posttoday

ตัดตอนปัญหารุมเร้า ลดแรงปะทะ คสช.

19 พฤษภาคม 2560

สุดท้ายที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวให้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 1.1 หมื่นอัตรา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สุดท้ายที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวให้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 1.1 หมื่นอัตรา โดยปี 2560 จะสามารถบรรจุพยาบาลได้ 5,885 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ​1,200 ตำแหน่ง ​ที่จะบรรจุได้ภายใน 1-2 เดือน และยังจะมีตำแหน่งเกลี่ยเพิ่มได้อีก 1,000 ตำแหน่ง รวมเป็น 2,200 ตำแหน่ง

ดังนั้น จากที่ขอมา 10,992 ตำแหน่ง จะเหลือ 8,792 ตำแหน่ง ครม.เห็นชอบแบ่งบรรจุ 3 ปีเฉลี่ยเป็นปี 2560 จำนวน 2,930 ตำแหน่ง สิ้นเดือน ก.ย. จะมีพยาบาลเกษียณ 755 ตำแหน่ง ขณะที่ปี 2561 และปี 2562 อีกปีละ 2,931 ตำแหน่ง

จากก่อนหน้านี้ที่ ครม.มีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการพยาบาลจำนวน 10,992 อัตรา ​จนเกิดกระแสการคัดค้าน โดยเพจ Nurse team thailand ได้ประกาศผ่านเพจว่า “ไม่บรรจุ ลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560”

ต่อเนื่องด้วยกระแสติดแฮชแท็ก #Nurse team thailand คู่ขนานไปกับกลุ่มพยาบาลออกมารณรงค์เคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน

การแก้ปัญหาของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นตามมา ยิ่งภายหลังจากที่ “พยาบาล” ผนึกกำลังออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้

หากรัฐบาลยังปล่อยปละนอกจากจะเกิดปัญหาในระบบสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศแล้ว อีกด้านแรงต้านที่ออกมาเคลื่อนไหวยังจะสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลและ คสช.มากขึ้น

สอดรับกับสัญญาณจาก ​​พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่รีบออกมาชี้แจงว่าจะมีการทยอยบรรจุให้ โดยใช้อัตราภายในไปก่อน ส่วนที่เหลือก็จะมีการเพิ่มเติมให้ในห้วงเวลา 3 ปี

“เบื้องต้นก็แค่นี้ไปก่อน คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนี้ สิ่งสำคัญก็ต้องดูแลในภาพรวมของรัฐบาลและส่วนราชการทั้งหมดด้วย ซึ่งมีทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ต้องดูว่าในอนาคตจะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาอยู่แบบนี้”​

“ถ้าจะให้บรรจุพยายาบาลเป็นข้าราชการทั้งหมดหมื่นอัตรา ไม่นึกถึงกระทรวงอื่นบ้างหรือ พยาบาลทำงานหนักคนเดียวหรืออย่างไร มันไม่ใช่ ส่วนตัวเชื่อว่าพยาบาลและหมอส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีเพียงส่วนน้อย แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเพียงแต่ขอร้องอย่าไปสร้างประเด็นเหล่านี้ออกมาไม่เช่นนั้นจะยุ่งกันไปหมด”

สะท้อนแนวคิดของรัฐบาลที่ห่วงว่าหากรีบรับลูกหาทางแก้ไขอาจเป็นต้นแบบให้กลุ่มอื่นๆ ออกมาเคลื่อนไหวเลียนแบบในลักษณะเดียวกันนี้

แต่หากแข็งขืนไม่ทำอะไรเลย แรงกดดันทั้งหมดจะยิ่งทวีความรุนแรงจนย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้รัฐบาลและ คสช.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเช่นนี้

ไม่ต่างจากกรณีอื่นๆ ที่รัฐบาล คสช.​เคยประสบ ซึ่งมักจะใช้รูปแบบการแกัปัญหาด้วยการยื้อเวลาออกไป โดยไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจฟันธงอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านหรือกระแสต่อต้าน

หากจำได้ช่วงพิจารณาผลักดัน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่มีกระแสทั้ง “คัดค้าน” และ “สนับสนุน” ให้ตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ที่แต่ละฝั่งก็มีเสียงสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ทั้งฝั่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และฝั่งเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน

ครั้งนั้นรัฐบาลหาทางออกด้วยการตัดเนื้อหาเรื่อง NOC ออกไป และปรับเป็นข้อสังเกตให้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี

​คล้ายกับกรณีความพยายามผลักดัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่ใกล้จะเป็นรูปเป็นร่าง แต่สุดท้ายเมื่อเสียงคัดค้านรุนแรงและเริ่มขยายวงมีแนวร่วมออกมาเคลื่อนไหว ที่นัดหมายจะไปปักหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะยกเลิก

ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจยอมถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ ด้วยการกำหนดให้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่อีกรอบ เนื่องจากที่ผ่านมาถูกถล่มว่าไม่เป็นการรับฟังความคิดเห็นรอบด้านแท้จริง ซึ่งทำให้ร่นเวลาการตัดสินใจออกไปอีกพักใหญ่

คล้ายกับกรณี พ.ร.บ.​การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ที่ 30 องค์กรสื่อมวลชนผนึกกำลังออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะเห็นว่าเนื้อหาในร่างกฎหมาย
ดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน

เมื่อเสียงคัดค้านรุนแรงขึ้นรัฐบาลก็ส่งสัญญาณถอย ทาง กมธ.ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)​ ก็ยอมปรับแก้เนื้อหาบางส่วนทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียนสื่อและโทษปรับจำคุกออกไป

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นรูปแบบการแก้ปัญหาที่ยึดหลัก “ซื้อเวลา” ยอมถอยเพื่อลดแรงเสียดทานท่ี่รุมเร้าไม่ให้สะสมกลายเป็นแรงกดดันย้อนกลับมาเขย่าเสถียรภาพในอนาคต