหลักวินัยของสงฆ์ประมาณ 100 ราย ทั้งการแจกซองผ้าป่า เดินเคาะตามประตูบ้าน และยืน-นั่งปักหลักบิณฑบาต เป็นต้น

หัวหน้าตำรวจพระกทม. กล่าวต่อว่า ปัญหาการเรี่ยไรเงินถือว่าเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะจะเป็นช่วงที่ตามวัดต่างๆ จะมีพิธียกช่อฟ้า ฝังลูกนิมิต บางวัดจึงจำเป็นออกเรี่ยไรเงินจากพุทธศาสนิกชน

ทั้งนี้สำหรับการเรี่ยไรเงินจะต้องมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการระดับ จังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในพื้นที่นั้น เพื่อออกใบอนุญาตการเรี่ยไรเงิน ซึ่งจะต้องออกในนามวัดเท่านั้น ไม่มีการออกให้เป็นรายบุคคล และสามารถจะออกเรี่ยไรได้ภายในจังหวัดเท่านั้น จากนั้นจะมีการทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสถานีตำรวจ และวัดในพื้นที่ได้รับทราบ

"ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับพระที่ไม่น่าเลื่อมใสไว้ 7 ประการ ได้แก่ ย่ามใหญ่ ซึ่งภายในย่ามอาจมีผ้าขนหนู เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน อย่างครบคันรวมอยู่ในย่าม  จีวรไม่สะอาด เพราะต้องนอนตามสถานีรถไฟ  มีบาตรและกลดพระติดตัวในย่านชุมชนเมือง ซึ่งกิจของพระธุดงค์ต้องเดินห่างจากชุมชนเมือง 25 กม.เป็นการเดินในป่าไม่ใช่ในเมือง นอนมั่วทุกแห่ง แหล่งที่พักไม่แน่นอน  สัญจรอยู่ตลอดเวลา และอธิษฐานพรรษาไม่ถูก ไม่มีใบสุทธิ"

คำแนะนำกรณีพบกลุ่มพระนอกรีตที่มาเรี่ยไรเงิน หากไม่แน่ใจว่าจริงหรือหลอกลวง ให้ขอดูใบอนุญาตได้ทันที และสามารถโทรสอบถามไปยังสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดได้ด้วย นอกจากนี้หากพบว่าเป็นพระแล้วมาขอเรี่ยไรโดยลำพัง ให้ตั้งสมมุติฐานได้เลยว่าไม่ได้รับอนุญาต

"การหากินกับผ้าเหลือง ถ้าเป็นพระเด็กๆคงหาผลประโยชน์อะไรไม่ได้มาก นอกจากการบิณฑบาต ซึ่งแต่ละวัดก็ได้วางกฏระเบียบไว้ เช่น ห้ามกลับมาวัดผิดเวลา ไม่ใช่บิณฑบาตตั้งแต่ตีห้าถึงสิบโมงเช้า แบบนี้ต้องถูกลงโทษ

ล่าสุดเราเพิ่งได้รับแจ้งว่ามีการบิณฑบาตรูปแบบใหม่คือพระสงฆ์จะเป่านกหวีดเป็นสัญญาณเรียกญาติโยมว่าพระมาแล้ว ซึ่งการลงพื้นที่ไปกวดจับคงทำไม่ได้ บางทีอันตรายมาก เราไม่รู้ว่าองค์ไหนดุ มีอาวุธ หรืออาจโดนแก๊งค์นักเลงที่ให้ความคุ้มครองเข้ามาข่มขู่ ดังนั้นจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาอารักขาด้วย"

กรณีพระเดินห้าง ท่านเจ้าคุณประสิทธิ์บอกว่าไม่ผิด แต่ไม่เหมาะสม ได้แต่เพียงห้ามปรามเท่านั้น

"บางรูปขออนุญาตไปปฏิบัติธรรม แต่มันไปโผล่พันทิพย์ จะให้ไปวิ่งไล่กวดจีวรปลิว มันเป็นภาพที่น่าดูไหมล่ะ"

ส่องสงฆ์เสื่อมผ่านสายตา"ตำรวจพระ" เจ้าคุณประสิทธิ์ สุดตะคุณ

ส่วนเรื่องพระสงห์หลายรูปที่ทำตัวไฮโซ มีกุฏิหลังใหญ่โต นั่งรถหรู พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ท่านเจ้าคุณตอบว่า

"การบวชเป็นพระนั้นเรียกได้ว่าต้องใส่หมวกถึง 3 ใบ นอกจากพระธรรมวินัย 227 ข้อ ยังต้องปฏิบัติตามกฏหมายบ้านเมือง อีกทั้งยังมีเรื่องจารีตประเพณีอีกว่าสังคมจะรับหรือรับไม่ได้ คนมองว่าพระต้องนุ่มเจียมห่มเจียม อยู่ในป่าในเขา แต่พอมาเห็นพระกินดี อยู่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวก จึงรับไม่ได้ แต่บางเรื่องอาจไม่ผิดพระธรรมวินัย ไม่ผิดกฏหมาย แต่ผิดจารีตประเพณี"เป็นคำตอบที่น่าคิด

ผลงานล่าสุดของหัวหน้าพระวินยาธิการกทม.คือการขจัดปัญหาเรื่องพระต่างด้าวที่เข้ามาหากินเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

"เดี๋ยวนี้มีพระต่างประเทศ ทั้งพระจริงพระปลอมเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากและพบว่าเข้ามากระทำผิดด้วย พวกนี้ไม่ได้มาปฏิบัติธรรมร่ำเรียนหนังสือ แต่ตั้งใจมาหาเรี่ยไรขอบริจาคเงินโดยเฉพาะ เราก็ออกกฏเลยว่าวัดไหนให้ที่พึ่งพิงพระเหล่านี้ หากพบว่ามีความผิด วัดต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ปรากฏว่าเบาลงเยอะเลยในกทม. แต่กลับไปโผล่ตามหัวเมืองแทน เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่"

ในส่วนประเด็นร้อนเรื่องพระตุ๊ดเณรแต๋วที่ปรากฏเป็นข่าวฉาวมาตลอด หัวหน้าพระวินยาธิการ กทม. ยอมรับว่าเป็นปัญหาในทุกพื้นที่ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขว่าต้องเริ่มจากครอบครัวเนื่องจากชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องพระธรรมวินัย 227 ข้อ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว ก็ไม่ควรส่งมาบวชในพระพุทธศาสนา

เจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์ เมื่อเห็นว่ามีพฤติกรรมตุ้งติ้ง ไม่เหมาะสมชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะให้บวช หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และมหาเถรสมาคม(มส.) ยังไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ พระธรรมวินัยห้ามไม่ให้ตุ๊ด แต๋ว บวชในพระพุทธศาสนาว่า มีอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจกับสังคม โดยเฉพาะชาวพุทธซึ่งยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ

"บางทีก็ดูยาก เพราะบางคนมาบวชช่วงสั้นๆ ไม่แสดงพฤติกรรมอะไร มาเงียบๆปฏิบัติดี ไม่มีปัญหา แต่พอสึกออกไปก็กลับไปตุ้งติ้งเหมือนเดิม แต่บางคนมาแว๊ดๆ เดินนวยนาด แสดงออกอย่างโจ๋งครึ่ม แบบนี้ก็ไม่สมควรที่จะให้บวช มันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของพระอุปัชฌาย์ว่าเขาอนุญาตให้บวชได้อย่างไร"

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีพระสงฆ์อีกมากมายหลายรูปที่ยังคงประพฤติตนผิดธรรมวินัย ทั้งเรี่ยไรเงิน มั่วสีกา และอื่นๆสารพัด ฉะนั้นกรณีข่าวฉาวอย่างหลวงปู่เณรคำ พุทธศักดิ์คลีนิกมาจนถึงกรณีล่าสุดพระตุ๊ดนาตาลี

อาจเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น