posttoday

ปิดฉาก 2 ปี ‘สปท.’ นามธรรมที่รอการพิสูจน์

29 กรกฎาคม 2560

ในที่สุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กลายเป็นแม่น้ำสายแรกที่ต้องแห้งเหือดไปก่อนแม่น้ำสายอื่นๆ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กลายเป็นแม่น้ำสายแรกที่ต้องแห้งเหือดไปก่อนแม่น้ำสายอื่นๆ แม้ว่าปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะยังไม่มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา อันจะมีผลให้ สปท.ต้องสิ้นสุดไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ สปท.ก็ได้ประชุมนัดสุดท้ายเพื่อสั่งลาไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

ตามกำหนดการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเดินทางมาประชุมร่วมกับสมาชิก สปท. จำนวน 200 คนในวันที่ 31 ก.ค. เพื่อรับมอบงานจาก สปท. ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับการรับมอบงานเมื่อครั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สิ้นสุดการทำหน้าที่

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีสปท.มีการประชุมทั้งหมด 109 ครั้ง อำนาจหน้าที่ของ สปท.นั้นเป็นไปในลักษณะเดียวกับ สปช.เกือบทุกประการ เพียงแต่มีจุดแตกต่างกันตรงที่ สปท.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับ สปช.

ขณะที่ค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของสมาชิก สปท.จำนวน 200 คนนั้น เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557

แบ่งเป็น ประธาน สปท. ได้เงินเดือน 74,420 บาท และเงินเพิ่ม 45,500 บาท รวมเป็น 119,920 บาท รองประธาน สปท. เงินเดือน 73,240บาท และเงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท และสมาชิก สปท. เงินเดือน 71,230 บาท และเงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

ดังนั้น หากคำนวณออกมาเป็นงบประมาณที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนกับสมาชิก สปท.แต่ละเดือนจะมีตัวเลขประมาณ 22 ล้านบาท/เดือน

นอกจากนี้ ในปี 2558 ยังมีการออกระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของประธานสภาและรองประธาน สปท. พ.ศ. 2558 โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของประธาน สปท. และรองประธาน สปท.ในตำแหน่งจำนวนและอัตราค่าตอบแทนดังต่อไปนี้

1.ที่ปรึกษาประธาน สปท.จำนวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาท

2.ที่ปรึกษารองประธาน สปท.มีจำนวนเท่าจำนวนรองประธาน สปท.ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาท

3.เลขานุการประธาน สปท.จำนวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 49,210 บาท

4.เลขานุการรองประธาน สปท.มีจำนวนเท่าจำนวนรองประธาน สปท.ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 49,210 บาท

5.ผู้ช่วยเลขานุการประธาน สปท.จำนวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 43,490 บาท

6.ผู้ช่วยเลขานุการรองประธาน สปท.มีจำนวนเท่าจำนวนรองประธาน สปท.ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 43,490 บาท

ทั้งนี้ ตลอดการทำงานที่ผ่านมา สปท.ได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของแต่ละคณะกรรมาธิการของ สปท.หลายฉบับ โดยมีหลายผลงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายอยู่ไม่น้อย

อย่างในกรณีของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน ถือว่าเป็นคณะกรรมาธิการที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดเพราะมีการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

เช่น การเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กำหนดให้ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลสื่อมวลชนผ่านการให้มีกระบวนการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งผลให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้ล้มเลิกการผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานสื่อมวลชน

เช่นเดียวกับ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” เป็นคณะกรรมาธิการที่ต้องออกแรงปะฉะดะกับฝ่ายการเมืองอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพยายามผลักดันแนวทางการสร้างความปรองดอง

คณะกรรมาธิการชุดนี้เคยโดยแนวคิดในการสร้างความปรองดองผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การอำนวยความสะดวกเพื่อการปรองดอง” 

ทั้งการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาความขัดแย้งผ่านกระบวนการทางกฎหมายทั้งในส่วนของคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยต้องจำแนกประเภทคดีอาญาที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง การใช้มาตรการจำหน่ายคดีชั่วคราวหรือการพักโทษ ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายการเมืองออกมาวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงรูปธรรม แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะคณะกรรมาธิการได้เสนอแนวทางนี้ให้กับรัฐบาลพิจารณา

ที่สุดแล้วต้องยอมรับว่าผลงานในเชิงปริมาณของ สปท.นั้นมีปรากฏให้เห็นพอสมควร เพียงแต่ว่าผลงานในเชิงคุณภาพจะเป็นรากฐานของการปฏิรูปประเทศหรือไม่ มีแต่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์