posttoday

กปปส.โยนหินตั้งพรรค วัดกระแสแตกหักปชป.

13 กันยายน 2560

ถือเป็นการโยนหินถามทางครั้งสำคัญเมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกปปส.ออกมาระบุว่า ขณะนี้ กปปส.ยังไม่ได้คิดเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องของอนาคต

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถือเป็นการโยนหินถามทางครั้งสำคัญเมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ออกมาระบุว่า ขณะนี้ กปปส.ยังไม่ได้คิดเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องของอนาคต

"อะไรที่จำเป็นต่อชาติบ้านเมือง เราทำทั้งนั้น แต่ยืนยันที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่อาจจะให้การสนับสนุนตัวบุคคล หรือพรรคการเมืองที่ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้" สุเทพ ระบุ

เรียกได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญเพราะก่อนหน้านี้ สุเทพ ประกาศชัดถ้อยชัดคำวางมือให้การเมืองไม่คิดหวนกลับสู่การเมืองในระบบเช่นเดิม แต่ครั้งนี้ท่าทีเริ่มเปลี่ยนไป แบ่งรับแบ่งสู้กับการตั้งพรรคการเมืองลงสนาม เลือกตั้งรอบใหม่

หากจำได้ก่อนหน้านี้สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกจากประชาธิปัตย์ พร้อมกระแสข่าวจะออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับ สุเทพ และดึงสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนมาร่วมงานด้วย

ก่อนที่ สุเทพ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นการสร้างเรื่องขึ้นจะโดยผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างไรก็แล้วแต่ส่วนตัวไม่ใส่ใจ ไม่ติดใจ เพราะไม่คิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว

แต่รอบนี้การเปิดทางด้วยคำว่า "อะไรที่จำเป็นต่อชาติบ้านเมืองเราทำทั้งนั้น" ย่อมทำให้ทางเดินที่มีอยู่อย่างจำกัดเปิดกว้างมากขึ้นจากเดิมทั้งในส่วนของ สุเทพ และอดีตแกนนำ กปปส.

หลังจากก่อนหน้านี้ แกนนำ กปปส.ต่างพร้อมใจออกมาแสดงตนประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะกลับมาร่วมงานกับประชาธิปัตย์ สยบกระแสข่าวความคิดความเห็นที่ยังไม่ลงรอยกันจนถึงขั้นมีกระแสข่าวความพยายามเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ รอยร้าวระหว่าง ประชาธิปัตย์ และ กปปส.ดูจะไม่สามารถประสานกันจนเป็นเนื้อเดียวเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตได้

ยิ่งหากไล่ดูความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นความแตกต่างระหว่าง กปปส. และประชาธิปัตย์ ในหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งจุดยืนเรื่องการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อฝั่ง สุเทพ ประกาศตัวสนับสนุนรัฐธรรมนูญแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ต่างจากฝั่ง อภิสิทธิ์ ที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง

ต่อเนื่องด้วยแนวคิดเรื่องการ ผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีกสมัยหลัง เลือกตั้ง ของ กปปส. เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และจะทำให้การดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะการปฏิรูปสามารถเดินหน้าต่อไปได้แบบไม่สะดุด

ส่งผลต่อทิศทางการดำเนินงานและจุดยืนของประชาธิปัตย์อย่างมาก เพราะตามหลักการประชาธิปไตยพรรคการเมืองก็ควรจะเสนอรายชื่อคนของตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าจะเสนอคนจากกองทัพหรือ อดีต คสช.ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ในวันที่แนวคิดเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกถูกพูดถึงหนาหูมากขึ้น ด้วยระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ และกลไกตัวช่วยจาก สว. 250 เสียง ที่จะมีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

คู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายที่เปิดหน้าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และความพยายามตั้งพรรคทหารที่ถูกพูดถึงก่อนหน้านี้

การโยนหินจุดประเด็นเรื่องการตั้งพรรคใหม่ของสุเทพจึงอาจเป็นการวัดกระแส เช็กเสียงตอบรับจากสังคม แฟนคลับ ว่าเห็นดีเห็นงามหรือ วัดฐานเสียงสนับสนุนว่ายังเหนียวแน่นมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งหากจะต้องแตกหัก แยกตัวออกมาจากประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคใหม่ด้วยแล้ว ทางเลือกนี้จะเป็นที่ยอมรับหรือทำให้ฐานเสียงที่เคยเข้มแข็งต้องมาอ่อนแอลงหรือไม่

โดยเฉพาะกับพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงร่วมกันของประชาธิปัตย์ และ กปปส. หากต้องมาแบ่งกันเองจะทำให้เกิดปัญหาในภายหลังหรือไม่

ดังเช่นที่ อภิสิทธิ์ ออกมาประเมินว่าแม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการตั้งพรรค แต่ถ้าสุเทพตั้งพรรคจริงก็จะทำให้คนกังวล เพราะมีความรู้สึกว่าฐานเสียงคือฐานเดียวกัน

อีกด้านยังเป็นการเช็กอารมณ์ความรู้สึกท่าทีของคนในพรรคประชาธิปัตย์ว่าเห็นด้วยกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะแผลเก่าเมื่อครั้งขัดแย้งกรณีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็นำมาสู่วิวาทะระหว่าง คนในประชาธิปัตย์ และ กปปส. รุนแรงมาแล้วหนหนึ่ง

ยิ่งระบบเลือกตั้งระบบใหม่ที่เน้นคะแนนจากเขตพื้นที่ ซึ่งจะนำไปรวมคำนวณกับระบบสัดส่วนด้วยแล้ว การที่ได้ผู้สมัครจาก กปปส.ที่เข้มแข็งในพื้นที่อาจเป็นทางออกในสถานการณ์พื้นที่ปัจจุบัน

แม้จะสุ่มเสี่ยงนำไปสู่การขยายรอยร้าวให้กลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ ขณะที่บางฝ่ายประเมินการตั้งพรรคใหม่ของ กปปส. อาจเป็นเพียงแค่การสมคบคิดระหว่าง กปปส. และ ประชาธิปัตย์ ที่แบ่งหน้าที่กันไปทำเพื่อไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่ต้องสั่นคลอน

จนอาจถูกมองว่าเป็นอีกปฏิบัติการแยกกันเดิมร่วมกันตีของประชาธิปัตย์ และ กปปส. ที่สุดท้ายไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็คงต้องมาอยู่ฝั่งเดียวกันร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในขั้นตอนสุดท้าย

ทั้งหมดอยู่ที่ท่าทีและกระแสตอบรับจากสังคมซึ่งจะเป็นปัจจัยนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองในอนาคต n