posttoday

ชง 10 แผนปฏิรูปยุติธรรม 5 ปีทัดเทียมมาตรฐานสากล

08 ธันวาคม 2560

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อทำแผนปฏิรูป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อทำแผนปฏิรูป โดย “อัชพร จารุจินดา” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้กล่าวสรุปแนวทางโดยมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้ 

อัชพร ระบุว่า ที่ผ่านมาบุคลากรด้านกระบวนการยุติธรรมมีไม่พอ อีกทั้งการดำเนินงานก็ล่าช้า รวมถึงปัญหาที่ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ค่อยสะดวก หรือเกิดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินการ นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมตลอด แต่ก็มีอุปสรรคไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ บางครั้งก็เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรยุติธรรม แต่วันนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องปฏิรูปด้วย

ทั้งนี้ ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการได้รวบรวมความเห็น และจัดทำแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมี 10 แผน แผนที่ 1 คือกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีระยะเวลาในการดำเนินงาน แต่ละขั้นตอน และสร้างระบบให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของคดีได้

แผนที่ 2 คือสร้างกลไกช่วยเหลือประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยสะดวก เช่น ให้หน่วยงานในกระบวนยุติธรรมต้องแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลยทราบ เป็นต้น รวมถึงปฏิรูปกระบวนการวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

แผนที่ 3 การสร้างกลไกให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการปรับปรุงโทษปรับในคดีอาญา โดยให้นำระบบโทษปรับตามความสามารถของผู้กระทำผิด เพื่อลดข้อกล่าวว่าคนรวยจ่ายเงินแล้วจบคดีได้

แผนที่ 4 คือการสร้างกลไกการบังคับตามกฎหมาย เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเป็นธรรมในสังคม อย่างการกำหนดนโยบาย การใช้กฎหมายยาเสพติดให้เห็นชัด รวมถึงกำหนดให้การลด การกระทำความผิดซ้ำ เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการดำเนินงาน เป็นต้น

แผนที่ 5 คือการปรับปรุงระบบการสอบสวนให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม แผนที่ 6 กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวนทุกฝ่ายให้ชัดเจน

แผนที่ 7 สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา แผนที่ 8 ปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การทำให้มีกฎหมายบริหารจัดการระบบนิติวิทยาศาสตร์ และการอบรมความสามารถของพนักงานสอบสวน ให้มีความรู้ด้านนี้เบื้องต้น เพื่อการรักษาสถานที่เกิดเหตุ หรือสามารถเก็บหลักฐานได้ทันทีหากมีความจำเป็น

แผนที่ 9 เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยเร็ว และแผนที่ 10 คือการพัฒนาศักยภาพของกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

“แผนปฏิรูปดังกล่าวเป็นเพียงหลักเบื้องต้นเท่านั้น ผมเชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้าถ้าสำเร็จทุกแผน กระบวนการยุติธรรมไทย จะทัดเทียมมาตรฐานสากล และมีศักยภาพแข่งขันกับนานาชาติได้ ซึ่งเรากำลังรับฟังความคิดเห็น โดยจะส่งต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) พิจารณากันอีกรอบในกรอบเวลา 30 วัน ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป” อัชพร กล่าว

ขณะที่ “จรัญ ภักดีธนากุล” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ทัศนะว่า จากที่ได้เคยมีส่วนร่วมปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เป็นแผนงานเล็กๆ แต่ว่าไม่มีครั้งไหนลงรายละเอียดชัดเจนเท่าครั้งนี้ จึงตั้งความหวังว่าเพียงแค่ทำได้ 80% ก็เป็นการปฏิรูปใหญ่แล้ว 

ทั้งนี้ ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาแรกคือ ไม่มีผู้รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานทิศทางของกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่มีใครแก้ปัญหาในภาพรวมได้ แต่วันนี้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมเข้ามาทำหน้าที่นี้แล้ว และยังเป็นผู้คอยติดตามประเมินผลด้วยเชื่อว่าคณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับปัญหาที่สองคือ ยังมีการปล่อยคนชั่วลอยนวล ถือเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยคนที่ทำผิดร้ายแรง ที่เป็นผู้มีอำนาจ ทั้งในการเมือง ราชการ อำนาจทุน มักจะหลุดลอยไปโดยที่ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ซึ่งใน 10 แผน พูดแก้เรื่องนี้แต่ไม่สุด วิธีหนึ่งที่จะเสนอ คือเอาความพยายามของการต่อสู้ระบบทุจริตมาใส่กับเรื่องนี้ด้วย เช่น ถ้าจำเลยจะอุทธรณ์ ก็ต้องมาแสดงตัวต่อศาลก่อน เป็นต้น รวมถึงระบบอายุคดีความที่มีในคดีทุจริตเช่นกัน

ในส่วนปัญหาที่สาม คือ การหนีจากประกัน ซึ่งระบบทุจริตถ้าหนีประกัน คือ ผิดอาญา เรื่องนี้ก็ต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติด้วย ถือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการยุติธรรม

“ปัญหาอีกเรื่องคือการกันคนเป็นพยาน ที่ควรมีกฎหมายเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาตำรวจอาจจะใช้วาทศิลป์ เช่นว่า ถ้าเป็นพยานให้ จะไม่ดำเนินคดีด้วย ทำให้พยานบางคนศาลไม่รับฟังทั้งๆ ที่เป็นคำให้การที่สำคัญ

ดังนั้นควรมีมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่ในเรื่องนี้เพื่อกันพยาน โดยไม่ต้องหลอกลวงสัญญา หรือว่ามีระบบคุ้มครองพยาน ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยจากการฆ่าตัดตอน เป็นต้น” จรัญ กล่าว