posttoday

ชิงประกาศวันเลือกตั้ง ลดแรงกดดัน คสช.

12 ตุลาคม 2560

สัญญาณชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 2561 และจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 2561 และจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561

นอกจากจะคลี่คลายความคลุมเครือให้กระจ่างชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว คำมั่นจาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันที่กำลังรุมเร้า คสช.ในเวลานี้ให้ลดน้อยถอยลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

จากก่อนหน้านี้ท่าทีของรัฐบาล คสช.เป็นเพียงแค่แบ่งรับแบ่งสู้ไม่เคยออกมายืนยันความชัดเจนเรื่องกำหนดการเลือกตั้งอย่างเต็มปากเต็มคำ ​ย้ำเพียงแค่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป

​ความคลุมเครือดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเริ่มออกมาดักคอจี้ให้ คสช.​และ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง โดยมิอาจบิดพลิ้ว

ที่สำคัญการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาประกาศวันเลือกตั้ง ​ยังเป็นการปิดประตูป้องกันไม่ให้ คสช.หยิบยกหาเหตุผลมาเป็นข้ออ้างสำหรับเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิม

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีความพยายามยื้ออยู่ในอำนาจต่อไป​

ขณะที่ทาง คสช.ก็ทำได้เพียงแค่ประกาศว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป และไม่คิดจะมีการสืบทอดหรือยื้ออยู่ในอำนาจแต่อย่างไร โดยไม่เคยประกาศชัดว่าจะเลือกตั้งในช่วงใด 

ยิ่งภายหลังจากที่การประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งของผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด ประเมินว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. จะมีผลใช้บังคับประมาณเดือน มี.ค. 2561 และช่วงที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 และมีการเลือกตั้งในเดือน ส.ค. 2561

แต่คนใน คสช.ดูจะไม่ได้ออกมาขานรับกับกำหนดการเลือกตั้งดังกล่าว พร้อมยังตีกรรเชียงออกมาเปิดทางว่ากำหนดการของ กกต.เป็นเพียงแค่การเตรียมการเท่านั้น

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลยังตอบอะไรไม่ถูก ตอนนี้รู้เพียงว่าหากประกาศใช้กฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ เสร็จเมื่อไร มีผลใช้บังคับเมื่อใด ก็จะจัดการเลือกตั้ง 5 เดือนหลังจากนั้น ส่วนจะเป็นวันไหนก็สุดแท้แล้วแต่ กกต.ผู้กำหนด

เงื่อนไขสำคัญที่จะชี้ขาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่จึงอยู่ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ซึ่งมีกระแสข่าวหนาหูว่า อาจใช้ช่องทาง

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คว่ำกฎหมายเพื่อให้เส้นทางตามโรดแมปต้องสะดุด จนการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย

แม้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวนี้ แต่ก็ไม่อาจคลี่คลายความกังขาของสังคมได้อย่างสนิทใจ โดยเฉพาะท่าทีจากผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ได้ออกมาประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนเสียที

สุดท้ายแรงกดดันจึงทวีความรุนแรงย้อนกลับมาหา คสช.​อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกับประเด็นการยื้ออยู่ในอำนาจของ คสช. ซึ่งหนาหูขึ้นเรื่อยๆ สอดรับไปกับกลไกต่างๆ ที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ถูกมองว่าปูทางรองรับการอยู่ในตำแหน่งของ คสช.ในอนาคต

อีกด้านหนึ่งยังเป็นการลิดรอนอำนาจของนักการเมืองที่จะมาจากการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งมีกฎระเบียบควบคุมการทำงานจนยากจะขยับตัว

ข้อครหานี้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของ คสช.โดยตรง ยิ่งในช่วงเวลาที่คะแนนนิยม และความเชื่อมั่นที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านผลโพลหลายสำนัก

การจะปล่อยให้ทุกอย่างคลุมเครือต่อไปย่อมไม่เป็นผลดี แถมมีแต่จะฉุดความเชื่อมั่นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันกระทบต่อไปถึงการค้าการลงทุนที่ชะงักงันมานาน

การออกมาส่งสัญญาณตั้งแต่ในช่วงการเดินทางเยือนสหรัฐว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 นั้น จึงถือเป็นความตั้งใจที่ลดแรงกดดันซึ่งกำลังรุมเร้า ก่อนจะมาย้ำความชัดเจนอีกครั้งที่ประเทศไทย

“วันนี้มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมืองอยู่ในความสงบ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย ขอยืนยันว่าไม่ต้องการหน่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น”

หากจับสัญญาณในการชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมสะท้อนความเป็นห่วงที่กลัวว่าอาจมีนักการเมือง หรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีหยิบยกประเด็นความ

ไม่ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งออกมากดดันรัฐบาลในอนาคต

การรีบตัดตอนชนวนความวุ่นวายจึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการ ดีกว่าปล่อยให้ทุกอย่างลุกลามบานปลาย

จนฉุดให้​สิ่งที่สู้อุตส่าห์ทำมาทั้งหมด

ต้องเสียเปล่าไปอย่างน่าเสียดายและอาจกระทบไปถึงช่วงการลงจากอำนาจอีกด้วย