posttoday

ปราบโกงยุค คสช. กังขาม.44ไร้ทหารทุจริต

07 กันยายน 2560

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดเสวนาวิชาการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2560 หัวข้อ "รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชันเก่า?" โดยมีบุคคลในองค์กรติดตามตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายแขนง มาร่วมกันแลกเปลี่ยน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดเสวนาวิชาการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2560 หัวข้อ "รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชันเก่า?" โดยมีบุคคลในองค์กรติดตามตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายแขนง มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็น ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา สะท้อนมุมมองจากความเป็นสื่อมวลชนที่ติดตามรัฐบาล คสช.ในการปราบปรามทุจริตอย่างน่าสนใจว่า รัฐบาล คสช.ใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการประจำ 300 กว่าคน ที่เกี่ยวข้องการทุจริต แต่กลับไม่มีทหารสักคน

"แสดงว่าทหารไม่มีการคอร์รัปชั่นใช่หรือไม่ การใช้ ม.44 นั้นไม่โปร่งใส โยกย้ายใครเราไม่เคยรู้ข้อกล่าวหา การที่ลงโทษไป 80 รายก็ไม่รู้ลงโทษอย่างไร เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ไม่ได้สร้างให้สังคมเกิดความมั่นใจ เป็นการเล่นงานพวกตรงข้ามหรือไม่ พวกเดียวกันไม่เล่น"

"อย่างกรณีที่มีการตั้งคำถาม ไม่ชอบมาพากลกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่ผูกขาดขุดลอกคลอง หรือโซลาร์ฟาร์มก็ไม่มีการสอบสวน หรือการก่อสร้างอุทยาน ราชภักดิ์ ที่สอบแล้วไม่ผิดเพราะอะไรก็ไม่เปิดเผย หรือแม้แต่เครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 เรื่องก็ยังไม่ถึงไหน การกุมอำนาจไว้มากๆ โดยไม่มีการตรวจสอบถือว่าอันตรายที่สุด ทางออกคือต้องเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับจริงๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ถึงจะแก้ถูกจุด"

"ขอย้ำว่าการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบจะทำให้โอกาสคอร์รัปชั่นลดลง โดยเฉพาะกับ 4 เรื่องสำคัญ 1.ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ต้องรื้อกรมบัญชีกลางก่อน เพราะการให้เข้าถึงข้อมูลแย่ที่สุด 2.ข้อมูลระบบภาษี ที่หน่วยงานด้านภาษีมักอ้างเป็นความลับ ใช้ดุลพินิจในการจัดเก็บถึงมีปัญหา 3.ข้อมูลงบประมาณ ควรเบิกจ่ายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์รายงานผลแบบ เรียลไทม์ จะรู้เลยว่าหน่วยงานไหนเบิกไปแล้วบ้าง แล้วถ้างานไม่เสร็จก็จะเห็น และ 4.ข้อมูลกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ ป.ป.ช. คดีที่มีมติตีตก ต้องเปิดเผยได้ว่าใช้ดุลพินิจอย่างไร ไม่ใช่อ้างว่าผมไม่ใช่คู่กรณี" ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าว

ขณะที่ ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า การใช้ มาตรา 44 อาจทำให้คนคอร์รัปชั่น ขยาดได้บ้าง แต่การเชือดไก่ให้ลิงดูอย่าง จีน หรือเกาหลีใต้ งานวิจัยชี้ชัดว่าแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ผล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นมีกลไกป้องกันนักการเมืองคอร์รัปชั่นไว้ ถ้าทุจริตเลือกตั้ง จะเอาคะแนนนิยมมาฟอกตัวไม่ได้ และกลับสู่การเมืองอีกไม่ได้ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ถ้าเอื้อประโยชน์เรื่องงบประมาณ ใครรู้เห็นเป็นใจ สภาทั้งสภาไปหมด อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังส่งเสริมภาคเอกชน ประชาชนในการต้านทุจริตด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังเขียนห้ามผู้บริหารองค์กรอิสระเข้าไปคลุกคลีกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่จัดขึ้น หรือร่วมเดินทางไปต่างประเทศด้วย

"กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกังวลเรื่องนี้มาก การเรียนหลักสูตรคือช่องสมคบที่น่ากลัวในการเอื้อประโยชน์ จึงระบุเลยว่าผู้บริหารองค์กรอิสระต้องทำงานเต็มเวลา รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการตรวจสอบเยอะมาก เป็นการรื้อและจัดระบบใหม่ให้บูรณาการ" ภัทระ กล่าว

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้บริษัทเอกชนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกตรวจสอบมากขึ้น โลกเปลี่ยนไป เดิมเอกชนอาจจะคิดถึงกำไรอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เราพูดถึงระบบ 4.0 แต่คนในภาคราชการยังพูดเองเลยว่าเป็นแค่ 0.4 หรือ ลบ 4 ต่างจากอินเดียที่ทำได้จริง ผู้นำดึงภาคเอกชนเข้าร่วมแก้คอร์รัปชั่นโดยใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วย อย่างไรก็ตาม ประเทศใดมีกฎหมายมากเกินไป คอร์รัปชั่นก็จะมากตามไปด้วย

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน มองว่า รัฐบาลใหม่ไม่รู้จะได้เห็นเมื่อไหร่ เห็นแล้วจะเก่าหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คอร์รัปชั่นมันจะใหม่ไปเรื่อยๆ ดัชนีความโปร่งใสก็แย่ลง ภาคเอกชนทำงานหนักก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่รัฐบาลกลับบอกว่าเศรษฐกิจดีเพราะปราบโกงได้ผล

"ผมมองว่าต้องใช้การปลูกฝัง การป้องกัน และการปราบปราม ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาใช้วาทกรรมเรื่องคุณธรรมจริยธรรมน้อยมาก เขาใช้ระบบที่ทำให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ เอาความเห็นแก่ตัวนั้นไปสู้ ต้องใช้คำขวัญที่ว่า โตไปไม่ยอมให้ใครโกง ทางที่จะป้องกันคอร์รัปชั่นได้ ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาหลอมรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน" บรรยง กล่าว