posttoday

ปิดประตูตาย 'ทักษิณ' กลับบ้าน

10 ตุลาคม 2560

แรงกระเพื่อมเริ่มก่อตัวทันทีหลังอัยการสูงสุดคนใหม่มีแนวคิดการรื้อฟื้นคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาพิจารณารับหลังจำเลยที่หลบหนีคดี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แรงกระเพื่อมเริ่มก่อตัวทันทีหลัง เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดคนใหม่ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงแนวคิดการรื้อฟื้นคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร กลับมาพิจารณารับหลังจำเลยที่หลบหนีคดี หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

จากคดีเก่าซึ่งเป็นการยื่นฟ้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ซึ่งเดิมไม่สามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลัง โดยที่ไม่มีตัวจำเลยได้ แต่กฎหมายใหม่มาตรา 28 ให้ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย

อีกทั้งในบทเฉพาะกาลมาตรา 69 ของกฎหมายใหม่ได้ระบุไว้ว่าการดำเนินการใดที่เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเก่าแล้วนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้พิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ ความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่าคดีดังกล่าวสามารถรื้อฟื้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้

นำมาสู่การขยับของ อสส. เมื่อ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก อสส. ระบุว่า ทางสำนักงานคดีพิเศษต้องตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อปฏิบัติตามนโยบายของอัยการสูงสุดที่ได้ มอบหมายมาต่อไป

"เหมือนที่ท่านอัยการสูงสุดกล่าว เรามีหน้าที่อะไรที่จะต้องทำ เราไม่ได้คำนึงว่าใครเป็นฝ่ายไหน ถ้าเราไม่ทำจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ สิ่งที่สำนักงานอัยการสูงสุดต้อง ยึดมั่นคือเมื่อกฎหมายเขียนมาแล้วเราต้องทำหน้าที่ของเรา" รองโฆษก อสส.กล่าว

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนหลังจากการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยให้อธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งเดิมเคยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบคดีเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะทำงานที่เหมาะสมขึ้นมาแล้ว

ต่อจากนั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองขอให้นำคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งหากศาลเห็นตรงกันในการบังคับใช้กฎหมายส่วนนี้ก็สามารถนำคดีมาดำเนินการต่อได้

สอดรับไปกับการออกมาชี้แจงของ สมชาย แสวงการ อดีตโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ออกมาระบุว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่การรื้อฟื้นคดี แต่เป็นการบังคับคดีที่ถูก แช่แข็ง เนื่องจากจำเลยหลบหนีให้กระบวนการสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยการพิจารณาคดีลับหลังจะได้พิสูจน์ความถูกผิด

ขณะนี้มีคดีของ ทักษิณ 4 คดีที่ถูกแช่แข็ง เนื่องจากหลบหนีคดีอยู่ในข่ายพิจารณาคดีลับหลังตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่

1.คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้รัฐบาลเมียนมาวงเงิน 4,000 ล้านบาท

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน)

3.คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต

4.คดีการทุจริตกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้ บริษัท กฤษดามหานคร

หลังจากนี้กระบวนการไล่เช็กบิลย้อนหลัง อดีตนายกฯ ทักษิณ จึงกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ที่ห่วงกันว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่ และทำให้เส้นทางปรองดองที่พยายามทำกันมาต้องสั่นคลอนรุนแรง

ที่สำคัญกระบวนการที่เกิดขึ้นถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะปิดช่องทางและโอกาสการกลับมาของอดีต นายกฯ ทักษิณ ซึ่งเวลานี้หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ จากคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดจำคุก 2 ปี

เมื่อมีบางฝ่ายจะพยายามเชื่อมโยงโดยหยิบยกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 วงเล็บสาม ที่ระบุว่า ถ้าหากศาลฎีกาฯ มีคำสั่งลงโทษจำคุกระหว่าง 1-7 ปี จะทำให้คดีมีอายุความ 10 ปี มาพิจารณา

เมื่อคำนวณตามวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี ดังนั้น เดือน ต.ค. 2561 ทักษิณก็อาจจะกลายเป็นอิสระได้ในที่สุด

แม้เรื่องนี้จะยังมีการหยิบยกข้อกฎหมายมาถกเถียงกันในหลายแง่มุมแต่ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุป

การหยิบยกเรื่อง 4 คดีที่ค้างคา อยู่ในระบบกลับขึ้นมาพิจารณาอีกรอบ จึงถูกมองว่านี่เป็นความพยายามตัดโอกาส และ "ปิดตาย" การกลับบ้านของอดีตนายกฯ ทักษิณ อย่างเบ็ดเสร็จ

อีกด้านหนึ่งทางอ้อมยังถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณขู่ เพื่อไม่ให้ ทักษิณออกมาเคลื่อนไหว หรือสร้างความปั่นป่วนใดๆ ในช่วงนี้เรื่อยไปจึงถึงห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง

อันนับเป็นช่วงเวลาที่เปราะบาง และไม่ต้องการให้เกิดปัจจัยเสี่ยงใดๆ  ที่จะมาเป็นอุปสรรคต่อโรดแมปที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้

จะมีก็เพียงแค่ ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า เคยยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ากฎหมาย ดังกล่าวตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

โดยมีการเลือกปฏิบัติเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง เรื่องสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดี ต่อหน้าบุคคล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

จากนี้จึงได้เพียงแค่ติดตาม ดูกระบวนการพิจารณาคดีที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป