posttoday

เลือกตั้งคลุมเครือ จับตา สนช.แสดงอภินิหาร

09 ตุลาคม 2560

หาก สนช.ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แน่นอนว่าคนไทยต้องอยู่กับ คสช.ไปอีกนานพอสมควรเลยทีเดียว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะบอกว่าการเลือกตั้งเริ่มใกล้เป็นจริงเข้าไปอีกหนึ่งก้าวแล้วก็คงไม่ผิดนัก ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่มีผลบังคับใช้ต่อจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. 2560

อย่างที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้องมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ ประกาศใช้ก่อน จากนั้นถึงจะไปกำหนดวันเลือกตั้งให้อยู่ภายในกรอบ 150 วัน นับจากวันที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้

ในเวลานี้เงื่อนไขดังกล่าวบรรลุมาแล้วครึ่งทางจากกรณีร่างกฎหมาย กกต.และพรรคการเมือง เหลืออีกเพียง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ถ้าร่างกฎหมายทั้งสองนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์และบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อไหร่ก็นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งได้ทันที

เห็นแบบนี้แล้วดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องไม่ยากมากนัก แต่ถ้ามองในทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเงื่อนไขที่มองไม่เห็นในลักษณะซับซ้อนที่ซ่อนอยู่พอสมควรเช่นกัน

ความคืบหน้าล่าสุดของการจัดทำร่างกฎหมาย สส.และ สว.นั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังเดินหน้าจัดทำไปได้พอสมควร

กรธ.วางกรอบเวลาไว้ว่าในวันที่ 21 พ.ย.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ สนช.ประชุมนัดแรกเพื่อรับหลักการในวาระที่ 1 วันที่ 23 พ.ย. ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.จะถึง สนช.วันที่ 28 พ.ย. และ สนช.จะนัดประชุมรับหลักการในวาระที่ 1 วันที่ 30 พ.ย.ก่อนที่การทำหน้าที่ของ กรธ.ในการเขียนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ กรธ.จะครบกำหนด 240 วัน ในวันที่ 1 ธ.ค.

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กรธ.ประกาศกรอบการทำงานของตัวเองอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของบางฝ่ายที่พยายามกล่าวหาว่า กรธ.มีเจตนาจะยื้อการเลือกตั้ง

เมื่อ กรธ.แจ้งต่อสาธารณชนชัดถ้อยชัดคำแบบนี้ เผือกร้อนทั้งสองชิ้นนี้จึงตกอยู่ในมือของ สนช.ทันที

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ สนช.มีเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูกที่รับมาจาก กรธ.ให้เสร็จภายใน 60 วัน จากนั้นต้องส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ.เพื่อให้ทำความคิดเห็นมาว่าร่างกฎหมายที่ สนช.แก้ไขนั้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในขั้นตอนนี้หากทุกองค์กรเห็นว่าไม่มีปัญหา สนช.ก็สามารถส่งร่างกฎหมายไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ต่อไป แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อดูบทบัญญัติบางมาตราที่เป็นปัญหาและส่งมาให้ สนช.ลงมติอีกครั้ง

จะเห็นได้ว่า สนช.กำลังเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งไปโดยปริยาย

สถานการณ์ของ สนช.ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าต่างฝ่ายต่างรอดูท่าทีจาก คสช.กันเป็นระยะ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางกลับมาจากสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายใน สนช.กำลังมีความคลุมเครืออย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากการรับข่าวสารจาก คสช.ไม่ตรงกันเท่าไรนัก เพราะได้รับจากแหล่งที่มาคนละคนกัน

กลุ่มหนึ่งได้รับในทำนองว่าให้ สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับที่เหลือไปตามปกติ โดยให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าแม่น้ำ 5 สาย จะยื้อเลือกตั้ง

แต่บางกลุ่มกลับได้รับข่าวสารในลักษณะว่าให้พิจารณากฎหมายที่ กรธ.เสนออย่างเคร่งครัด หากเห็นว่ามาตราไหนมีปัญหาให้ดำเนินการเด็ดขาดทันที เพราะไม่ต้องการปล่อยให้กฎหมายเลือกตั้งผ่านสภาไปแบบลวกๆ จนไปสร้างปัญหาในอนาคตแบบอดีตที่ผ่านมาอีก

แม้ภายใน สนช.จะยังไม่ได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน แต่เมื่อรูปการณ์ปรากฏออกมาเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าเขย่าขวัญคนที่อยากเลือกตั้งอยู่ไม่น้อย อีกทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็มีช่องโหว่ที่เอื้อให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปได้เช่นกัน

กล่าวคือ หาก สนช.ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.หรือการได้มาซึ่ง สว.ขึ้นมา จะต้องกลับไปเริ่มใหม่ที่ กรธ.ทันที ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่า กรธ.จะต้องทำและส่งกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่มาให้ สนช.อีกครั้งเมื่อไหร่

ที่สำคัญในรัฐธรรมนูญเองไม่ได้บัญญัติถึงทางออกเมื่อกรณีเกิดปัญหาดังกล่าวไว้ด้วย จึงทำให้ความคลุมเครือมากขึ้นไปทุกที

ประกอบกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ล่าสุดที่ยังไม่พูดถึงเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งอย่างเต็มปากเต็มคำเท่าไรนัก ย่อมต้องกระทบถึงการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมี สนช.เป็นตัวแปรสำคัญ

ดังนั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.เข้าสู่ สนช.ในวาระที่ 1 ช่วงปลายเดือน พ.ย. จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญก็เป็นไปได้

ถ้า สนช.รับหลักการ คงเป็นสัญญาณระดับหนึ่งว่าการเลือกตั้งน่าจะเป็นไปตามปกติ แต่หาก สนช.ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แน่นอนว่าคนไทยต้องอยู่กับ คสช.ไปอีกนานพอสมควรเลยทีเดียว