posttoday

ปิดฉากม็อบการเมือง

07 สิงหาคม 2560

โอกาสที่จะเกิดการรวมตัวของมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมือง​คงจะไม่ได้เกิดง่ายๆเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองหน้าสำคัญด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.​ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

จากกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลสมชาย นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

คำพิพากษาครั้งนี้ถูกมองว่ากลายเป็นบรรทัดฐานที่คาดว่าจะถูกนำไปเทียบเคียงกับคดีอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลในหลายแง่มุม

มุมหนึ่งที่สำคัญคือประเด็นเรื่องการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งศาลระบุว่า ไม่ใช่การชุมนุมที่สงบ

การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมอาคารรัฐสภาหลังจากช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามผลักดันผู้ชุมนุมไปยังถนนอู่ทองใน โดยเจ้าหน้าที่ใช้รถโมบายหรือรถเย็นทั่วหล้าประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่น แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม เรียกพรรคพวกมาเพิ่มจนปิดล้อมรัฐสภาทำให้ ครม. สส.และ สว.ติดอยู่ในอาคารจนจำเลยที่ 1 ต้องปีนกำแพงหนี

การปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภาก็ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามขั้นตอนแผนกรกฎ/48 และจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยการเปิดทางให้ผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภาได้ออกมา

นอกจากจะชวนให้นึกย้อนไปถึงบรรดาม็อบการเมืองของกลุ่มสีเสื้อต่างๆ ทั้งเหลือง แดง ไปจนถึง กปปส.ที่มีพฤติกรรมการชุมนุมสุ่มเสี่ยงจะถูกประเมินว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบแทบทั้งนั้น

อีกด้านหนึ่งยังต้องมองต่อไปถึงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในอนาคต

เพราะคำพิพากษาของศาลที่ออกมาครั้งนี้ ย่อมทำให้บรรดาแกนนำหรือกลุ่มผู้ชุมนุมต้องคิดหนักมากกว่าเดิม ​เมื่อการชุมนุมด้วยรูปแบบการปิดล้อมสถานที่ราชการต่างๆ ย่อมถูกตีความว่าเป็นการชุมนุมไม่สงบ อันจะไม่ได้รับการคุ้มครองให้เป็นสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวแสดงความคิดความเห็น

ดังนั้น ต่อไปหากมีการใช้อำนาจเข้าดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับกลุ่มผู้ชุมนุม ตามกรอบของกฎหมาย หรือหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่เป็นไปตามกรอบสากล ย่อมได้รับการคุ้มครองหรือไม่

อีกทั้งหากการชุมนุมดังกล่าวนำไปสู่ความเสียหายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือสิ่งของ ร่างกาย สถานที่ราชการ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

อันจะเป็นปัจจัยให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องคิดหนักหากจะยึดรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะปิดล้อมสถานที่ราชการ เอกชน หรือพื้นที่เศรษฐกิจ ที่จะถูกเช็กบิลย้อนหลัง​

อีกด้านหนึ่ง “เงื่อนไข” ที่จะทำให้การชุมนุมต้องถูกควบคุมมากที่สุดคือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ตีกรอบการชุมนุมอย่างเข้มงวดจนยากจะมีพลังเคลื่อนไหวได้ภายใต้กรอบจำกัดดังกล่าว

เริ่มตั้งแต่ห้ามไม่ให้ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน สถานทูต หรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

ที่สำคัญพื้นที่ชุมนุมยอดนิยมที่ผ่านมา ทั้งภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น รวมทั้งศาลตามวรรคสองหมายความถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล

อีกทั้งกระบวนการชุมนุมจะต้องแจ้งขออนุญาตการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้า 24 ชั่วโมง โดยจะต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะ ตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดซึ่งต้องเป็นวิธีที่สะดวกแก่ผู้แจ้ง และต้องให้แจ้งผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ด้วย

กรณีผู้ใดฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ ต้องโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท ที่สำคัญ “ผู้จัดการชุมนุม” จะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ที่สำคัญกรณีขัดขวางการขนส่งสาธารณะหรือระบบสาธารณูปโภค โทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท

ขณะที่ในแง่ของ “แกนนำ” ที่เคยออกมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปลุกมวลชนออกมาเคลื่อนไหวนั้นเวลานี้ก็อยู่ในช่วงเก็บเนื้อเก็บตัวไม่มีทีท่าว่าจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ

ที่สำคัญแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ละสีนั้นล้วนแต่บอบช้ำ ไร้พลัง หลายคนอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี หลายคนถูกควบคุมตัว หลายคนติดเงื่อนไขการประกันตัวไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง

ยังไม่รวมกับเรื่องกระสุนดินดำสะเบียงท่อน้ำเลี้ยงในยุคนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองหลังต้องเผชิญหน้ากับวังวนการเมืองที่ทอดยาวมานับสิบปี

ปัจจัยทั้งหมดล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่จะเกิดการรวมตัวของมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมือง​คงจะไม่ได้เกิดง่ายๆเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป