posttoday

ยื่นศาลล้มมาตรา 44 เปิดหน้าท้าชน คสช.

10 มกราคม 2561

กลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนข้ามปี สำหรับการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนข้ามปี สำหรับการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ภายใต้ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2560

คำสั่ง คสช.ดังกล่าวมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่พรรคการเมืองต้องออกมาเดินหน้าต่อต้านคสช.ค่อนข้างรุนแรงกว่าทุกครั้ง

สาระสำคัญของข้อที่ 1 คือ การกำหนดให้พรรคการเมืองปัจจุบันต้องเปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองของตนมาแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะตามกฎหมายในการเป็นสมาชิกพรรคมาแสดงต่อหัวหน้าพรรคการเมือง พร้อมกับชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง 100 บาท ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561

ผลของคำสั่งที่ออกมานี้ในมุมมองของพรรคการเมืองเห็นว่าทำให้พรรคการเมืองปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อันไม่ต่างอะไรไปจากการเซตซีโร่พรรคการเมือง โดยเฉพาะการให้พรรคการเมืองต้องมาทำหน้าที่รับการยืนยันการแสดงสถานะของสมาชิกพรรคการเมืองเป็นรายบุคคล

ในทางปฏิบัติหากดำเนินการจริง แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีสมาชิกพรรคการเมืองเดินทางมายังพรรคการเมืองเพื่อทำการแสดงตนดังกล่าว การกำหนดเช่นนี้จึงเปรียบเสมือนกับการพยายามไม่ต้องการให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

กลับกันการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองครั้งนี้ ยังทำให้เกิดการมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่ คสช.เตรียมจะตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมือง

ต้องไม่ลืมว่าเวลานี้มีการปูทางไว้ค่อนข้างรอบด้านแล้ว ตั้งแต่การไม่เซตซีโร่องค์กรอิสระบางองค์กรอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อป้องกันไม่ให้ คสช.ถูกตามไล่ล่าภายหลังในวันที่ตัวเองต้องลงจากอำนาจ

หรือแม้แต่การกำหนดให้ คสช.มีอำนาจสรรหา สว.ถึง 250 คน ที่จะเข้ามามีอำนาจลงมติเลือกบุคคลเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ทุกอย่างถูกจัดเตรียมไว้เกือบหมด จึงเหลือแต่การหาช่องทางกลับเข้ามามีอำนาจในฝ่ายบริหารเพื่อสานต่ออำนาจต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งการจะทำให้เกิดความสวยงามก็ต้องมาทางพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ไม่ใช่อาศัยทางลัดอย่างที่หลายฝ่ายนินทา

ด้วยเหตุนี้จึงได้นำมาสู่การพยายามตีกรอบพรรคการเมืองใหญ่ ทั้ง “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มาคุมอำนาจฝ่ายบริหารอีกครั้ง

เมื่อมองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่รับเคราะห์มากที่สุด เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนหลักล้านคน ประกอบกับมาตรา 44 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการกับการยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างเข้มงวด จึงได้เห็นอาการหัวร้อนของพรรคประชาธิปัตย์กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทียืนยันเตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการใช้มาตรา 44 ทั้งหมด 5 ประเด็น

1.แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะรับรองอำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แต่ก็ไม่สามารถใช้ออกคำสั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติได้

2.คำสั่งหัวหน้า คสช.เข้าข่ายสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับสมาชิกพรรคการเมือง ที่ต้องทำหนังสือต่อหัวหน้าพรรคการเมือง

3.การออกคำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังเข้าข่ายไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขไว้

4.แม้คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ฉบับนี้จะมีนัยต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีเวลาทบทวนตัวเอง แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมเพื่อกำหนดนโยบายหรือตัวผู้บริหารพรรคได้

5.เนื้อหาสาระในคำสั่งฉบับนี้ ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองใหม่กับพรรคการเมืองเก่า

ทั้ง 5 ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์กำหนดมานั้นนับว่ามีความน่าสนใจ แต่ถ้ามองในทางกฎหมายแล้วเป็นไปได้ยากที่จะชนะ คสช.ได้ เพราะมาตรา 44 มีความเป็นที่สุดในทางกฎหมาย แม้แต่ศาลเองก็ไม่อาจมาลบล้างการกระทำของ คสช.ที่อาศัยมาตรา 44 ได้แต่อย่างใด

อย่างมากที่สุดพรรคประชาธิปัตย์จะได้ดีที่สุดเพียงแค่การส่งเอกสารให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก่อนที่จะต้องมารับฟังความคิดเห็นของทั้งสององค์กรในทำนองว่าไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา หรืออาจจะรับไว้พิจารณาแต่บั้นปลายสุดท้ายคงจะออกมาในลักษณะว่าการใช้มาตรา 44 ในเรื่องดังกล่าวถือเป็นที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ที่เต็มไปด้วยนักกฎหมายแถวหน้าของประเทศย่อมรู้ถึงผลสุดท้ายของศึกครั้งนี้เป็นอย่างดี แต่ที่ต้องสู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าแพ้ เนื่องจากต้องการอาศัยพลังทางสังคมออกมาช่วยกดดัน คสช.เพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองและสกัดการเหลิงอำนาจของพรรคทหารที่จะมีขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการเดินหน้าท้าชนกับ คสช.อย่างเต็มตัวด้วย ท่ามกลางสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการกดดันให้สองพรรคการเมืองใหญ่ต้องก้มหัวให้กับพรรคทหารที่เตรียมขึ้นมาสืบทอดอำนาจ คสช.อีกด้วย

ที่สุดแล้วศึกครั้งนี้ไม่ได้จบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มที่จะนำมาซึ่งการห้ำหั่นทางการเมืองกันอย่างดุเดือดในระยะยาว