posttoday

อัดฉีดงบกลาง ซื้อใจรากหญ้า

12 มกราคม 2561

กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่ถูกสังคมจับตา เมื่อกระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณางบประมาณกลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่ถูกสังคมจับตา เมื่อกระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณางบประมาณกลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงต้นเดือน ก.พ. ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน มี.ค.นี้

เหตุผลจาก อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงว่าการตั้งงบกลางปี ครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องเร่งปฏิรูปเพื่อยกระดับประเทศ จำเป็นต้องขยายการใช้นโยบายการคลังออกไปอีก ขณะที่เป้าหมายการ จัดทำงบประมาณสมดุลนั้นก็ยังคงมีอยู่แต่ต้องใช้ระยะอีก 10 กว่าปี

"การจัดสรรงบกลางปีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปประเทศ โดยเน้นไปที่เศรษฐกิจระดับฐานราก"

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าส่วนใหญ่ 1 แสนล้านบาท จะใช้ใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.งบประมาณในโครงการช่วยคนจนเฟส 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท 2.โครงการปฏิรูปราคาสินค้าเกษตร 4 หมื่นล้านบาท เช่น การแก้ไขราคายางตกต่ำ 3.งบประมาณในโครงการพัฒนาตำบลวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 4. นำไปใช้เพิ่มความเข้มแข็งกองทุนหมู่บ้าน 1-1.5 หมื่นล้านบาท

ในแง่การช่วยเหลือประชาชนด้วยการอัดเม็ดเงินลงพื้นที่ 1.5 แสนล้านบาท แง่หนึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือคลี่คลายความเดือดร้อน แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสภาวะที่สินค้าราคาเกษตรตกต่ำ จนมีกลุ่มเกษตรกรออกมามาเรียกร้องให้ช่วยเหลือต่อเนื่อง

แต่อีกด้านหนึ่งเรื่องทำนองนี้หากเกิดในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักถูกมองว่าเป็น "ยุทธศาสตร์" ซื้อใจประชาชน หวังผลไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยใช้ทรัพยากรในมือให้เกิดประโยชน์

แม้ครั้งนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวเป็นนักการเมืองชัดเจน

ที่สำคัญยังแบะท่าพร้อมเป็น "นายกรัฐมนตรีคนนอก" หากได้รับเสียงสนับสนุน

การอัดฉีดงบกลาง 1.5 แสนล้านบาท ไปยังรากหญ้าในช่วงนี้ จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่าเป็นการเร่งฟื้นความเชื่อมั่นที่กำลังตกต่ำของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช.

รวมทั้งหวังโกยคะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจากรากหญ้าด้วยการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล คสช. ก็ไม่ได้ทอดทิ้งหรือละเลยเกษตรกร คนจน เอาใจแต่นายทุนเหมือนอย่าง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา

ยิ่งหากดูในรายละเอียดทั้งเรื่องโครงการช่วยเหลือคนจน โครงการพัฒนาตำบล และการเพิ่มความเข้มแข็งให้กองทุนหมู่บ้าน ทั้งหมดเป็นการอัดเม็ดเงินเข้าถึงมือประชาชนโดยตรง

ที่สำคัญปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกแม้จะอัดฉีดเม็ดเงินไปหลายรอบ แต่ก็ยังไม่อาจฉุดราคาให้พลิกฟื้นกลับมาสร้างรายได้ให้เกษตรกรสวนยางได้อย่างที่ต้องการ กลายเป็นชนวนที่ฉุดความเชื่อมั่นและสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล คสช.

รอบนี้รัฐบาลให้ความสนใจแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างเป็นระบบ ทั้งนโยบายให้ลดพื้นที่การปลูกอย่างน้อย 10-20% เพื่อดันราคายาง โดยกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์จะเข้ามาทำแผนให้

ในรายละเอียด ลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า งบกลาง 4 หมื่นล้านบาท จะใช้ผ่าน 5 โครงการ คือ 1.ชดเชยเงินสำหรับชาวสวนยางที่สมัครใจโค่นยางเพื่อเปลี่ยนอาชีพอีก 1 หมื่นบาท/ไร่ จากเดิมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่าย 2 หมื่นบาท/ไร่ ซึ่งจะทำให้ชาวสวนยางจะได้รับเงินรวม 3 หมื่นบาท/ไร่

2.จัดทำข้อมูลพื้นฐานเกษตรกร หรือ บิ๊กดาต้า เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคต 3.จัดทำถังบรรจุผลผลิต (ไซโล) เพื่อชะลอผลผลิตการเกษตรและพักสินค้าไว้รอขายในช่วงผลผลิตตกต่ำ 4.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และ 5.สร้างอาชีพในฤดูแล้ง

เรียกได้ว่าเป็นการเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ชัดเจนครั้งหนึ่งของรัฐบาล คสช.

ในมุมของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มองว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยตลอดเวลาที่ไม่สมดุลทำให้ไทยเป็นเมือง 2 นครา คือ มีเมืองทันสมัยกับเมืองล้าสมัย ดังนั้นปี 2561 จึงต้องโฟกัสให้เชื่อมโยงกันเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ด้วยการเน้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

หลังจากช่วยให้ประชาชนมีรายได้จุนเจือตนเองจากบัตรคนจนแล้ว จะต้องปฏิรูปอาชีพเกษตรกรรมอย่างจริงจังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยกเครื่องเกษตรกรรมของไทย

ทั้งหมดนี้ สอดรับกับกรอบเวลาการเลือกตั้งที่หากไม่มีอะไรผิดพลาด จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี

คู่ขนานไปกับอีกด้านที่มีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่าย ประกาศความชัดเจนเตรียมตั้งพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีกสมัย

การอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงที่คะแนนนิยมของรัฐบาล คสช.กำลังตกต่ำ ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นคืนกลับมาไม่มากก็น้อย

ที่สำคัญในวันที่เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปผ่านทั้งกองทุนหมู่บ้านและโครงการพัฒนาตำบล อันจะเป็นกลไกเพิ่มการจบจ่ายใช้สอย ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมให้ ดีขึ้นตามไปด้วย

ทั้งหมดจะแปรเปลี่ยนกลับมาเป็นคะแนนนิยมให้รัฐบาล คสช.ในที่สุด