posttoday

กกต.ป้ายแดง อาจไปไม่ถึงฝั่ง

07 ธันวาคม 2560

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นครั้งสำคัญของประเทศ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เข้าสู่เดือน ธ.ค. เดือนสุดท้ายของปี 2560 หลายฝ่ายก็เริ่มเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มตัว เพราะถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งได้เดินเข้าคูหาลงคะแนนเลือก สส. ในเดือน พ.ย. 2561

ล่าสุดคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่ง กกต.ออกมาแล้วจำนวน 5 คน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มี กกต.ทั้งหมดจำนวน 7 คน จากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คน และการลงมติจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงการรอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกให้เสร็จสิ้น บรรดาว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน จะมุ่งหน้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับรายชื่อว่าที่ กกต. ที่ปรากฏออกมาจำนวน 5 คน ประกอบด้วย

1.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

2.ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

3.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

4.ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฎฐ์

5.ประชา เตรัตน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เห็นจากรายชื่อแล้วต้องยอมรับว่าที่ กกต.จำนวนไม่น้อยอยู่ในประเภท “โลวโปรไฟล์” จะมีเพียง "ฐากร-ประชา" เท่านั้นที่หลายคนอาจคุ้นหูอยู่บ้าง

อย่างรายแรกในระหว่างทำหน้าที่เลขาธิการ กสทช. เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการติดตามกลุ่มบุคคลที่ใช้สื่อใต้ดินโจมตีรัฐบาลและ คสช.มาตลอด ส่วนอีกคนหลังนั้นเคยผ่านการทำงานในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายมาก่อน

ส่วนบุคคลที่เหลือแม้จะมีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพมาอย่างโชกโชน แต่ในทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “มือใหม่หัดขับ”

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นครั้งสำคัญของประเทศ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกได้ว่าทุกอย่างต้องมาเริ่มใหม่หมด ดังนั้นหากคนคุมกติกาเลือกตั้งไม่เก๋าเกมการเมืองแล้ว ย่อมเป็นการยากที่ คสช.จะลงจากอำนาจแบบหมดห่วงได้

ด้วยความเป็นมือหัดขับนี่เอง อาจมีความเป็นไปได้ที่เกิดปรากฏการณ์ สนช.ลงมติคว่ำว่าที่ กกต.ทั้งหมดหรือบางส่วนที่คณะกรรมการสรรหาเสนอเข้ามา

การใช้มติสภาคว่ำมติคณะกรรมการสรรหานั้น สนช.เคยทำให้เห็นมาก่อนแล้วในปี 2559 เมื่อครั้งไม่เห็นชอบให้ "นพ.เรวัต วิศรุตเวช" ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการสรรหาในเวลานั้นเสนอขึ้นมา จนคณะกรรมการสรรหาต้องไปเริ่มนับหนึ่งและส่งชื่อบุคคลอื่นเข้ามาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบแทน

กรณีของการสรรหา กกต.เช่นเดียวกัน หาก สนช.เห็นว่ารายชื่อที่ส่งมาบางส่วนหรือทั้งหมดไม่เป็นที่น่าพอใจ อาจมีมติเหมือนในอดีตได้เพื่อให้ไปเริ่มสรรหากันใหม่อีกครั้ง

แน่นอนว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ส่งผลให้จำเป็นต้องกลับมาเริ่มกระบวนการสรรหากันใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนของการเปิดรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติและแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเริ่มต้นใหม่หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการสรรหาอาจใช้ช่องทางพิเศษตาม มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 เปิดทางไว้ให้ โดยเป็นการยอมให้คณะกรรมการสรรหาสามารถเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาสมัครเป็น กกต.ได้ นอกเหนือไปจากการยื่นใบสมัครตามปกติ

ตรงนี้อาจเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้กรรมการสรรหาสามารถเลือกบุคคลในลักษณะโดนใจได้มากขึ้น ไม่ถูกจำกัดเหมือนกับที่ผ่านมา

อย่างน้อยเพื่อให้ได้ กกต.ที่มีคุณสมบัติด้านความรู้และความเท่าทันการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ สนช. และผู้มีอำนาจทั้งหลายจะตัดสินใจอย่างไร