posttoday

เริ่มต้นไม่สวย ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ลำบาก

04 ตุลาคม 2560

"ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" นับเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

"ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" นับเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ประกาศต่อคนไทยทั้งประเทศเอาไว้ตั้งแต่รัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2557

แนวความคิดในการทำยุทธศาสตร์ชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความต้องการให้เป็นยิ่งกว่าแผนแม่บทในการขับเคลื่อนประเทศไทย เทียบเท่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะมีความมั่นคงสถาพรมากกว่า

กล่าวคือ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ออกแบบให้ยุุทธศาสตร์ชาติเข้ามามีบทบาทในหลายๆ ด้าน

เริ่มตั้งแต่มาตรา 65 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของยุทธศาสตร์ชาติที่ว่าด้วยการกำหนดให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์เป็นหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน

ขณะเดียวกัน มาตราในรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติให้การบริหารของหน่วยงานรัฐรวมไปถึงคณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ มาตรา 162 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ

นอกเหนือไปจากกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเกิดผลความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สาระสำคัญของกฎหมาย คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี นายกฯ เป็นประธาน และมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลหลายภาคส่วน เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำเหล่าทัพ องค์กรภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อควบคุมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้

ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้วจำนวน 6 คณะ ปรากฏว่ามีชื่อของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาเป็นกรรมการด้วย โดยอยู่ในคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ถ้าชัชชาติไม่เคยอยู่กับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์มาก่อนก็คงไม่แปลก แต่เมื่อมีชื่อมาอยู่ในงานสำคัญของรัฐบาลย่อมเป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าสนใจ ไม่น้อย

แต่เพื่อไม่ให้เกิดความแคลงใจ ในเรื่องจุดยืน ปรากฏว่าชัชชาติได้ประกาศขอถอนตัวไม่เข้าร่วมงานกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารทันที

"เป็นภาระงานสำคัญที่ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมาก ซึ่งผมไม่ได้มีความเข้าใจในแนวคิดและหลักการของยุทธศาสตร์ชาติอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ ยังติดภาระงานประจำที่เป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัทมหาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระด้านครอบครัว จึงไม่สามารถทำหน้าที่กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเต็มกำลัง จึงขอไม่รับตำแหน่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ" เหตุผลที่ชัชชาติ ขอถอนตัว

แม้ต่อมาจะมีการบอกจากชัชชาติเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลถูกตบหน้าในเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ "ผาสุก พงษ์ไพจิตร" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐกิจศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศถอนตัวไม่ขอร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองมาแล้ว พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่ขอร่วมกับทหาร หลังจากมีชื่อไปปรากฏเป็นคณะ อนุกรรมการฯ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงการถอนตัวของชัชชาตินั้นต้องยอมรับว่าแฝงนัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

ต้องไม่ลืมว่าชัชชาติเป็นกลุุ่ม นักการเมืองรุ่นใหม่ที่ถูกหลายฝ่ายจับตามองมากคนหนึ่งในเวลานี้ โดยไม่เคยตกเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มสีเสื้อทางการเมืองโดยตรง อีกทั้งการทำงานในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีผลงานเป็น ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแนวคิดการสร้างรถไฟความเร็วสูง

ท่ามกลางสภาพการณ์แบบนี้ จึงเป็นไปได้ที่ชัชชาติเลือกที่จะถอนตัวเพื่อเก็บเนื้อเก็บตัวไว้สำหรับสนามเลือกตั้งในอนาคต เพื่อสะสมไมล์ทางการเมือง เพื่อให้เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ในอนาคต

แต่สำหรับรัฐบาลแล้ว การถอนตัวของชัชชาติไม่ต่างอะไรกับการถูก ตบหน้าเข้าอย่างจัง เพราะเมื่อการ เริ่มต้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไม่สวยแล้ว โอกาสที่จะไปให้ถึงฝั่งที่มาจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่ายคงเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามแสดงความ คิดเห็นได้มากนัก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยให้รัฐบาลไม่ได้ตัวนักวิชาการ แถวหน้าของเมืองไทยมาร่วมงานด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติ คือ แผนแม่บทของประเทศไทยที่ใช้บังคับกับคนไทยทั้งประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่การทำยุทธศาสตร์ชาติต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เมื่อปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ยอมผ่อนกฎเหล็กลงมา ก็เป็นเรื่องยากที่การทำยุทธศาสตร์ชาติจะราบรื่น และไม่อาจเรียกได้ว่ามาจากประชาชนอย่างแท้จริง