posttoday

เลิกยุบพรรคเหมาเข่ง คุมเข้มการใช้เงิน

20 พฤษภาคม 2560

มาตรา 9 ว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

มาตรา 9 ว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 แสนบาท

สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เสนอให้แก้ไขจาก “โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 แสนบาท” ไปเป็น “โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 1 แสนบาท”

นิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช. เสนอแก้ไขเช่นกันว่า ให้พรรคการเมืองมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 หมื่นบาท

หนึ่งในประเด็นร้อนที่พรรคการเมืองออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่าง มาตรา 15 (15) ว่าด้วยการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเรียกเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นรายปี 100 บาท จากสมาชิกพรรคการเมือง ปรากฏว่าสมาชิก สนช.ขอให้แก้ไข โดยมีแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อย

เช่น พรศักดิ์ เจียรณัย สมาชิก สนช. เสนอให้แก้ไขด้วยการกำหนดว่า “รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง ซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมืองเป็นรายปี ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด แต่ต้องไม่เกินปีละ 100 บาท”

นอกจากนี้ พรศักดิ์ยังเสนออีกว่า “พรรคการเมืองอาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองแบบตลอดชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 2 หมื่นบาท”

ส่วน สมชาย เป็นสมาชิก สนช.อีกคนที่เสนอให้แก้ไขเช่นกัน โดยเสนอว่า “พรรคการเมืองอาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองแบบตลอดชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับได้ ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 1 หมื่นบาท”

มาตรา 48 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งผู้สมัคร สส.ของพรรคการเมือง โดยในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอต่อ สนช.นั้นกำหนดให้พรรคการเมืองต้องพิจารณาสัดส่วนตามภูมิภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย

ในมาตรานี้ “มณเฑียร บุญตัน” สมาชิก สนช. เสนอว่า “การพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรที่หลากหลายด้วย

“คณะกรรมการจะกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของผู้สมัคร ซึ่งเป็นชายและหญิง รวมทั้งของกลุ่มประชากรที่หลากหลาย ที่พรรคการเมืองจะต้องส่งลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่อาจส่งผู้สมัครตามอัตราส่วนดังกล่าวได้ ให้แจ้งเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง”

ขณะเดียวกัน สมาชิก สนช.บางคนยังได้เสนอให้พรรคการเมืองต้องแจกแจงรายได้ของพรรคการเมืองทุกเดือนในมาตรา 59 ด้วย

โดย “นิพนธ์” เสนอว่า “ทุกเดือนให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้แจ้งนายทะเบียนทราบ ตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดด้วย”

ขณะที่เงื่อนไขการยุบพรรคการเมืองที่กำหนดไว้ในมาตรา 86 นั้น ได้มีสมาชิก สนช.แก้ไขอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน จากเดิมที่ กรธ.กำหนดให้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ซึ่งหมายความว่าเป็นการเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน

ภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิก สนช. เสนอว่าไม่ควรตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน หากกรรมการบริหารพรรคการเมืองรายนั้นได้มีการดำเนินการคัดค้านการดำเนินการของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

“ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรค และหากกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนใดได้ดำเนินการคัดค้านตามมาตรา 21 วรรคสามแล้ว ก็ไม่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนนั้น”

ทั้งนี้ มาตรา 21 วรรคสาม มีหลักการว่าการคัดค้านของกรรมการบริหารพรรคจะต้องปรากฏหลักฐานการคัดค้านในรายงานการประชุม หรือได้ทำหนังสือคัดค้านยื่นต่อประธานในที่ประชุมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่การประชุมนั้นสิ้นสุดลง