posttoday

กฎหมายเลือกตั้ง กุมชะตาการเมือง

13 กรกฎาคม 2560

เมล็ดพันธุ์ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หว่านเอาไว้กำลังออกดอกและผลเป็นระยะ โดยที่เริ่มปรากฏแล้วมีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมล็ดพันธุ์ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หว่านเอาไว้กำลังออกดอกและผลเป็นระยะ โดยที่เริ่มปรากฏแล้วมีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญ

1.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและ ขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเร่งดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยเมื่อไม่นานมานี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแต่รอให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ถึงเวลานั้นก็เป็นอันปิดฉากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ที่การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน โดยมีหน้าที่เสนอแนะให้ความเห็นและติดตามตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปที่คณะกรรมการได้วางเอาไว้

2.ร่าง พ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ เป็นกฎหมาย อีกฉบับที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีเช่นกัน อีกทั้งเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง สนช.ได้ลงมติให้ความเห็นชอบไปแล้ว จากนี้ไปเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไร กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติก็จะเริ่มนับ จากนั้น

หัวใจของร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คือ การให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่เพียงเท่านี้ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน ของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ไปจนถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

3.การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกิจการตำรวจเป็นพิเศษเพื่อหวังให้เกิดความเป็นธรรมโดยเฉพาะการแต่งตั้ง โยกย้าย ซึ่งเป็นปัญหามาตลอด

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ตั้ง คณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว โดยให้ "พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ซึ่งตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 9 เดือน

4.การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ทยอยส่งไปให้ สนช.แล้วจำนวน 5 ฉบับ จากที่ต้องส่งทั้งหมดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 10 ฉบับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นสำคัญทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ จะต้องให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ก่อนเท่านั้น มิเช่นนั้นการเลือกตั้งจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

เวลานี้มีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 2 ฉบับที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์เข้าไปทุกที คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง

ในส่วนของร่างกฎหมาย กกต.นั้นทาง สนช.เตรียมลงมติให้เห็นความเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายแก้ไข ขณะที่ร่างกฎหมายพรรคการเมือง ทาง สนช.กำลังจะดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายในเร็วๆ นี้ ภายหลัง กรธ.ส่งความคิดเห็นมายัง สนช.เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำไพรมารีโหวตที่ สนช.กำหนดขึ้น

ขณะเดียวกัน กรธ.กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับด้วย ได้แก่ 1.การเลือกตั้ง สส. และ 2.การได้มาซึ่ง สว.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกสายตาต้องจับจ้องมายังร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส. เพราะเป็นร่างกฎหมายที่จะทำการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ กกต.ได้ส่งร่างกฎหมายการเลือกตั้ง สส.ฉบับแรกมายัง กรธ.แล้วเพื่อให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดให้กรณีที่ผู้สมัครกระทำการจูงใจผู้มีสิทธิ เลือกตั้งให้มาลงคะแนนให้แก่ตนเองโดยมีการเสนอประโยชน์ในลักษณะทรัพย์สิน ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้ กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้

จากบทบัญญัติดังกล่าวนับ ได้ว่ามีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งยิ่งจะมีผลให้พรรคการเมืองถูกตรวจสอบมากขึ้นด้วย

ด้วยความสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวนี่เอง จึงทำให้ กรธ.เตรียมนัดประชุมนอกสถานที่อีกครั้งในช่วงต้นเดือน ส.ค.เพื่อหารือถึงเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นการเฉพาะ เพราะการจะวางกติกาเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโดยสุจริตนั้นจำเป็นต้องเขียนกฎหมายการเลือกตั้ง สส.ให้รอบด้านมากที่สุด

แน่นอนทางฝ่ายพรรคการเมือง ในฐานะนักเลือกตั้งย่อมต้องจับตาการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ทุกฝีก้าว เพราะไม่ว่าหน้าตาของกฎหมายจะออกมาเป็นรูปแบบใด ก็ย่อมส่งผลต่อพรรคการเมืองในทางใดทางหนึ่ง

ยิ่งธงของ คสช.เริ่มชัดมากขึ้นในการที่ต้องการตีกรอบอำนาจของฝ่ายการเมืองให้แคบลง ดังนั้น กฎหมายเลือกตั้งจึงเป็นด่านแรกที่นักการเมืองจะถูกควบคุมจนยากที่จะเคลื่อนไหวเหมือนในอดีตได้ n