posttoday

ซื้อขายตำแหน่งแก้ไม่ตกกระทบปฏิรูป

14 มิถุนายน 2560

เส้นทางการปฏิรูปมีอันต้องสั่นคลอนอีกครั้งเมื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่ง ให้ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผบช.ภ. 8 ไปปฏิบัติราชการที่ สตช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางการปฏิรูปมีอันต้องสั่นคลอนอีกครั้งเมื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่ง ตร.287/2560 ลงวันที่ 12 มิ.ย. ให้ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.เป็นต้นไป

พร้อมกับให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนได้เสนอข่าวสารต่อสาธารณชนกรณี วิทยา แก้วภราดัย อดีตแกนนำ กปปส. อ้างว่า มีการซื้อขายตำแหน่งระดับสารวัตร ถึงรองผู้บังคับการ วาระประจำปี 2559 ในสังกัด บช.ภ.8 พร้อมให้รายงานผลภายใน 15 วัน

ก่อนหน้านี้ อดีตแกนนำ กปปส. ออกมาระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากนายตำรวจทั่วทั้งประเทศว่ามีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งตำรวจ โดยกลุ่มดังกล่าวจะยื่นข้อเสนอว่าถ้าอยากเลื่อนตำแหน่งจะต้องเสียเงิน แต่หากไม่เสียเงินจะถูกโยกย้ายไปพื้นที่อื่น ขณะที่บางคนจ่ายเงินไปแล้ว แต่กลับไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง

ถึงขั้นระบุรายละเอียดว่ามีการจ่ายเงินกับการแต่งตั้งระดับผู้กำกับการ​ที่วิ่งเต้นด้วยเงินสูงตั้งแต่ 5-7 ล้านบาท ​ส่วนระดับสารวัตรราคาอยู่ที่ 1-5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท

​ท่ามกลางกระแสข่าว​มีกลุ่มนายตำรวจนับสิบนายที่จ่ายเงินให้แก่ภรรยาลับๆ ของนายตำรวจระดับบังคับบัญชาชั้นสูงเพื่อเป็นค่าผ่านทางในการเลื่อนตำแหน่ง กลุ่มนายตำรวจเหล่านี้เตรียมตบเท้าเข้าพบเพื่อขอเงินคืน ซึ่งวงเงินที่จ่ายไปนั้นรวมกว่า 50 ล้านบาท

นับเป็นอีกปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำปัญหาการซื้อขายตำแหน่งในการโยกย้ายตำรวจซึ่งยังแก้ไม่ตก

วิทยา ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุ​ที่ต้องออกมาเปิดเรื่องนี้เพราะหากไม่ปราบปรามจะทำให้คนที่ตั้งใจทำงานจริงๆ หมดกำลังใจ และไม่กล้าที่จะออกมาพูด จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงไปฟังเสียงสะท้อนของตำรวจบ้าง

เอาเข้าจริงปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากจำได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการบริหารราชการของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาตลอด ท่ามกลางความพยายามการปฏิรูปตำรวจซึ่งเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเป็นเรื่องแรกๆ ที่มีความสำคัญและต้องเร่งดำเนินการ

ช่วงนั้นกลายเป็นประเด็นเมื่อ เกิดกรณี “แชตไลน์หลุด” ระบุว่า มี พล.อ. ป. เข้ามาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ซึ่งทาง พล.ร.อ.พะจุณณ์​ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นคนเขียนข้อความในไลน์ แต่ไลน์ต้นฉบับมีคนส่งมาให้อีกที ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน และคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงส่งต่อไลน์ไปให้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไลน์เตรียมทหารรุ่น 12 และไลน์กลุ่มตำรวจ เพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริง

ก่อนเรื่องจะบานปลายกลายเป็นศึกคุกรุ่นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจงัด พ.ร.บ.คอมพ์ ออกมาส่งสัญญาณสกัดไม่ให้เรื่องนี้บานปลาย จนทำให้เรื่องนี้ค่อยๆ เงียบหายไป โดยไม่มีความกระจ่างแต่อย่างไรออกมา

แต่ใช่ว่าเรื่องการปฏิรูปตำรวจโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่งจะไม่มีความคืบหน้า

ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระบุว่า โดยที่การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายและต้นทางของกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ

คำสั่งดังกล่าวระบุให้ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนการ กลั่นกรองให้เกิดความรับผิดชอบความถูกต้องเรียบร้อยเป็นธรรม และมีความเหมาะสมตรงกับความรู้ความสามารถตามสายการบังคับบัญชา และการจัดสรรอัตรากำลังในแต่ละพื้นที่ยิ่งขึ้น เพื่อให้มีขั้นตอนชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการวิ่งเต้น การเรียก รับ ให้หรือสัญญาว่าจะให้สิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนกับการแต่งตั้ง และปลอดจากระบบอุปถัมภ์ อันเป็นความจำเป็นต่อการปฏิรูประบบราชการ 

ผ่านมาไม่กี่เดือนยังเกิดกรณีการเรียกรับผลประโยชน์จากการโยกย้ายตำรวจ นั่นหมายความว่าทั้งทิศทางและแนวทางการแก้ปัญหาที่ทำมาตลอด 3 ปี อาจยังไม่สามารถแก้ปัญหา และเดินหน้าปฏิรูปตำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญนี่อาจสะท้อนให้เห็นทิศทางการปฏิรูปประเทศ อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการอาสาเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ด้วยความคาดหวังจากทุกฝ่ายในสังคมว่าจะเป็นปัจจัยนำพาประเทศหลุดพ้นวังวนปัญหาที่ผ่านมา