posttoday

รีเซตศาลรัฐธรรมนูญหมิ่นประมาทติดคุก

30 กันยายน 2560

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.ตักเตือน 2.ไล่ออกจากบริเวณศาล 3.ลงโทษจำคุก

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ ก่อนมีมติเอกฉันท์ 198 คะแนน รับหลักการ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 22 คน พร้อมกำหนดเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 50 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช.ลงมติต่อไป

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายนี้ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะให้มีกลไกการทำงานเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน กรธ.ยังได้กำหนดการคงอยู่ของศาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทุกองค์กร คือ ให้ดำรงต่อไปได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

"จะมีเพียงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.เท่านั้น ที่ กรธ.บัญญัติให้แตกต่างออกไป ด้วยการให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด เพื่อมีกระบวนการสรรหาให้สอดคล้องกับนานาชาติ หากในชั้น กมธ.ของ สนช.จะมีการแก้ไขหรือความเห็นอย่างไร ก็ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของ สนช."

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งจากบุคคล ต่อไปนี้ 1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 3 คน

2.ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน 3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน และ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน

ขณะเดียวกัน มาตรา 38 กำหนดให้ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี หรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดี ดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็วและการวิจารณ์คำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ถือว่าไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ส่วนมาตรา 39 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.ตักเตือน 2.ไล่ออกจากบริเวณศาล 3.ลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ในบทเฉพาะกาล มาตรา 76 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24/2560 เรื่องให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 23/2560 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2560 บรรดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่จะเข้ามารับหน้าที่

มาตรา 77 ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับ ให้องค์กรอิสระ แต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 11 และเมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากองค์กรอิสระใดยังไม่อาจแต่งตั้งผู้แทนได้หรือในกรณีที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

อย่างไรก็ดี กรณีที่คณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันถัดจากที่คณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์ในการรับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา 26 ให้ถือว่าการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุลาออก และคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

มาตรา 81 การดำเนินการไต่สวน หรือการดำเนินการอื่นใดตามหน้าที่และอำนาจของศาล ซึ่งดำเนินการก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้บังคับ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการเรื่องใดที่ยังค้างพิจารณาอยู่และมิได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการนั้นต่อไปตามมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ